วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

รัดเข็มขัดการคลังอย่างไร...ให้เศรษฐกิจดีขึ้น

รัดเข็มขัดการคลังอย่างไร...ให้เศรษฐกิจดีขึ้น

ช่างเป็นคำถามที่ท้าทายอย่างยิ่งต่อนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก ที่กำลังหาหนทางในการแก้ไขวิกฤติหนี้สินสาธารณะ พร้อมๆ ไปกับการดูแลให้เศรษฐกิจยังคงดีอย่างต่อเนื่อง แต่พวกเขาก็มักจะทิ้งไว้แต่คำถามโดยแทบไม่เคยมีคำตอบให้เลย

หากเป็นเมื่อ 2 ปีก่อน ในเวลาที่ผมยังคงวนอยู่ในกรอบแนวคิดเศรษฐกิจมหภาคแบบเดิมๆ Y=C+I+(X-M)+(G-T) นั่นหมายถึง หากเราลด (G-T) ลง คือ รัฐบาลใช้จ่ายน้อยลง หรือเพิ่มภาษีต่างๆ มากขึ้น ซึ่งก็คือ การรัดเข็มขัดทางการคลังนั่นเอง ย่อมจะส่งผลทางลบต่อ Y หรือ GDP เป็นแน่ ตามหลักแนวคิดคณิตศาสตร์อย่างง่าย ผมก็คงยังคิดเหมือนๆ กับนักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปว่าคำถามแบบนี้ ไม่น่าจะมีคำตอบที่ดีๆ ได้แต่อย่างใด

ในปัจจุบันจะพบว่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งในยุโรป ญี่ปุ่นและอเมริกา ต่างก็ต้องพยายามหาทางรัดเข็มขัดการคลัง เพื่อดูแลปัญหาหนี้สาธารณะไม่ให้เกิดวิกฤติลุกลามอย่างสาหัสคล้ายกับกรณีของประเทศกรีซ แต่จะทำอย่างไร...เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจต้องย่ำแย่ลงอีกครั้งหนึ่ง นี่อาจเป็นโจทย์ที่ยากเย็นอย่างยิ่งของนักเศรษฐศาสตร์เลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ดี ผมได้เสนอแนวคิด เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) ไว้แล้ว ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดใหม่อันจะช่วยให้รัฐบาลสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น หรือ ลดรายจ่ายลงได้ โดยไม่มีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ โดยใช้หลักการยืมพลังจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะ กองทุนบำนาญ จะมีหลายๆ เรื่องกลับช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วยซ้ำไป ขอลองตอบโจทย์นี้สัก 9 เรื่องซึ่งอาจเป็นคำตอบของโจทย์ยากๆ ข้อนี้

1. สินเชื่อ999 : โดยให้ สปส. และ กบข. ค้ำประกันเงินกู้ให้กับผู้ประกันตน และสมาชิก ไม่เกิน 9 ส่วนของเงินออม อัตราดอกเบี้ย 9%ต่อปี และ ผ่อนได้สูงสุด 9 ปี วิธีนี้รัฐบาลจะได้ค่าธรรมเนียมฟรีๆ 1.5% ของสินเชื่อ อาจเป็นรายได้เพิ่มถึง 1 หมื่นล้าน โดยเศรษฐกิจจะดีขึ้นด้วยจากกำลังเงินที่เพิ่มขึ้นของประชาชนอีกหลายแสนล้าน

2. พื้นที่เช่า 999 : โดยให้จัดพื้นที่ค้าปลีกราคาถูก 999 บาทต่อเดือน ในสถานที่ราชการและรัฐวิสาหกิจ บ้านเอื้ออาทรค่าเช่า 999 ต่อเดือน รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และ ประชาชนจะมีเงินติดกระเป๋ามากขึ้นเช่นกัน เพราะ ค่าเช่าที่เคยจ่ายนั้นลดลง

3. ลดหย่อนภาษี 999 : ให้ลดวงเงินหักลดหย่อนภาษีทั้ง RMF,LTF และ ประกันชีวิต จากระดับ 5 แสน เหลือแค่ 9 หมื่นบาทเท่านั้น จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ รัฐบาลได้เงินเพิ่มอีก 1 หมื่นล้าน และ คนระดับเศรษฐีจะออมน้อยลงและนำเงินมาใช้จ่ายมากขึ้น

4. ดึงเงินจากกองทุนน้ำมัน : รัฐบาลเพิ่มภาษีสรรพสามิตได้อีกลิตรละ 1 บาท แต่ให้ลดเงินนำเข้ากองทุนน้ำมันลง 2 บาทต่อลิตร..ดังนั้นน้ำมันขายปลีกจะลดราคาลงได้ 1 บาทต่อลิตร ประชาชนใช้น้ำมันถูกลง แต่รัฐบาลได้ภาษีเพิ่มขึ้น ดึงเงินจากกองทุนน้ำมันมาช่วยนั่นเอง

