วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มองต่างมุมตลาดหุ้นโลก

ดัชนีหุ้นโลกเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยระยะยาว  ในตลาดขนาดใหญ่ คือ อเมริกา  จีน  ญี่ปุ่น และ ยุโรปนั้นด้านหนึ่งก็ดูเหมือนว่าจะไม่แพงนัก  อยู่ในระดับเหมาะสม  แต่ในบทความนี้ผมจะนำเสนออีกด้านหนึ่งเพื่อเปรียบเทียบดู

ดัชนี S&P 500 ได้ขึ้นมาทำจุดสูงสุดอย่างแข็งแกร่งซึ่งดัชนีนี้ใช้แทนหุ้นของอเมริกาได้อย่างดี  หากมองดูที่ Bond Yield  10 ปีของอเมริกาที่ 2.7% แล้ว   ผลตอบแทนของ Equity Yield ก็อาจบวกเพิ่มอีก 3%  เป็น 5.7%   (P/E ที่เหมาะสม คือ 17.5 เท่า)  ดังนั้น P/E ระดับ 17.0 เท่า ณ ปัจจุบันของดัชนี S&P ก็ยังไม่แพงนัก  อย่างไรก็ดีหากมองอีกมุมหนึ่ง  โดยดัชนี Nasdaq  ซึ่งมีค่า P/E สูงถึง 23.7 เท่า และ ดัชนี Russell 2000  ซึ่งเป็นหุ้นขนาดเล็ก 2000 ตัวซึ่งมีค่า P/E สูงถึง 32.8 เท่า  นี่อาจกล่าวได้ว่ามีฟองสบู่ที่แอบแฝงอยู่ในตลาดหุ้นของอเมริกา

เมื่อดูตลาดหุ้นยูโรป  ดัชนีหุ้นเยอรมัน (DAX) มีค่า P/E 15.1 เท่า   ดัชนีหุ้นฝรั่งเศส (CAC)  อยู่ที่ 18.4 เท่า และ ดัชนีหุ้นอังกฤษ (FTSE) 16.6 เท่า  จะเห็นว่าไม่ได้แพงเลยเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยระยะยาว  ราคาหุ้นอยู่ในระดับเหมาะสม  อย่างไรก็ดีเมื่อมองอีกมุมหนึ่ง   ไปดูที่ตลาดหุ้นยุโรปชายขอบกลุ่ม  PIIIGS  ค่า P/E ของดัชนีหุ้นไอร์แลนด์ ที่ 35.5 เท่า  ของหุ้นสเปนที่ 56.4 เท่า   หุ้นอิตาลีน่าตกใจเพราะสูงถึง 465 เท่า และยิ่งน่าตกใจกว่านั้นเพราะ P/E ของดัชนีหุ้นโปรตุเกส และ กรีซ นั้น "ไม่มี" ซึ่งหมายถึง เมื่อรวมผลกำไรของทั้งตลาดแล้ว  ผลกำไรเป็น "ตัวแดง" หรือ "ขาดทุน" นั่นเอง  สรุปแล้ว  ราคาหุ้นในกลุ่ม PIIGS ได้ตอบสนองการคาดการณ์ว่าจะมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างเร็ว  อาจกล่าวได้ว่ามีการปั่นฟองสบู่แฝงอยู่ในตลาดหุ้นยุโรปอยู่เช่นกัน

เมื่อมาดูตลาดหุ้นตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ BRICS ดูบ้าง  ด้านหนึ่งจะเห็นว่าดัชนีหุ้นรัสเซีย (MICEX) P/E ต่ำมาก 5.9 เท่า  ของจีน (CSI300) ก็ต่ำที่ 11.0 เท่า  อย่างไรก็ดีเมื่อมองอีกด้านหนึ่งดัชนีหุ้นแอฟริกาใต้ (TOP40) สูงถึง 21.2 และ หุ้นของบราซิล (BOVESPA)  สูงถึง 56 เท่ากันเลย นั่นหมายถึงว่า มีฟองสบู่แฝงอยู่ในดัชนีตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคแอฟริกา และอเมริกาใต้

สำหรับตลาดเกิดใหม่ในเอเชียนั้น  มองด้านหนึ่ง SET index มีค่า P/E 15.9 เท่า  ขณะที่ดัชนีหุ้นมาเลเซีย (KCLI  17.0 เท่า)  ถือว่าว่าอยู่ระดับเหมาะสมกับดอกเบี้ยระยะยาวแม้จะแพงไปเล็กน้อย   แต่เมื่อมองอีกด้านหนึ่ง  ดัชนีหุ้นอินเดีย (SENSEX 17.5 เท่า) อินโดนีเซีย (JCI  18.6 เท่า)  ซึ่งแม้จะมีค่า P/E สูงกว่าหุ้นไทยและมาเลเซียเพียงเล็กน้อย   แต่เมื่อดูดอกเบี้ยระยะยาวของ 2 ประเทศนี้ซึ่งยืนที่ราว 9% แล้ว อัตราผลตอบแทนของหุ้นที่คาดหวัง (Equity Yield) ก็น่าจะยืนราว 12%  ดังนั้น P/E ของตลาดหุ้นทั้ง 2 แห่งนี้ควรยืนแค่ราว 8-9 เท่าแค่นั้นเอง  ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าปัจจุบันถึง 50%  นี่จึงนับเป็นฟองสบู่อีกเช่นกันในตลาดหุ้นเกิดใหม่ของเอเชีย ซึ่งราคาหุ้นอาจปรับตัวลงได้อีกมาก  และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังตลาดหุ้นไทยได้

แล้วมาดูในตลาดหุ้นไทยเองบ้างละ มุมหนึ่ง SET index แม้ว่าจะ P/E จะยืน 15.9 เท่า ดูแพงไปเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยระยะยาวที่ 4% และ ผลตอบแทนตลาดหุ้นที่คาดหวังราว 7% ต่อปี   แต่เมื่อไปดูดัชนี MAI  ซึ่งค่า P/E สูงถึง 30.3 เท่า  นั่นก็คือ  แม้แต่ภายในตลาดหุ้นไทยเองก็มี "ฟองสบู่" แฝงตัวอยู่ในหุ้นกลุ่มขนาดเล็กอยู่ด้วยนั่นเอง

สรุปก็คือว่า  ตลาดหุ้นโลกแม้ดูเผินๆ อาจไม่ได้แพงอะไรนักยังดูแข็งแรงดีจากมาตรการ QE  แต่จะมี "ฟองสบู่" สินทรัพย์แฝงตัวอยู่เป็นจำนวนมากเกือบแทบทุกภูมิภาคของโลก   และเนื่องจากดัชนีหุ้นเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ  ดังนั้น นี่อาจเป็นเรื่องที่ต้องระวัง  เพราะหากฟองสบู่แตกตัวลงพร้อมกันทั้งหมดแล้วละก็โลกคงจะหลีกเลี่ยงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ไปได้ยาก  และ เมื่อถึงเวลานั้นหากคนไทยยังไม่เลิกทะเลาะกันอีกละก็  นั่นอาจถึงเวลาแห่งภาวะ "ล่มสลายหายนะ" ของจริงกันละครับ

ข้อมูล : Bloomberg   15 พ.ย.56

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น