วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ดูให้ดีๆ : ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ดูให้ดีๆ : ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เรื่องของ พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้สร้างความหวังกับประชาชนชาวไทยที่จะได้มีกฎหมายที่ลดควาเหลื่อมล้ำลง โดยคนที่มีที่ดินจำนวนมากนั้นกระจุกตัวอยู่กับคนรวยไม่มากนัก ขณะที่ประชาชนกว่า 90% มีที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่

มีคนอีกกลุ่มที่จะกังวลว่า พรบ.นี้ผ่านสภาได้หรือไม่ ในเมื่อนักการเมืองจำนวนมากล้วนแต่ถือครองที่ดินกันมหาศาล ซึ่งการเก็บภาษีทีดินรกร้างอาจสร้างภาระกับพวกเขาได้มาก ใครละครับที่ยินดีจะหยิบดาบมาเชือดคอตนเอง ??

แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้น สิ่งที่ผมกังวลกลับไม่ใช่เรื่องพวกนี้ ยังมีปัญหาที่ตามมาอีกไม่น้อย ที่พวกเราควรใส่ใจกับ พรบ.ที่ดูเหมือนจะดีมาก ฉบับนี้

1.เปิดช่องให้ทุจริต : เจ้าที่ดินสามารถฮั้วกับข้าราชการกรมที่ดินที่ทำการตรวจสอบได้ ที่ดินผืนใหญ่เป็น 100 ไร่ อาจทำการเกษตรแค่มุมเดียว แล้วสรุปไปเลยว่าที่ดินแปลงนั้นทำเพื่อการเกษตร โดยอาจจ่ายใต้โต๊ะเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับภาษีที่ต้องจ่ายจริง

2.ราคาที่ดินเกษตรอาจตกหนัก : อย่างไรก็ดี คาดว่ามีเจ้าที่ดินจำนวนมาก ซึ่งอาจรวมท่าน รมว.คลังที่พูดออกสื่อทีวีด้วยว่า ท่านตั้งใจจะเปลี่ยนสภาพที่ดินไปทำเกษตรเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษี ที่ดินเหล่านั้นอาจถูกปล่อยเช่าออกมาในราคาที่ต่ำมากๆ เพื่อทำการเกษตร ซึ่งหากเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริง ย่อมส่งผลกระทบไปต่อมูลค่าราคาที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างหนัก เพราะ ค่าเช่า คือ ผลตอบแทนส่วนทุนของ "ที่ดิน"นั่นเอง และอย่างที่พวกเราก็รู้ๆ กันดีว่า "ที่ดิน" นั้นเป็นสินทรัพย์สำคัญของเกษตรกรรายย่อย 10-20 ไร่นั้นก็มีค่ายิ่งนัก ขณะที่เศรษฐีนั้นมีสินทรัพย์นอกจากที่ดินแล้ว สินทรัพย์ทางการเงินอีกมากมาย

3.แย่งชิงปัจจัยการผลิต : ลองนึกภาพว่าหากมีที่ดินทำกินเพื่อการเกษตรมากขึ้นอีก 50% จะต้องมีการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ปุ๋ย รวมไปถึงแรงงานเพื่อช่วยเก็บเกี่ยวกันขนาดไหน โดยเฉพาะ "น้ำ" ซึ่งขาดแคลนอย่างมากอยู่แล้ว หลายๆ เรื่องอาจทำให้ต้องเป็นต้นทุนเพิ่มอีกไม่น้อยเลย

4.ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ : แต่หากมองโลกในแง่ดีว่ายังมีน้ำที่เพียงพอแล้วก็ตาม การมีที่นาเพิ่มขึ้นผลผลิตอาจได้เพิ่ม 50% ข้าวจากที่เคยได้ 30 ล้านตันก็เพิ่มเป็น 45 ล้านตัน เมื่ออุปทานเพิ่มขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรงตัว นั่นหมายถึง ราคาข้าวที่ตกต่ำนั่นเอง และ หากรัฐบาลยังเดินหน้าประกันรายได้ให้เกษตรการต่อไปก็หมายถึง การต้องจ่ายเงินชดเชยรายได้ส่วนนี้ถึงปีละไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้การชดเชยรายได้หลายส่วนจะจ่ายให้กับเจ้าของที่ดิน ไม่ใช่ผู้เช่า..ทำให้เงินตกไปสู่มือของนายทุนเจ้าที่ดิน แทนที่จะเป็นเกษตรกรผู้เช่า

5.ค่าเช่าพื้นที่และตึกอาจแพงขึ้น : สำหรับภาษีสิ่งปลูกสร้างนั้นอาจหลบเลี่ยงได้ยากขึ้น เมื่อเทียบกับภาษีโรงเรือนในปัจจุบัน ทำให้เจ้าของตึกอาจผลักภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นนี้มาตกที่ผู้เช่าพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SME ที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร

สรุปก็คือ จากทั้ง 5 ข้อนี้จะเห็นว่า นายทุนเจ้าที่ดินยังคงสามารถหาวิธีหลบเลี่ยงไม่ต้องจ่ายภาษีได้อยู่ดี ทั้งแบบถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เพียงเท่านั้น ยังอาจส่งผลให้ "น้ำ" ไม่เพียงพอ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้ รวมไปถึง คนจนและคนชั้นกลางในเมืองจำนวนมาก อาจต้องเสียค่าเช่าห้อง และ พื้นที่เช่าค้าขายที่แพงขึ้นอีกด้วย และ สุดท้ายก็คือ ทำให้สินทรัพย์ของเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีที่ดินไม่มากนัก ต้องเสื่อมค่าด้อยค่าลงไปหรืออีกนัยก็คือ พวกเขาจนลงนั่นเอง

อย่าว่าแต่ 1 ไร่เลย ผมมีที่ดินไม่ถึง 50 ตรว.ด้วยซ้ำ ดังนั้นบทความนี้จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนนายทุนแต่อย่างใด ประเด็นอยู่ที่ว่า พวกเราได้มอง "พรบ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" นี้อย่างรอบด้านแล้วหรือไม่

ยกตัวอย่างกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์เคยทิ้งผลงานโบว์ดำเอาไว้ก็คือ "BIBF" ซึ่งมีเจตนาดีในการให้บริษัทเอกชนของไทยเข้าถึงแหล่งทุนจากต่างประเทศในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง แต่ในที่สุดแล้วกลับส่งผลเสียหายอย่างหนักที่ทำให้บริษัทต่างๆ กู้หนี้ยืมสินจนเกินตัว ทั้งเพื่อการลงทุนและเก็งกำไร จนในที่สุดเชื่อมโยงไปสู่ "วิกฤติต้มยำกุ้ง" ในที่สุด

พรบ.นี้อาจเป็นนโยบายดาบ 2 คมคล้ายๆ กับ BIBF ก็เป็นไปได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น