วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สำนักเศรษฐศาสตร์... เพื่อชาติ

ปัจจุบันโลกมี 2  สำนักเศรษฐศาสตร์ใหญ่ๆ ก็คือ 1.สำนักเคนส์  เป็นกลุ่มที่ศรัทธาใน "นโยบายการคลัง" เน้นให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชน  แนวคิดนี้เริ่มจากอังกฤษ และ แพร่เข้าไปยังอเมริกาในส่วนที่ติดกับมหาสมุทร  จึงเรียกกลุ่มนี้ว่า เศรษฐศาสตร์ "น้ำเค็ม"  2.สำนักการเงินนิยม เป็นกลุ่มที่ศรัทธาใน "นโยบายการเงิน" และ ไม่เชื่อในนโยบายการคลัง โดยคิดว่ารัฐบาลควรเข้ามาแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมเศรษฐกิจน้อยที่สุด  แนวคิดนี้เริ่มจากในอเมริกาด้านใน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยชิคาโก้  เรียกว่าเศรษฐศาสตร์ "น้ำจืด"

คงไม่ต้องถึงกับเรียกว่า เศรษฐศาสตร์ "น้ำกร่อย"  แต่  สำนักเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก  ซึ่งแปลตรงๆ จากภาษาจีนได้ว่า "เศรษฐศาสตร์ขั้นสุดยอด"  ใช้แนวคิดของการยืมแรงสะท้อนแรง และ นิ่งคือเคลื่อน-เคลื่อนคือนิ่ง  ซึ่งประกอบด้วย 4 ทฤษฎีใหม่ที่หักล้างแนวคิดทฤษฎีการเงินและการคลังแบบเดิมๆ  ประกอบไปด้วย "การคลังไท้เก๊ก" "การเงินไท้เก๊ก"  "ปริวรรตไท้เก๊ก" และ "บำนาญไท้เก๊ก"  น่าจะสามารถนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของโลกในอนาคตได้

ข้อเสนอของผมก็คือ  หากนำเรื่องนี้บรรจุเข้าไปในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย  น่าจะเกิดผลดีต่อ 4 ฝ่ายดังนี้

1. นักศึกษา : นักศึกษาของไทยจะมีความรู้ระดับเหนือชั้นกว่านักศึกษามหาวิทยาลับ top 10 ของโลกกันเลย  นี่ดูเหมือนเรื่องที่แม้แต่ฝันยังไม่กล้าจะฝันด้วยซ้ำ  แต่ลองคิดดูสิว่า  นักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำเหล่านั้นจะรู้จัก  "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) บ้างไหมละครับ??   หากนักศึกษาไทยถึงแม้เรียนรู้เข้าใจในเรื่องนี้ได้เพียง 5 ส่วน  แต่ก็ยังดีกว่านักศึกษาต่างชาติเหล่านั้นที่มีความรู้ในเรื่องนี้เป็นศูนย์   นี่มิได้เรียกว่า "เหนือชั้น" กว่าหรอกหรือ ??

2. มหาวิทยาลัย :  3 ปีที่ผ่านมาจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ QS  พบว่า  จุฬาฯ อันดับแย่ลงไปราว 100 อันดับตกไปอยู่อันดับที่ 239  ของโลก  หากมหาวิทยาลัยไทยได้มีการสอนในวิชาที่แทบไม่มีที่ใดในโลกจัดการเรียนการสอนกัน  แต่เป็นแนวคิดที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก  นี่มิใช่เป็นการสร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่นหรอกหรือ ??    มหาวิทยาลัยที่มีสำนักเศรษฐศาสตร์ล้วนแล้วแต่ติดอันดับ top 10 ทั้งสิ้นอย่าง  ฮาร์วาร์ด  เคมบริดจ์  พริ้นซ์ตัน หรือ ชิคาโก้   เผลอๆ  มหาวิทยาลัยไทยอาจวิ่งดีขึ้นอย่างเร็วจนติดอันดับ top 100 ก็เป็นได้

