ปฏิรูปประเทศไทยอย่างไร ให้โดนใจคนรากหญ้า
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในเดือน เมษายน และ พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้สร้างความเศร้าใจ และ สูญเสียทั้งร่างกาย จิตใจ และ ทรัพย์สินต่อคนไทยเป็นจำนวนมาก ในอนาคตสิ่งที่ต้องคิดต่อไปก็คือ เราจะทำอย่างไรเพื่อปฏิรูปประเทศไทย แก้ไขปัญหารากเหง้า เพื่อไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่คนจนรากหญ้าจะต้องมาเรียกร้องความยุติธรรม และ ประชาธิปไตย ในเมืองกรุงกันอีก
ผมขอเสนอ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) เพื่อเป็นทางออกเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำอันนั้น โดยในปัจจุบันรัฐบาลยังสาละวนมองเหรียญเพียง 2 ด้านเท่านั้น คือ ในด้านของรายได้ ก็พยายามประกันรายได้ให้เกษตรกร มีการจ่ายเบี้ยยังชีพให้คนชรา และ ส่งเสริมการศึกษาและทักษะต่างๆ เพื่อให้คนรากหญ้ามีรายได้สูงขึ้น ส่วนในด้านของรายจ่าย ก็พยายามลดต้นทุนของการรักษาพยาบาล และ การศึกษา โดยสนับสนุนในด้านของการรักษาฟรี (สปสช.) และ การเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งก็เป็นการจัดการให้ความช่วยเหลือรายจ่ายเป็นรัฐสวัสดิการที่สำคัญของรัฐบาลชุดนี้
อย่างไรก็ดี มีเหรียญอีก 1 ด้าน ซึ่งเป็นด้านที่ 3 ซึ่งรัฐบาลอาจมองข้ามไปอยู่บ่อยๆ ก็คือ ด้านของความเหลื่อมล้ำของผลตอบแทนทุน คนชั้นสูงนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนทุนตรงนี้ผ่าน LTF โดยการประหยัดภาษีอาจได้ผลตอบแทนคาดหวังที่ 75% ต่อปีในปีแรก (ลงทุน 63% ได้ผลตอบแทนเป็นเงินภาษีคืน 37% และ ผลตอบแทนตลาดหุ้นอีก 10%) วิธีเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้คนชั้นสูงยิ่งรวยขึ้นจากการลงทุนเท่านั้น แต่ทำให้พวกเขามีการใช้จ่ายน้อยลงอีกด้วย ซึ่งผลกระทบต่อเนื่องก็คือ จะทำให้รายได้ของคนอีกกลุ่มหนึ่งหรือ คนรากหญ้า นั้นลดลงไปด้วย และ ด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ จึงยิ่งกดดันให้คนกลุ่มรากหญ้านั้นติดหนี้ติดสินมากขึ้นไปอีก และ นี่คือประเด็นว่า การสนับสนุนการออมด้วยการลดหย่อนภาษีนั้น...แท้ที่จริงแล้วอาจเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความเหลื่อมล้ำของชนชั้นยิ่งขึ้น
สำหรับคนรากหญ้านั้น ได้ผลตอบแทนด้านแรงงานเป็นบวกก็จริง แต่มีผลตอบแทนด้านทุนเป็นลบ คือ ตกอยู่ในสภาพของลูกหนี้ ดังนั้น การพยายามลดค่าใช้จ่าย รัดเข็มขัด เพื่อให้อยู่ได้เป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่ง โดยเฉพาะในสภาพที่เมื่อถูกนายทุนนอกระบบเอารัดเอาเปรียบ โดยพวกเขาต้องจ่ายเงินเพื่อให้ผลตอบแทนส่วนทุนนี้สูงถึง 120% ต่อปีขึ้นไปก็เป็นได้
