วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เส้นทางการหักล้างทฤษฎีเศรษฐศาสตร์

หากเป็นวิชาวิทยาศาสตร์  คงต้องใช้เวลานานหลายศตวรรษกว่าจะหักล้างทฤษฎีกันได้  เช่น โคเปอร์นิคัส  หักล้าง ทฤษฎี "โลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล" ของปโตเลมี  หรือ  กาลิเลโอ  หักล้างทฤษฎีของอริสโตเติล  ด้วยการทดลองโยนก้อนหินที่หอเอนปิซา  หรือแม้แต่ไอน์สไตน์  หักล้างทฤษฎีของนิวตันก็ตาม

แต่สำหรับวิชาเศรษฐศาสตร์นั้น  มีความเป็น "วิทยาศาสตร์" น้อยกว่า  และมีความเป็น "สังคมศาสตร์" มากกว่า  ดังนั้นแม้ว่าเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมเสรีได้ก่อกำเนิดโดย อดัม สมิธ (บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์) ราว 200 ปี  แต่มีการพยายามหักล้างทฤษฎีของศาสตร์นี้ในหลายรูปแบบมากมาย  ตัวอย่างเช่น

คาร์ล มาร์กซ์  (บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์คอมมิวนิสต์) ได้พยายามชี้ประเด็นว่า  ปัจจัยการผลิตทั้ง "ทุน ที่ดิน แรงงาน ผู้ประกอบการ" นั้น ควรอยู่ในการดูแลของภาครัฐเป็นผู้ตัดสินใจ  ไม่ควรปล่อยให้ภาคเอกชนจัดการ  เพราะจะก่อให้เกิดเอาเปรียบจากชนชั้นนายทุนและเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมาก   อย่างไรก็ดี  ด้วยระบบ "เศรษฐศาสตร์คอมมิวนิสต์" นั้้น  การจัดสรรทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ  สินค้าไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้  เศรษฐกิจซบเซาตกต่ำ  เช่นกรณีของพม่า และ เกาหลีเหนือ

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศจีน ท่านเติ้งเสี่ยวผิงได้นำเอา "ทฤษฎีแมวดำแมวขาว"  โดยพึ่งพาระบบเศรษฐกิจ "ทุนนิยม"  แม้การเมืองจะเป็นแบบ "คอมมิวนิสต์" ก็ตาม  จนทำให้เศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างน่ามหัศจรรย์มาหลายสิบปี    เมื่อถึงเวลานี้จึงอาจกล่าวได้ว่า  "เศรษฐศาสตร์คอมมิวนิสต์"  พ่ายแพ้แก่ "เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม"  แม้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะยังคงอยู่ก็ตาม

และเมื่อมาถึงยุคของ อี.เอฟ.ชูมาร์กเกอร์ (บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ)  ได้มุ่งประเด็นไปที่  "การเพิ่มประสิทธิภาพการบริโภค"  แทนที่  "การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต"   เพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์สูง  หากทำได้สำเร็จ  ก็หมายถึง การบริโภคที่น้อยลง ใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่มีความพึงพอใจสูงขึ้น   แม้ว่าโลกได้ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติมากมาย จนผู้คนเริ่มคุ้นชินกับ "การบริโภคน้อยลง แต่มีความสุขมากขึ้น" ได้แล้วก็ตาม   การเดินหน้าไปตามแนวทางนี้  อาจหมายถึง การใช้จ่ายที่น้อยลง  GDP ลดลง  เศรษฐกิจถดถอย ขณะที่ผู้คนมีความสุขมากขึ้น  สิ่งนี้ก็ดูเหมือนจะเป็น "ศาสนศาสตร์" ไปมากกว่า "เศรษฐศาสตร์"  ถึงแม้จะหักล้าง "ทุนนิยม" ซึ่งเป็นกระแสหลักยังไม่สำเร็จ  แต่ความรุนแรงจากภาวะโลกร้อนและความเสียหายของเศรษฐกิจจากความโลภที่เกินขอบเขต  ก็น่าจะส่งผลให้ "เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ" ดูดีมีน้ำหนักมากขึ้นในอนาคตเป็นแน่

แล้วภายในแวดวงของ "ทุนนิยม" บ้างละ   อดัม สมิธ เน้นที่คำว่า "แข่งขันเสรี"  ปล่อยให้ "มือที่มองไม่เห็น" ทำงานแล้วจะทำให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดได้เอง   แต่  จอห์น แนช (บิดาแห่งทฤษฎีเกม)  ได้แทนที่ "การแข่งขัน" ด้วย  "การร่วมมือ" ต่างหากที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่่ดีกว่าเป็น "win-win" ตามแนวคิดของ ทฤษฎีเกม และ ดุลยภาพแนช (Nash Equilibrium)  ซึ่งเป็นไปตามเรื่องราวในภาพยนตร์ A Beautiful Mind นั่นเอง  และ รางวัลโนเบลก็ดูเหมือนเป็นตัวบ่งชี้ว่าเขาได้หักล้างทฤษฎีของอดัม สมิธ จริง

ส่วน จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค)  ไม่เห็นด้วยกับคำว่า "เสรี"  แต่การที่รัฐบาลเข้าไป "แทรกแซง"  โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำต่างหากที่จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า  สิ่งนี้ได้พัฒนากลายเป็นทฤษฎีการคลัง หรือ "ทฤษฎีเคนส์" มาจนถึงปัจจุบัน  โดยเคนส์  บอกว่า  "ค่าตัวทวี" (multiplier) นั้นจะมากกว่า 1 หมายถึง การที่รัฐบาลใส่เงินเข้าไปจะกระตุ้นให้ภาคเอกชนบริโภค และ ลงทุนตามมาด้วย