5. โอนครอบครัวผู้ประกันตนเข้าระบบประกันสังคม : โอนบุคคลในครอบครัวของผู้ประกันตนราว 6 ล้านคน เข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งทำให้รัฐบาลประหยัดรายจ่ายไปได้ถึง 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีจากงบบัตรทอง (สปสช.) ขณะที่ประชาชนไม่มีคนเสียประโยชน์ เงินคุ้มครอง 4 กรณีซึ่งรวมการประกันสุขภาพด้วยของ สปส.ยังมีเหลืออยู่กว่า 9 หมื่นล้านบาท ยังรองรับภาระนี้ได้อีกหลายปี

6. เบี้ยกตัญญู 999: แทนที่จะได้รับเบี้ยยังชีพคนชราคนละ 500 บาทจากรัฐบาล ก็ผลักให้เป็นภาระของกองทุนประกันสังคมเสีย พ่อแม่ของผู้ประกันตนรับไปเลยคนละ 999 บาทต่อเดือน อาจโอนไปได้ 2 ล้านคน ทำให้รัฐบาลประหยัดรายจ่ายไปอีก 1.2 หมื่นล้าน

7. ต้อนรับการย้ายถิ่น 999K : รัฐบาลเปิดรับการย้ายถิ่นของคนชราจากประเทศพัฒนาแล้ว 9.99 แสนคน โดยประเทศเหล่านั้นมักให้งบอุดหนุนด้านสุขภาพต่อหัวอยู่ที่ราว 4-5 แสนบาท่ต่อคนชรา 1 คนอยู่แล้ว หากเกิดการย้ายถิ่นจริงไทยก็ของบจากประเทศเหล่านั้นได้เลยหัวละ 9.99 หมื่นบาท แบ่งคนละครึ่งระหว่าง รพ.ชั้นนำ และ รัฐบาลไทย ดูแลสุขภาพประชากรพวกเขาอย่างดี ขณะที่รัฐบาลมีรายได้เพิ่มรับไปเลย 5 หมื่นล้านบาทต่อปี และ ยังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมอีกมากจากประชากรที่มีเงินได้เงินบำนาญในระดับสูงกลุ่มนี้

8. ลงทุนสินค้าเกษตร 9.99% : รัฐบาลเดินหน้ากำหนดการลงทุนของกองทุนบำนาญทั้งหลาย สปส. กบข. สำรองเลี้ยงชีพ และ ประกันชีวิต ซึ่งรวมๆ แล้วน่าจะประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท ให้ต้องลงทุนในกองทุนรวมสินค้าเกษตร หรือ สัญญาซื้อล่วงหน้าในตลาด AFET ไม่ต่ำกว่า 9.99% ของเงินกองทุน... ด้วยวิธีง่ายๆนี้จะมีเงินสูงถึง 2.8 แสนล้านมาช่วยยกระดับสินค้าเกษตรแทนรัฐบาลเอง เอกชนจะรับภาระเก็บสต๊อกแทนรัฐบาลเอง เมื่อราคาสินค้าเกษตรอยู่ระดับสูง ภาระในการประกันรายได้เกษตรกรราวปีละ 4 หมื่นล้านก็ไม่ต้องจ่ายแล้ว

9. สมทบ กบข.0.99% : ลดเงินสมทบเข้า กบข.จาก 3% เหลือ 0.99% และ ข้าราชการเองก็สมทบด้วยเงินยอดเดียวกัน รัฐบาลก็จะประหยัดเงินไปได้ถึง 1 หมื่นล้านบาท และข้าราชการก็จะมีเงินเหลือมากขึ้นนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก

10.แถมๆ ให้หน่อยซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยได้เดินหน้าทำมาแล้ว ก็คือ การดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดในการบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ นักการเมือง และ ข้าราชการที่ทุจริตคอรัปชั่น โดยคดีของอดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลได้เงินเข้าคลังเพิ่มถึง 4.6 หมื่นล้านบาท และ ยังอาจมีเพิ่มได้อีกในอนาคต เป็นการรัดเข็มขัดโดยไม่มีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมเลยแม้แต่น้อย

นี่คือตัวอย่าง 10 วิธีง่ายๆ ที่จะรัดเข็มขัดการคลัง โดยที่มีผลดีต่อเศรษฐกิจอีกด้วย เป็นการตอบโจทย์ที่นักเศรษฐศาสตร์มักจะทิ้งคำถามซึ่งไร้คำตอบนี้เอาไว้.... "เราจะรัดเข็มขัดการคลังอย่างไรเพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้น"....เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) อาจเป็นคำตอบนั้นครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น