วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สติและอโหสิกรรม คือ คำตอบสุดท้าย

บทความนี้เขียนด้วยความมุ่งหมายอันดีต่อประเทศชาติ  ไม่ได้หวังเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด  แต่เพื่อให้คนไทยได้ฉุกคิดว่าจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของชาติอย่างไรกันดีก่อนจะเกิดความรุนแรง

ความขัดแย้งทางการเมืองได้มีต่อเนื่องมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2548  โดยหลายครั้งที่ความรุนแรงมากจนเสียเลือดเสียเนื้อ  ประเทศไทยได้มองข้ามจุดแข็งของชาติในเรื่องหนึ่งหรือเปล่า ที่สามารถนำมาใช้เพื่อคลายปมขัดแย้งนี้ได้  สิ่งนั้นก็คือ  "พุทธศาสนา" ไงครับ

แม้ว่า  วุฒิสภาฯ ได้เดินหน้าคว่ำร่าง พรบ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอยไปแล้ว  และ พรรคร่วมรัฐบาลได้ลงสัตยาบันจะไม่นำร่าง พรบ.นิรโทษฯ มาพิจารณาอีกก็ตาม   เรื่องที่ทำนี้ก็เหมือนการดึงฟืนออกจากกองไฟ  แต่นั่นยังไม่เพียงพอที่จะดับไฟลงได้  การเดินหน้าระดมมวลชนเสื้อแดงมาชนด้วย  ก็คงเหมือนการก่อไฟเพิ่มอีกกองหนึ่ง  คำตอบสุดท้ายของความขัดแย้งนี้น่าจะเป็นการใช้ "น้ำ" เพื่อดับไฟแห่งความโกรธแค้นที่สุมในใจของคนไทยลงต่างหาก

แทนที่จะใช้คำว่า  "นิรโทษกรรม" หรือว่า "ล้างผิด"  ผมเลือกใช้คำว่า "อโหสิกรรม"    แทนที่จะใช้คำว่า "ปรองดอง" หรือว่า "สมานฉันท์"  ผมขอใช้คำว่า "สามัคคี"   แต่นี่คงไม่ใช้แค่เปลี่ยนวาทกรรมแล้วเรื่องราวจะจบลงไปได้

หากเป็นแนวคิดของศาสนาพราหมณ์ตามมหากาพย์มหาภารตะ  พระกฤษณะกล่าวว่า "รบเถิด อรชุน" เพราะถึงจะสู้รบแพ้ก็ยังได้ขึ้นสวรรค์   แต่หากเป็นพระพุทธเจ้า  ท่านก็คงตรัสว่า  "หยุดเถอะ อรชุน" เพราะไม่ว่าจะสู้รบแพ้หรือชนะ  แต่การฆ่าคนหลายร้อยหลายพันคนนั้นเป็นบาปมหันต์  จะต้องตกนรกอย่างแน่นอน นี่จึงเป็นนับได้ว่าเป็นแนวคิดคนละขั้วกันเลย และ เนื่องจากพวกเราส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ไม่ใช่ ชาวพราหมณ์   โดยเฉพาะในช่วงเวลาเช่นนี้ก็ควรให้ความสนใจกับแนวคิดของ "ปางห้ามญาติ"  มากกว่าแนวคิดของ "มหาภารตะ"

หลักการก็คือว่า ดึง "สติ" ของคนไทยกลับมา  ใช้หลักการ "อโหสิกรรม" เพื่อทำให้ใจเย็นลง  ผมขอเสนอให้จัดงาน "วันสามัคคีแห่งชาติ" อย่างเร็วที่สุด  โดยในงานนี้จะมุ่งเน้นการ "แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง" เน้นประเด็นของการรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่คนไทยมีร่วมกัน  ขณะที่ความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมืองก็สงวนเอาไว้ก่อน  เป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นขออภัย-ให้อภัยกัน และเริ่มต้นความสามัคคีในชาติ

โดยพิธีก็อาจเริ่มด้วยการเชิญตัวแทนของทุกสีทุกฝ่ายเข้ามา  สวดมนต์ร่วมกัน  ร้องเพลงชาติร่วมกัน  ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีร่วมกัน  ฟังพระเทศน์ในเรื่องประโยชน์ของ "การอโหสิกรรมและความสามัคคี" จากนั้นก็อาจมีพิธีแขวน "เสื้อแดง  หน้ากากขาว  มือตบ  นกหวีด"  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านอำนาจรัฐ   มีการประกาศวาระแห่งชาติที่จะเดินหน้าร่วมกันในเรื่อง  "การต่อต้านคอรัปชั่น  การขจัดสิ้นยาเสพติด และ การปฏิรูปการศึกษา" เป็นต้น   มีการ "ขออโหสิกรรม" ต่อชาติและประชาชนคนไทยที่ในอดีตอาจได้กระทำผิดพลาดไปบ้าง  และ สุดท้ายก็อาจจัดให้มีการร้องเพลง "สามัคคีชุมนุม" ร่วมกันเพื่อเริ่มต้นสร้างความสามัคคีในชาติ

เมื่อจิตใจของคนไทยเย็นลงแล้วก็จะสามารถคุยกันด้วยเหตุด้วยผล  ว่าเรื่องใดควรอภัยให้กันได้  เรื่องใดให้อภัยกันไม่ได้  แล้วจึงจัดทำเป็น "พรบ.สามัคคีแห่งชาติ"  ในภายหลังเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม น่าจะดีกว่าการปล่อยให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ  จริงไหมครับ ??

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น