3.ประเทศไทย : หากมองย้อนหลังกลับไปหลายทศวรรษที่ผ่านมา  เคยมีสักวันไหมที่ประเทศไทยจะก้าวล้ำนำหน้าประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย 3 ประเทศอย่าง  ญี่ปุ่น  เกาหลีใต้ และ สิงคโปร์

เมื่อดูด้านคมนาคม :  ไทยอาจสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 สายเสร็จได้ใน 7 ปี  ใช้เงินลงทุนถึง 8 แสนล้านบาท แต่นั่นก็เป็นการเดินตามหลังญี่ปุ่นถึง 55 ปี   อย่างไรก็ดี  ผมยังสนับสนุนให้สร้างอยู่ดี  เพราะการรอไปอีก 45 ปีแล้วสร้างนั้น  คนรุ่นลูกอาจไปบอกรุ่นหลานว่า  "ดีใจไหมที่ไทยมีรถไฟความเร็วสูงเสียที  ลงทุนไปหลายล้านล้านบาท  แถมเดินตามหลังญี่ปุ่นแค่ 100 ปีเอง"  

เมื่อดูด้านการสื่อสาร :  การลงทุน 3G 4G  อาจใช้เงินเป็นแสนล้านบาท  แต่คงไม่ต้องเทียบกับญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้  เพราะไทยเรายังตามหลังประเทศลาวด้วยซ้ำไป  

เมื่อดูด้านการศึกษา :  คงไม่ต้องไปเทียบอะไรกับ 3 ประเทศนั้น  ใช้งบกระทรวงศึกษาฯ ถึงปีละ 5 แสนล้านบาทแต่ไทยยังคงเหนื่อยกับการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีนอยู่เลย

แต่สำหรับเรื่องนี้  หากมีการบรรจุ "สำนักเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" เข้าไปในหลักสูตรวิชาเศรษฐศาสตร์แล้วละนี่จะแตกต่างอย่างแน่นอน เพราะ 3 ประเทศนั้นไม่ได้มีสำนักเศรษฐศาสตร์ของประเทศตนเองเลย  ตอนนี้ก็ยังคงใช้แนวคิดของสำนักเคนส์ และ สำนักการเงินนิยม กันอยู่  ดังนั้นจึงอาจแปลได้ว่า  ไทยได้เดินนำหน้าญี่ปุ่น  เกาหลีใต้ และ สิงคโปร์ ไปแล้วอย่างน้อยก็ 1 ก้าว  โดยแทบไม่ต้องใช้เงินลงทุนอะไรเลยด้วยซ้ำ น่าทึ่งไหมละครับ ??

4. โลก : เนื่องจาก "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก"  เป็นความรู้ใหม่ของโลกซึ่งน่าจะนำไปใช้เพื่อปลดล็อก 4 กับดักเศรษฐกิจพิษร้ายแรงของโลกคือ "กับดักเคนส์"  "กับดักเงินเฟ้อ"  "กับดักยูโร" และ "กับดักประกันสังคม" ได้  หากทำได้สำเร็จนี่นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากๆ ต่อโลกของเรา

ผมจึงขอเรียนเชิญท่านคณบดีเศรษฐศาตร์ และท่านผู้บริหารมหาวิทยาลัยในประเทศไทยผู้มีวิสัยทัศน์ชั้นยอดมาร่วมกันสานฝันอันยิ่งใหญ่นี้  เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยและเปลี่ยนโลกไปด้วยกัน  ลองติดต่อเข้ามานะครับ  prawitruang@gmail.com

สุดท้ายผมขอฝากคำพูดอมตะของ สตีฟ จ็อบส์ไว้ตรงนี้  "กลุ่มคนที่บ้าพอจะเชื่อว่าสามารถเปลี่ยนโลกได้  คือพวกที่่จะทำได้จริง"  











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น