เมื่อมาดูด้านการสนับสนุนการออมสำหรับแรงงานรากหญ้า ด้วยการบังคับออมโดยไม่ผ่อนปรนผ่านระบบประกันสังคม ได้ทำให้ผลตอบแทนส่วนทุนของผู้ประกันตนซึ่งส่วนใหญ่ คือ คนรากหญ้นั้น อยู่ที่ค่า -115% (คือ กู้นอกระบบ 120% ต่อปี ขณะที่ออมเงินกับ สำนักงานประกันสังคมได้ตอบแทนต่อปีเพียง 5%) เนื่องด้วยคนรากหญ้านั้นส่วนใหญ่มีหนี้สินอยู่แล้ว ผลตอบแทนของเงินทุนจึงติดลบ แต่แทนที่ สปส.จะปล่อยให้ผุ้ประกันตนนำเงินออมของตนเองมาแก้ไขปัญหาหนี้สิน ก็จะทำให้ผลตอบแทนเงินทุนเป็น ศูนย์ ได้ (คือ นำเงินออมไปคืนหนี้เงินกู้) ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าอย่างมากมาย
ดร.ยูนุส ผู้ก่อตั้ง กรามีนแบงก์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของ ไมโครเครดิต ทั่วโลกนั้น เพียงแค่ปล่อยกู้ให้รากหญ้าในระดับ 20% ต่อปี ก็สามารถเพิ่มผลตอบแทนทุน ของคนรากหญ้าจากระดับ -520% ต่อปี (ดบ.เงินกู้นอกระบบ 10% ต่อสัปดาห์) ซึ่งเป็นระดับการเป็นทาสเงินกู้ของนายทุน มาเป็น -20% ต่อปี ก็สามารถทำให้คนเหล่านั้น มีรายได้จากแรงงาน หักจากดอกเบี้ยจ่ายไปแล้ว สามารถมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างมากมายหลายล้านครอบครัว
และหากผู้ประกันตนที่ไม่มีหนี้สินส่วนตนมากนัก อาจนำเงินของตนเองไปปล่อยกู้ให้กับญาติมิตรสนิทได้อีก เช่นที่ 3% ต่อเดือน เขาจะได้ผลตอบแทนของทุนที่ 27% ต่อปี(36% หักด้วยต้นทุนเงินกู้ 9% ต่อปีของสินเชื่อ99 ที่ สปส.ค้ำประกันเงินกู้) แทบไม่น่าเชื่อ นี่ต้องเป็นมหัศจรรย์ของโลกเลยทีเดียว ที่ประเทศไทยสามารถยกระดับคนงานรากหญ้า ให้เป็น นายทุนได้ ภายในเวลา 9 วันเท่านั้นเอง
นี่แหละครับ คือ สิ่งที่คนรากหญ้าต้องการ พวกเขาต้องการผลตอบแทนของทุนที่สูงขึ้น จากระดับ ลบมากๆ มาเป็น ลบน้อยๆ ... และถ้าจะให้ดี ผลตอบแทนของทุน อาจสูงขึ้นสู่ระดับเป็นบวก นั่นหมายถึง พวกเขาได้เดินทางสู่การเป็นนายทุนย่อยๆ ได้แล้ว มันเป็น "ฝัน" ของชนชั้นรากหญ้าเลยนะครับ
สำหรับการปฏิรูปการเมืองนั้น...ผมได้เสนอในเรื่องของ "รัฐศาสตร์ไท้เก๊ก" ไว้แล้ว โดยเราต้องยืมพลังของชนชั้นรากหญ้าที่เป็นคนดี พร้อมทำเพื่อสังคม มาช่วยเหลือคนรากหญ้าด้วยกันเอง และ รักษาสมดุลแห่งอำนาจ ไม่ให้ สส.มีเพียงนายทุนและชนชั้นสูง แต่ สส.ต้องประกอบไปด้วยตัวแทนประชาชนที่เป็นชาวบ้านแท้จริงด้วย ด้วยการสร้างระบบการเลือก สส.แบบ ตัวแทนหมู่บ้าน เลือกมา 7.8 หมื่นคน แล้วจับสลากเอา ตามสัดส่วนประชากร จังหวัดใหญ่ก็จะได้ตัวแทนมากหน่อย และ ยกเลิกกฎที่ต้องจบปริญญาตรีซึ่งได้ลิดรอนสิทธิการเป็น สส.ของคนรากหญ้าออกเสีย วิธีนี้จะทำให้คนรากหญ้า มีโอกาสยกระดับขึ้นเป็น สส. ได้เงินเดือนเป็นแสน ได้เป็นตัวแทนคนในชุมชนของตนเองเพื่อแก้ไขกฎหมายต่างๆ มันเป็น "ฝัน" ของคนรากหญ้าอีกเช่นกันครับ
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ และ การเมือง ด้วย เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก และ รัฐศาสตร์ไท้เก๊ก จะทำให้คนรากหญ้าพึงพอใจอย่างมาก ความเหลื่อมล้ำลดลง และ เป็นการสร้างความปรองดองที่แท้จริงในประเทศไทยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น