วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สมการเปลี่ยนโลกเศรษฐศาสตร์

หากเป็นวิชาฟิสิกส์แล้วละก็  คงต้องยกให้ 2 สมการนี้ที่มีอิทธิพลต่อโลกอย่างมากก็คือ 1. F = ma  ของนิวตัน โดยหากไม่มีแรงมากระทำ (F=0)  แล้ว  วัตถุย่อมหยุดนิ่งหรือเคลื่อนด้วยความเร็วคงที่ (ความเร่ง a=0)  ซึ่งนี่ก็คือ กฏของนิวตันนั่นเอง  และสมการ 2. E = mc^2  ของไอน์สไตน์  ที่บอกว่า มวลสารสามารถเปลี่ยนรูปไปเป็นพลังงานมหาศาลได้  ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นของระเบิดนิวเคลียร์ และ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งเปลี่ยนโลกไปตลอดกาล

นอกจากนี้  อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ยังได้กล่าวอีกว่า   "การเมืองคือเรื่องชั่วคราว  สมการสิถาวร" นั่นดูเหมือนจะเป็นจริง เพราะ สมการของนิวตันนั้นใช้มาหลายศตวรรษแล้ว  และเชื่อว่าอีก 100 ปีข้างหน้า สมการของไอน์สไตน์ก็จะยังคงอยู่คู่กับโลกต่อไปอีกเป็นแน่

ถ้าหากเป็นด้านวิชาปรัชญาตะวันออกบ้างละ  สมการของพระพุทธเจ้าก็อาจเป็น  "ไม่ทุกข์ = ไม่สุข"  หากไม่มีตัวตนเสียแล้วจะละความสุขความทุกข์ทางโลกได้  นี่คงเป็นแก่นของพุทธศาสนา    ส่วนสมการของท่านเล่าจื่อเจ้าลัทธเต๋านั่นอาจเป็น "หยิน = หยาง"  แล้ว สมการของท่านจางซานฟงปรมาจารย์มวยไท้เก๊กก็อาจเป็น "นิ่ง = เคลื่อน"  ส่วนสมการของท่านเติ้งเสี่ยวผิง ก็คงเป็น "แมวดำ=แมวขาว" จับหนูเก่งก็ใช้ได้  เหล่านี้คือ สมการด้านปรัชญาลึกซึ้งโดยคิดย้อนแย้งกับสามัญสำนึกแต่สำคัญกับโลกมาก

แล้วถ้าเรามาเข้าเรื่องด้านเศรษฐศาสตร์กันดูบ้าง   อุปสงค์ = อุปทาน คือ สมการที่เริ่มมาตั้งแต่ก่อตั้งวิชาเศรษฐศาตร์ทุนนิยมคลาสสิค โดย อดัม สมิธ เมื่อ 200 ปีก่อนและ เซย์ ก็ได้นำไปตั้งเป็น "กฏของเซย์" แต่ เคนส์ได้หักล้างสมการนี้เสียและบอกว่า บางเวลาอาจเกิดอุปสงค์ส่วนเกิน หรือ อุปทานส่วนเกินได้  เมื่อเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป หรือ เศรษฐกิจตกต่ำมากๆ  

ยังมีสมการที่สร้างโดยนักเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา  เออร์วิง ฟิชเชอร์  (บิดาแห่งทฤษฎีอัตราแลกเปลี่ยน)   ได้สร้างสมการที่เรียกว่า Fisher Effect ทีน่าสนใจมาก โดยได้ตั้งไว้ดังนี้   อัตราดอกเบี้ย = อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง + อัตราเงินเฟ้อที่คาดหวัง และ  International Fisher Effect  ที่เขียนไว้ว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน = ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย   นั่นหมายถึง  ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูง  ก็ควรมีอัตราดอกเบี้ยสูงด้วย และ ค่าเงินก็ควรอ่อนลงในระยะยาว  