แน่นอนว่าแนวคิดแบบนี้ก็ถูกโต้แย้งโดย มิลตัน ฟรีดแมน (บิดาแห่งสำนักการเงินนิยม)  ที่ว่าการใช้จ่ายของภาครัฐนั้นจะไปแย่งเงินของภาคเอกชน (crowding out)  ซึ่งจะทำให้สุดท้ายแล้ว "ค่าตัวทวี" จะเหลืออยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 เท่านั้นเอง

โดยในกรอบทฤษฎีเคนส์นั้น G = Gc+Gi   คือ การใช้จ่ายของภาครัฐนั้น มีเพื่อการบริโภค และ การลงทุนเท่านั้น โดยเคนส์เชื่อว่า  เมื่อเพิ่ม G  ก็ดึงให้เอกชนเพิ่มการบริโภค และ ลงทุน (C และ I)  เพิ่มตามไปด้วย  ขณะที่ฟรีดแมนบอกว่าการเพิ่ม G  จะไปแย่งเงินเอกชนส่งผลให้ C และ I ลดลงต่างหาก

แต่สำหรับ "ทฤษฎีการคลังไท้เก๊ก"  G = Gc+Gi+Gs+Gp   ซึ่งกว้างออกไปกว่าเดิมนั้น  แล้วสมการที่ยาวขึ้นนี้มีประโยชน์อย่างไรบ้างละ

Gs : G stock  ซึ่งหมายถึง การที่รัฐบาลนำเงินไปใช้เพื่อการเก็บสต็อกสินค้าบางอย่างที่เสื่อมค่าลงไปได้ เงินไม่หมุน และ ค่าตัวทวีจะต่ำมาก

เรื่องนี้ทำให้เข้าใจได้ว่ากรณีของการจำนำข้าว  แม้รัฐบาลเพื่อไทยใช้เงินถึง 6.7 แสนล้านบาทเพื่อรับจำนำข้าว พร้อมเก็บสต็อกถึงเกือบ 20 ล้านตัน  แต่ผลทางเศรษฐกิจนั้นน่าจะแค่พอๆ กับรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ใช้ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรราว 6-7 หมื่นล้านต่อปี   นั่นก็เพราะว่า Gs มี "ค่าตัวทวี" ที่ต่ำมากนั่นเอง

นอกจากนี้กรณีการนำเงิน 2 หมื่นล้านบาท  เข้าซื้อยางราว 2 แสนตันเก็บเป็นสต็อกเพื่อพยุงราคายางก็เช่นกัน  จะเห็นว่าผลประโยชน์ที่ตกกับชาวสวนยางนั้นก็มีน้อยมาก

ยังรวมไปถึงโครงการ "รถยนต์คันแรก" ที่กลายเป็น สต็อกรถยนต์  มีผู้จองสิทธิแต่ไม่มารับรถก็มาก ผ่อนไม่รอดก็เยอะ ไม่ใช่การบริโภคแบบครั้งเดียวจบ  แต่มีภาะที่ต้องดูแลผ่อนค่างวดไปอีกหลายปี  จนลดทอนกำลังซื้อของคนชั้นกลางไปไม่น้อยเลย

ไม่เพียงแต่ "ค่าตัวทวี" ที่ต่ำเพราะเงินไม่หมุนเท่านั้น  แต่การเสื่อมค่าของสต็อก และ การเปิดช่องให้ทุจริตได้ก็ดูเหมือนจะทำให้นโยบายการคลังแบบ Gs ของรัฐบาลดูแย่ไปเลย

ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ Gp  หรือ G pension  ซึ่งหมายถึง  การที่ภาครัฐส่งเงินสมทบ หรือ ให้วงเงินหักลดหย่อนภาษีสำหรับกองทุนบำนาญอย่าง  กบข.ประกันสังคม RMF, LTF และ ประกันชีวิต    การที่รัฐบาลใช้เงินมากขึ้น  ทำให้มีการออมเข้ามาในกองทุนบำนาญมากขึ้นด้วย  แม้จะเป็นประโยชน์ในอนาคตแต่นั่นกลับทำให้การใช้จ่ายในปัจจุบันลดลง   ค่าตัวทวีของ Gp จึงถึงขั้น "ติดลบ"  ซึ่งเรื่องนี้หักล้างทฤษฎีของเคนส์ที่ว่าตัวทวีมากกว่า 1  และ ยังหักล้างแนวคิดการคลังของกลุ่มการเงินนิยมที่บอกว่าค่าตัวทวีอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 อีกด้วย

นั่นหมายถึง  หากรัฐบาลรัดเข็มขัดการคลังในส่วนนี้จะกลับทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้  ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่สามารถจะเป็นไปได้เลยในกรอบทฤษฎีเคนส์    ดังนั้น "การคลังไท้เก๊ก" จึงเป็นการหักล้าง "ทฤษฎีเคนส์"  เต็มๆ  และ เป็นประโยชน์ที่จะช่วยให้ประเทศซึ่งมีวิกฤติการคลังอย่าง  อเมริกา ญี่ปุ่นและ ยูโรโซน อาจรวมถึงประเทศไทยในอนาคตนั้น สามารถหาช่องทางที่จะ "รัดเข็มขัดการคลัง"  พร้อมๆ ไปกับการ "กระตุ้นเศรษฐกิจ" ได้ด้วย

และเนื่องจากปรมาจารย์ "เคนส์" คือ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค  ดังนั้น  การหักล้างทฤษฎีเคนส์  จึงอาจหมายความว่า  โลกได้เวลาที่จะต้องเขียนตำราเศรษฐศาสตร์มหภาคกันใหม่แล้ว   คิดแบบนั้นไหมครับ ??

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น