วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เตือนภัยสึนามิเศรษฐกิจ ตามติดดัชนีหุ้นจีน

เตือนภัยสึนามิเศรษฐกิจ ตามติดดัชนีหุ้นจีน

ประเทศจีนได้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และ เป็นประเทศที่มีการส่งออกสูงสุดของโลกไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า จีนกลายเป็นหัวรถจักรที่สำคัญยิ่งต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

ดัชนีหุ้น Shanghai Stock Exchange Composite Index นั้น สามารถใช้เป็นตัวแทนของดัชนีหุ้นจีน และ ผมเรียกมันว่า Super Leading Indicator เพราะ เป็นตัวชี้นำของดัชนีชี้นำเศรษฐกิจโลก อีกขึ้นหนึ่ง แปลความหมายก็คือ ดัชนีหุ้นจีน วิ่งนำ ดัชนีหุ้นโลก ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำที่สำคัญนั่นเอง

เมื่อย้อนดูในช่วงก่อนการฟื้นตัวของตลาดหุ้นนั้น ดัชนีหุ้นจีนได้แตะจุดต่ำสุดเดือน พฤศจิกายนปี 2008 ขณะที่ตลาดหุ้นโลกนั้นแตะจุดต่ำสุดที่ เดือน มีนาคม 2009 มีระยะห่างกัน 4 เดือน ขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจริงราวๆ เดือน พฤษภาคม หลังจากตลาดหุ้นโลกฟื้นตัว 2 เดือน อาจเป็นไปได้ว่า ด้วยค่า P/E ที่สูงมากถึงระดับ 30 เท่าของตลาดหุ้นจีน จัดได้ว่าเป็นตลาดที่เสี่ยงสูง และ มีการเติบโตสูงแห่งหนึ่ง การสะท้อนตอบต่อข่าวดี และ ข่าวร้าย จะเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่า และ เศรษฐกิจของจีนนั้นก็นับได้ว่านำหน้าเศรษฐกิจรวมของโลกด้วย

เมื่อมาดูตลาดหุ้นในปัจจุบันที่ได้แตะจุดสูงสุดในเดือน มกราคม ปีนี้ และได้ลดลงมาแล้วราว 25% ก็อาจสะท้อนได้ว่า ที่ดัชนีหุ้นโลกแตะจุดสูงสุดในกลางเดือน เมษายนที่ผ่านมา เป็นดัชนีที่วิ่งตามหลังดัชนีหุ้นจีนนั่นเอง และ หากเป็นเช่นนั้นจริง เศรษฐกิจโลก ซึ่งเห็นได้ว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤติการคลังในเขตยูโร ยังอาจได้รับผลกระทบแบบสึนามิจากประเทศจีนอีกด้วย ซึ่งเหตุการณ์นี้น่าจะเริ่มเด่นชัดขึ้นตั้งแต่เดือน มิถุนายน หรือ กรกฏาคม นี้เป็นต้นไป

เมื่อมาดูเศรษฐกิจจริงของจีน ก็พบว่ามีการชะลอตัวอย่างเด่นชัด โดยยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และ เสิ่นเจิ้น ได้ลดลงถึง 70% ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์ อาจเป็นไปได้ว่า ภาคการเงิน และ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ของประเทศจีน อาจประสบกับปัญหาภายในครึ่งปีหลังนี้อย่างหนัก ซึ่งจะกระทบต่อการลงทุน และ การส่งออก ภายในภูมิภาคนี้อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

การฟื้นตัวแบบ W นั้นได้มีการคาดการณ์โดยนักเศรษฐศาสตร์อยู่หลายสำนักแต่ก็ยังนับได้ว่าเป็นคนกลุ่มน้อย ที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้น คือ หากเศรษฐกิจโลก และ ไทย เกิดการถดถอยขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จะมีมาตรการอะไรเพื่อต่อสู้กับวิกฤติรอบ 2 นี้หรือไม่...เพราะ นโยบายการเงิน และ การคลัง ก็นำมาใช้กันอย่างเต็มที่แล้ว คำตอบสำหรับเรื่องนี้ดูเหมือนจะแทบไม่มีให้เห็น ให้ได้ยินกันเลย จนอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลทั่วโลกแทบไม่มีแผนสำรองไว้สำหรับวิกฤติรอบ 2 กันเลย

สำหรับตัวผมแล้ว มีข้อเสนอซึ่งอาจเป็นแผนสำรองที่ดีได้ คือ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) ซึ่งเป็นแนวคิดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องพึ่งพิงงบประมาณการคลัง แต่ใช้หลักการยืมพลังจากแหล่งอื่นๆ ไม่เพียง แต่สามารถแก้ไขวิกฤติการคลังได้เท่านั้น แต่ยังช่วยในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอีกด้วย และในเมื่อมีสัญญาณเตือนจาก Super Leading Indicator หรือ ดัชนีหุ้นจีน การฟื้นตัวแบบ W นั้นมีโอกาสสูงทีเดียว โดยไทยยังได้รับผลกระทบด้านลบจากการเมืองในประเทศอีกด้วย

ผมจึงขอเรียกร้องให้นักวิชาการ และ ผู้กำหนดนโยบายได้ศึกษาเรื่องนี้ให้ดี เพื่อเตรียมแผนสำรองในการรับมือกับ 3 วิกฤติ คือ วิกฤติหมูย่างในยุโรป (นำชื่อมาจาก PIIGS ในเขตยูโร) วิกฤติเกี๊ยวซ่าในจีน และ วิกฤติแหนมเนืองในเวียดนาม ล้วนเป็นชื่ออาหารที่อร่อยมากๆ แต่ในทางเศรษฐกิจแล้ว อาหารบนโต๊ะของครึ่งปีหลังนี้...คงไม่อร่อยเหมือนชื่อนักหรอกครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น