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงต้นเหตุแห่งวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้ง เช่น เตกีล่า และ ต้มยำกุ้ง  โดยก่อนวิกฤตินั้น เม็กซิโก และ ไทย ล้วนมีเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอเมริกา  แต่ค่าเงินเปโซ และ เงินบาทดันไปผูกกับเงินดอลลาร์ไว้  ซึ่งมันเป็นการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบแย้งสมการเต็มๆ  สุดท้ายก็ไปไม่รอด   การใช้ค่าเงินที่แข็งเกินจริงทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง  และเมื่อความเชื่อมั่นถดถอย เงินทุนไหลออก  ก็จำเป็นต้องลดค่าเงินลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับก่อนวิกฤติในยูโรโซนก็เช่นกัน  กรีซ และ สเปน มีอัตราเงินเฟ้อ และ ดอกเบี้ยสูงกว่าประเทศเยอรมัน และ เนเธอร์แลนด์  ดังนั้นค่าเงินควรอ่อนลงในระยะยาว  แต่เมื่อทั้งหมดผูกค่าเงินด้วย "ยูโร" ระบบจึงเดินหน้าไปไม่ได้   กรีซและสเปน จึงต้องพบกับวิกฤติเศรษฐกิจ  ปัญหาจึงไม่ได้เกิดจากวิกฤติการคลังเป็นต้นเหตุแต่อย่างใด แต่เกิดจากใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่แย้งกับ "สมการ" นั่นเอง  โดยก่อนหน้านี้ สเปน ไอร์แลนด์ นั้นมีหนี้ภาครัฐ ต่อ GDP ที่ต่ำมากอยู่แล้ว

นอกจากนี้  สมการนี้ยังชี้ว่าอย่ามองโลกในแง่ดีเกินไปนักสำหรับประเทศเกิดใหม่  หากคิดว่า อินเดีย จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าเยอรมัน   อินโดนีเซียจะวิ่งแซงอังกฤษ  ภายในไม่กี่ปีละก็ควรคิดให้ดีเสียก่อนอีกรอบเพราะว่า  ประเทศที่มีเงินเฟ้อสูงอย่าง อินเดีย อินโดนีเซียนั้น  สมการนี้บ่งชี้ว่าในระยะยาวแล้วค่าเงินยังคงต้องอ่อนลงไปกว่านี้ได้อีกมาก  นั่นหมายถึง GDP หากคิดเป็นดอลลาร์แล้วอาจไม่วิ่งเร็ววิ่งสูงอย่างที่กระแสคาดการณ์กันมาก่อนหน้านี้ก็เป็นได้

ส่วนสมการ MV = PQ ของ มิลตัน ฟรีดแมนบิดาแห่งสำนักการเงินบ้างเล่า  สมการชี้ประเด็นว่า หากมีการเพิ่มปริมาณเงิน (M)  ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ GDP (Q) สูงขึ้น และ อัตราเงินเฟ้อ (P) สูงขึ้นด้วย  แต่ว่าผมไม่คิดเช่นนั้น  ผมคิดว่า M ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้การหมุนของเงิน (V) ลดลงโดยอัตโนมัติ  เงินจะไหลเข้าสู่ตลาดสินทรัพย์ทีเป็น stock  ไม่ได้เข้าสู่เศรษฐกิจจริงที่เป็น flow มากนัก

ผมจึงเปลี่ยนสมการการเงินเป็น  อัตราการเปลี่ยนแปลงปริมาณเงิน = อัตราการเพิ่มของ GDP + อัตราเงินเฟ้อ + อัตราการไหลเข้าสุทธิในตลาดสินทรัพย์   สมการนี้จึงเป็นตัวชี้ว่าทำไม Fed ได้เพิ่มเงินถึงปีละ 1 ล้านล้านดอลล์  แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอเมริกาจึงไม่แข็งแรง  เงินเฟ้อก็ต่ำ  แต่ตลาดบ้าน และ ตลาดหุ้นของอเมริกากลับแข็งแกร่ง

เมื่อดูอัตราการเพิ่มของปริมาณเงิน M2 อยู่ที่ 6.5% ต่อปีของสหรัฐฯ จึงเท่ากับ  การเพิ่มของ GDP (1.6%)  บวกด้วยอัตราเงินเฟ้อ (1.5%)   ขณะที่อีก 3.4% นั้นเงินไหลสุทธิเข้าไปยังตลาดสินทรัพย์ (บ้าน และ หุ้น) จะเห็นว่าปริมาณเงินที่เพิ่มไหลเข้าไปสู่ส่วนที่เป็น stock มากกว่า flow เสียอีก  ซึ่งสมการใหม่นี้จะทำให้อธิบายผลของการเปลียนแปลงปริมาณเงินได้ดีขึ้นกว่าเดิม

