วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จาก "ประชานิยม" สู่ "ประชาชมชอบ"

หลังจากได้มีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ได้ทำไปนั้นเรียกว่า "รัฐสวัสดิการ" หรือว่า "ประชานิยม" กันแน่ อันที่จริงแล้วก็เชื่อว่ามีน้อยคนนักที่จะแยก 2 เรื่องนี้ออกจากกันได้อย่างชัดเจน เพราะ ทั้ง 2 ชื่อนี้ก็ล้วนแล้วแต่ใช้เงินงบประมาณ เพื่อสร้างความพอใจแก่ประชาชนกลุ่มใหญ่ไม่ต่างกันเท่าใดนัก แต่หากจะหาประเด็นเพื่อแยก 2 เรื่องนี้ออกจากกันก็อาจเป็นแหล่งที่มาของเงินงบประมาณเพื่อนำมาใช้ทำสวัสดิการให้ประชาชน หากเป็น "เงินกู้"ก็เข้าข่าย "ประชานิยม" แต่หากเป็น "ภาษีที่เก็บเพิ่ม" ก็เข้าข่าย "รัฐสวัสดิการ"

สำหรับรัฐบาลชุดนี้ได้เดินหน้าอย่างกล้าหาญในการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และ บุหรี่ เพิ่ม แม้จะมีเสียงบ่นจากทั่วทุกสารทิศ อย่างไรก็ดีเงินก้อนนี้ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับนโยบายสวัสดิการประชาชนที่ใช้จ่ายถึงกว่า 3 แสนล้านบาท ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้วจนถึงปัจจุบันก็คือ "รัฐสวัสดิการ..แบบยังไม่ถึงครึ่งทาง" เพราะเมื่อจะเดินหน้าเก็บ VAT เพิ่มเพื่อให้ใกล้เคียงกับระดับสากล และสร้างฐานรายได้เพื่อทำรัฐสวัสดิการอย่างเต็มรูปแบบ ก็ปรากฏว่า รัฐบาลไม่กล้าทำเพราะเป็นห่วงคะแนนเสียงทางการเมืองที่อาจจะตกต่ำลง

มันจะดีกว่าไหม หากมีนโยบายซึ่งไม่ต้องเงินงบประมาณเลยแม้แต่บาทเดียว แต่ยังคงสร้างความพอใจกับประชาชนกลุ่มใหญ่ได้อยู่ เมื่อไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่ม ก็ไม่ต้อง "กู้เงิน" และ ไม่ต้อง "เก็บภาษีเพิ่ม" ซึ่ง 2 เรื่องนี้เป็นภาระต่อประชานในอนาคต และ ภาระต่อประชาชนในปัจจุบันตามลำดับ นโยบายแบบนี้เองที่ผมตั้งชื่อให้ว่า "นโยบายประชาชมชอบ"

คงไม่ต้องลงไปในรายละเอียดอีกแล้วสำหรับ "เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก" (Taiji-Econ.) ซึ่งเป็นแนวคิดของการยืมพลัง โดยเฉพาะกองทุนบำนาญ มาเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลในการสร้างความพอใจต่อประชาชน เป็นการยืมพลังแห่ง stock มาช่วย flow (GDP) ยืมพลังแห่งเจ้าหนี้ (กองทุนบำนาญ) มาช่วยลูกหนี้ (รัฐบาล)

ที่จริงแล้วรัฐบาลอภิสิทธิ์ และ รัฐบาลทักษิณ ก็ได้เคยทำ "นโยบายประชาชมชอบ" มาแล้วด้วยเช่นกัน เช่น "กองทุนหมู่บ้าน" เป็นการยืมพลังจากแบงก์รัฐ (ออมสิน) จึงไม่ต้องมีการใช้เงินงบประมาณเลยแม้แต่น้อย และ ในรัฐบาลชุดนี้ก็มี "แก้หนี้นอกระบบ" ก็เป็นหลักการคล้ายกันด้วยการยืมพลังจากแบงก์รัฐอีกเช่นกัน เงินงบประมาณไม่ต้องใช้เลยหากไม่เกิดปัญหาหนี้เสียขึ้น จนรัฐบาลต้องไปเพิ่มทุนให้แก่แบงก์รัฐเหล่านั้น แต่ที่ผ่านๆ มารัฐบาลยังคงวนๆ อยู่กับการ "ยืมพลังแบงก์รัฐ" จนนโยบายแบบนี้ถูกเรียกว่าเป็น "นโยบายกึ่งการคลัง" แต่โดยความเป็นจริงแล้วหากจัดระบบอย่างดี ปัญหาหนี้เสียอยู่ในระดับต่ำเสียแล้ว ผลกระทบต่องบประมาณรายจ่ายของรัฐแทบไม่มีเลยก็ว่าได้

ส่วน "นโยบายลดสมทบ"ของกองทุนประกันสังคม ถือเป็นก้าวที่สำคัญที่รัฐบาลเริ่มใช้ "การยืมพลังจากกองทุนบำนาญ" ที่ให้ผู้ประกันตนลดภาระในการสมทบเงินเข้ากองทุนจาก 5% เหลือ 3% ทำให้เหลือเงินติดกระเป๋ามากขึ้น กินอยู่สบายขึ้น ซึ่งก็ได้ทำมาครึ่งปีในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา วิธีนี้รัฐบาลไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเลย แต่สามารถช่วยให้ผู้ประกันตนซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่พอใจมากขึ้นได้

ผมได้เขียนเรื่อง "ปฏิรูปเศรษฐกิจไทยสไตล์ 999" และ "รัดเข็มขัดการคลังอย่างไร ให้เศรษฐกิจดีขึ้น" ไว้แล้วด้วย หากรัฐบาลทำตามนั้น ก็จะช่วยให้ผู้ประกันตน และข้าราชการรายได้น้อย เข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ และ พื้นที่เช่าได้ในต้นทุนที่ต่ำลงมาก รัฐบาลไม่ต้องเสียเงินเลย แถมยังได้เงินค่าธรรมเนียมสินเชื่อและค่าเช่าพื้นที่ว่างในสถานที่ราชการอีกด้วย นอกจากนี้ การลดวงเงินหักลดหย่อนภาษีสำหรับ RMF,LTF ยังจะทำให้รัฐบาลได้เงินเพิ่มอีก 1 หมื่นล้าน การลดเงินสมทบเข้า กบข.ก็จะช่วยให้ข้าราชการรายได้น้อยมีเงินหมุนเวียนได้มากขึ้น การขยายอายุการสงเคราะห์บุตรในระบบประกันสังคม แม้แต่การแก้ไขปัญหาราคาไข่แพง หรือการพยายามลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแบงก์ ขอให้ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณแล้วช่วยประชาชนส่วนใหญ่ได้...ทำเถอะครับ

ยังมีเรื่องราวต่างๆ อีกมากที่รัฐบาลสามารถจะทำได้ โดยไม่ต้อง "กู้เงิน" เพื่อเพิ่มหนี้สาธารณะซึ่งจะเป็นภาระต่อคนรุ่นลูกหลานในอนาคต ไม่ต้อง "เพิ่มภาษี" อันอาจเป็นภาระต่อซึ่งอาจเป็นภาระต่อประชาชนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน แถมไม่ต้องกังวลการ "รับเงินใต๊โต๊ะ" อีกด้วยเพราะ ไม่มีส่วนต้องใช้เงินงบประมาณเลย เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกถึง 3 ตัว นโยบายการยืมพลังที่จะช่วยให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศพึงพอใจได้โดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเลยนั้น ซึ่งก็คือ "นโยบายประชาชมชอบ" นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น