มีการพูดถึงคำว่า "ปฏิรูป" กันอย่างมากมาย และทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่าประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปในหลายๆ ด้าน และ "ปฏิรูปไท้เก๊ก" คือ ทฤษฎีใหม่ที่ผมคิดค้นขึ้นมา แปลตามความหมายจากภาษาจีนก็คือ สุดยอดการปฏิรูป นั่นเอง
ผมคิดว่าในการ "ปฏิรูป" ระดับประเทศนั้นจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบ 4 อ.ซึ่งจะต้องครบถ้วนถึงจะทำให้เดินหน้าบรรลุผลได้ ก็คือ
1.ไอเดีย : จะปฏิรูปอะไรและมีวิธีการอย่างไรบ้าง
2.อุดมการณ์ : มีความตั้งใจจริงที่จะทำให้ดีขึ้น ยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักไม่ใช่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง และอยู่ในกรอบกติกาประชาธิปไตยโดยไม่รุนแรง
3.อำนาจ : อำนาจนิติบัญญัติ และ บริหาร เพื่อเปลี่ยนแปลงกฏหมาย หรือ การกำหนดนโยบายต่างๆ
4.อุปสรรค : การรวบอำนาจเบ็ดเสร็จแบบขาดคุณธรรม การค้านสุดตัวอย่างไม่ดูเหตุผล การใช้มวลชนแบบผิดกติกา รวมไปถึง องค์กรอิสระบางองค์กรนั้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปได้
และแน่นอนแนวคิดแบบ "ไท้เก๊ก" ก็จะแตกออกเป็น 4 กรณี จากมีแค่ 2 แบบ "นิ่งคือนิ่ง" "เคลื่อนคือเคลือน" โดยเพิ่ม "นิ่งคือเคลื่อน" และ "เคลื่อนคือนิ่ง" เข้าไปด้วย สำหรับ "ปฏิรูปไท้เก๊ก" ก็คือ
1. กลุ่มที่ไม่มีไอเดีย และ อุดมการณ์ และ ไม่มีอำนาจด้วย : นี่คือกลุ่มชาวบ้านทั่วไป
2. กลุ่มที่มีไอเดียและอุดมการณ์ แต่ไม่มีอำนาจ : นี่คือ กลุ่มนักวิชาการ และ ข้าราชการบางส่วน
3. กลุ่มที่ไม่มีไอเดียและอุดมการณ์ แต่มีอำนาจ : นี่คือ กลุ่มนักการเมืองส่วนใหญ่
4. กลุ่มที่มีทั้งไอเดีย อุดมการณ์ และ อำนาจ : กลุ่มนี้น่าสนับสนุนที่สุดให้ทำการปฏิรูปประเทศ อาจเรียกว่าเป็น "นักวิชาการเมือง" ซึ่งเป็นการรวม "นักวิชาการ" และ "นักการเมือง" เข้าด้วยกัน
อย่างไรก็ดี การทำให้ชาติเสียหายได้อย่างมากนั้นอาจเป็น กลุ่มที่มีอำนาจ มีไอเดีย แต่ไม่มีอุดมการณ์ เช่น "นโยบายจำนำข้าวทุกเม็ดในราคาสูงลิ่ว" ด้วยการออกนโยบายแบบนี้ บวกกับ ไอเดียบรรเจิดในการเปิดช่องให้ทุจริตหลายๆ ทาง เมื่อไม่มีอุดมการณ์ก็หมายถึง ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ แต่ไปคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนและพวกพ้องเสียมากกว่า ประเทศชาติจึงเสียหายจากนโยบายแบบนี้ได้ถึงหลายแสนล้านบาท
ดังนั้น หลังจากได้ไอเดียการปฏิรูป ซึ่งก็ทำกันมาหลายครั้งหลายคนแล้ว การเดินหน้าปฏิรูปประเทศต่อไป จึงมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ
1. บีบให้ผู้มีอำนาจ (สส. และ รัฐมนตรี) ต้องกลับมามีอุดมการณ์ด้วยประชามติหรือนโยบายพรรค : เช่น การลงประชามติในเรื่องสำคัญอย่าง ภาษีทรัพย์สิน หรือ การเพิ่มโทษทุจริตคอร์รัปชั่น นั้นเชื่อได้ว่าน่าจะได้คะแนนเกิน 80% ของการลงคะแนนทั้งประเทศเป็นแน่ อย่างไรก็ดี เรื่องพวกนี้มีการขัดแย้งผลประโยชน์กับ สส.ในสภาฯ โดยตรง ดังนั้น สส.จึงไม่ได้ทำตัวให้เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง แต่การมี "ประชามติ" จะเป็นการบีบให้ สส.จำเป็นจะต้องยกมือเป็นตัวแทนประชาชนอย่างมีอุดมการณ์ หรือแม้แต่ในศึกเลือกตั้งที่นโยบายพรรค กลายมาเป็นสวัสดิการสังคมเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศถูกผลักดันออกมาเป็นการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ เช่น "โครงการบัตรทอง 30 บาท" เป็นต้น
2. เอาอำนาจตำแหน่ง ไปส่งมอบให้ผู้ที่มีไอเดียและอุดมการณ์ : เลือกเอาคนดีคนเก่งขึ้นสู่อำนาจนั่นเอง ก็น่าจะทำให้การปฏิรูปเดินหน้าไปได้อย่างดี แต่ก็ควรต้องอยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยด้วย การคัดกรองคุณภาพ สส. และ รัฐมนตรี จะช่วยในเรื่องนี้ได้
ดังนั้นก็ขอสรุปจบตรงนี้ว่า หากจะเดินหน้าปฏฺิรูปก็ให้คำนึงถึง 4อ.ให้ดี ทำองค์ประกอบ 3อ. แรกให้ครบ จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้เลยนั่นคือ "ไอเดีย" "อุดมการณ์" และ "อำนาจ" นอกจากนี้ พยายามลดทอน "อุปสรรค" ที่ขัดขวางการปฏิรูปให้เหลือน้อยที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น