และก็มาเข้าถึงประเด็นสำคัญ  โดยยังจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ได้สร้างสมการไว้แบบนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงของ GDP = m * การเปลี่ยนแปลงของ G   โดย m คือ ค่าตัวทวีการคลังซึ่งมีค่ามากกว่า 1  ดังนั้นหากรัฐทุ่มงบประมาณเข้าไปมากๆ  และ เลือกโครงการที่มีค่าตัวทวีสูงๆ ก็จะเป็นผลบวกต่อศรษฐกิจได้มาก ซึ่งเรื่องนี้ยอดเยี่ยมเมื่อ 80 ปีก่อนในยุคที่เชื่อกันว่ารัฐบาลไม่ควรเข้ามาแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจใดๆ ปล่อยให้กลไกตลาดของภาคเอกชนทำงานไปจะดีกว่า  สมการได้เปลี่ยนมุมมองของเศรษฐศาสตร์มหภาคกันเลย 

แต่ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายตั้งแต่ อเมริกา ญี่ปุ่น  ยูโรโซน ล้วนแล้วแต่ติด "กับดักเคนส์" คือ ไม่ว่าจะเลือกทาง "รัดเข็มขัด" หรือ "คลายเข็มขัด"  เศรษฐกิจก็ไม่เติบโตมากพอจะทันกับหนี้สินภาครัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  นั่นก็คือ  หนี้ภาครัฐ ต่อ GDP ยังคงวิ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่องนั่นเอง  

ผมคิดว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ทฤษฎีเคนส์ต้องติด "กับดักเคนส์" ก็คือ  "โครงสร้างประชากร"  ที่เปลี่ยนจาก "พีระมิด" เป็น "โอ่งน้ำ"  โดยที่รัฐต้องแบกรับภาระของผู้สูงอายุมากขึ้นทั้งด้านเงินบำนาญ และ ประกันสุขภาพ  ขณะที่เด็กรุ่นใหม่มีน้อยลงทำให้ประชากรที่ก้าวเข้าสู่วัยทำงานน้อยลง  รัฐจึงเก็บภาษีได้จากประชากรกลุ่มที่เล็กลงนั่นเอง 

ผมจึงได้คิดสมการขึ้นมาใหม่บ้าง นั่นก็คือ  การเปลี่ยนแปลงของ GDP = m * การเปลี่ยนแปลงของ Gp โดยที่ Gp คือ G pension เป็นส่วนหนึ่งของ G  ที่ใช้เพื่อสมทบเงินเข้ากองทุนบำนาญ และ การให้หักลดหย่อนภาษีสำหรับเงินออมบำนาญ  และ m (ตัวทวี) มีค่าติดลบ  นี่คือ การเปิดช่องให้ประเทศพัฒนาแล้วที่มีวิกฤติการคลัง  จะสามารถรัดเข็มขัดไปพร้อมๆ กับทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้

ท่านผู้นำของสหรัฐฯ  ญี่ปุ่น รวมไปถึงท่านผู้นำของยูโรโซน  หากได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้คงจะตื่นเต้นดีใจอย่างมาก  เพราะ แนวทางการดูแลวิกฤติการคลังไปพร้อมๆ กับเศรษฐกิจที่ดีขึ้นด้วยนั้นอาจอยู่ที่สมการข้างต้นนี่เอง โดยเฉพาะสหรัฐฯ นั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้เจรจาแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในเรื่องเพดานหนี้ได้เลย  โดยแนวคิดแบบย้อนแย้งนี้จะไม่สามารถทำได้เลยในโลกเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นสำนักเคนส์ หรือ สำนักนีโอคลาสสิกก็ตาม  นี่มิได้เป็นการ "เปลี่ยนโลกเศรษฐศาสตร์" หรอกหรือ ??

แล้วท่านผู้อ่านละ....มีสมการที่จะใช้เปลี่ยนโลกบ้างหรือเปล่าครับ ??

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น