ปฏิรูปเศรษฐกิจไทย สไตล์ 999
ทำไมต้องเป็นแบบ 999 ก่อนจะถึงตรงนั้น เรามาดูเรื่องของผลตอบแทนทุน และ แรงงานกันก่อน
หลังจากเห็นตัวเลขของสัดส่วนผลตอบแทนของแรงงานที่ลดลงจากระดับ 45% GDP เหลือเพียง 39% เท่านั้นในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมาก็ทำให้น่าเป็นห่วงยิ่งนัก เพราะ คนจนนั้นได้ผลตอบแทนจากแรงงาน แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนของส่วนทุนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก และ ความเหลื่อมล้ำนี้ก็ดูจะไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด เพราะ คนรวยนั้นได้ผลตอบแทนทั้งจากแรงงานเงินเดือนสูง และ ยังได้ผลตอบแทนจากส่วนทุนอีกด้วย
สมมติว่า คนขายเสื้อผ้าได้กำไรขั้นต้นต่อวันที่ 600 บาทแต่ต้องจ่ายเงินค่าเช่าที่วันละ 200 บาท จ่ายค่าดอกเบี้ยนอกระบบสำหรับเงินทุนหมุนเวียนวันละ 200 บาท จึงเหลือเงินกำไรสุทธิจากแรงงานขายที่ 200 บาทต่อวันเท่านั้น ซึ่งเป็นครึ่งเดียวของผลตอบแทนส่วนทุน (ค่าเช่า บวกกับ ดอกเบี้ย) แต่หากลดผลตอบแทนส่วนทุนลงได้ครึ่งหนึ่ง เหลือค่าเช่าวันละ 100 บาทดอกเบี้ยจ่ายวันละ 100 บาท ผู้ขายคนนี้จะได้กำไรสุทธิติดกระเป๋าซึ่งเป็นผลตอบแทนแรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 400 บาท ซึ่งสูงกว่าเดิมถึงเท่าตัว และ เป็น 2 เท่าของผลตอบแทนส่วนทุนอีกด้วย นี่คือ หลักคิดง่ายๆ ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินและความยากจน ด้วยการลดผลตอบแทนส่วนทุนลง เพราะ ส่วนนี้คือภาระของคนจนนั่นแหละ
ขณะที่รัฐบาลพยายามปรับหนี้นอกระบบ เข้าสู่ในระบบนั้น มีกฎเกณฑ์ 2 ข้อหลักคือ 1.ต้องมีหลักทรัพย์ หรือ บุคคลค้ำประกัน 2. ต้องไม่ติดเครดิตบูโร เราก็จะพบว่ามีเสียงบ่นกันมากว่า "หากผมมีเครดิตดีถึงขนาดนั้น คงไม่ต้องติดหนี้นอกระบบแต่แรกแล้ว" ดังนั้น บทสรุปตรงนี้ก็คือ คนที่ลงทะเบียนถึงกว่า 80% จะไม่ผ่านเกณฑ์ที่สามารถเข้าไปกู้ในระบบของแบงก์รัฐได้
นอกจากนี้ รัฐบาลพยายามผลักดันภาษีที่ดิน และ สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมองเผินๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะ คนรวยมีอสังหาริมทรัพย์มากก็ต้องเสียภาษีมากตามไปด้วย และ ภาษีแบบใหม่นี้จะเก็บได้ครอบคลุมครบถ้วนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เหมือนกับภาษีโรงเรือน ณ ปัจจุบัน ทำให้อนาคตรัฐบาลจะสามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่นั่นเป็นการมองเหรียญแค่ 2 ด้านเท่านั้น ขณะที่ "เหรียญย่อมมี 3 ด้านเสมอ" เหรียญอีกด้านก็คือ ภาษีที่เก็บเพิ่มและครบถ้วนนี้ จะถูกผลักไปยังผู้เช่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจนหรือไม่ มีแนวโน้มว่าอาจเป็นเช่นนั้นได้ และ นั่นหมายถึง คนจนต้องรับภาษีตัวนี้ไปรวมในค่าเช่านั่นเอง
ดังนั้น หากคิดจะลดผลตอบแทนส่วนทุนลง รัฐบาลต้องทุ่มเททรัพยากรที่มีเข้าแทรกแซงผ่านกลไกตลาด โดยพยายามให้คนจนเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ พื้นที่เช่าราคาถูกให้ได้ รวมถึงไม่ต้องช่วยเหลือคนรวยมากจนเกินไป โดยมีข้อแม้ว่าทุกเรื่องจะต้องไม่เป็นภาระงบประมาณ ผมขอเสนอ 3 เรื่องแบบ "999" ดังนี้
1. สินเชื่อ999 : คือ ให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และ กบข. ค้ำประกันเงินกู้ให้กับผู้ประกันตน และ สมาชิก ไม่เกิน 9 ส่วนของเงินออมแต่ละบุคคล ดอกเบี้ย 9% ต่อปี ผ่อนได้สูงสุด 9 ปี และ ได้รับเงินภายใน 9 วัน วิธีนี้จะส่งผลให้เงินถึงมือคนจนได้หลายแสนล้านบาท ซึ่งใหญ่กว่า "กองทุนหมู่บ้าน" หลายเท่าตัว คนจนจะประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายไปได้มากมาย โดยที่รัฐบาล และ กองทุนประกันสังคม ยังอาจได้รับเงินค่าธรรมเนียม และ ค่าค้ำประกันเงินกู้ฟรีๆ อีกนับหมื่นล้านบาทต่อปี
2. พื้นที่เช่า 999 : การจัดถนนคนเดินให้ผู้ประสบปัญหาที่ราชประสงค์นั่นนับเป็นแนวคิดที่ดีเลย ให้ใช้พื้นที่สาธารณะได้ฟรีเพื่อการค้าขาย ช่วยผู้ค้าได้หลายร้อยราย แต่หากจะช่วยคนระดับเป็นแสนเป็นล้านรายนั้น อาจจะต้องคิดให้กว้างไกลกว่านั้น
- พื้นที่เช่าเพื่อค้าปลีก : รัฐบาลอาจกำหนดเปิดสถานที่ราชการ และ รัฐวิสาหกิจทั่วประเทศจัดพื้นที่ว่างเปล่าเพื่อให้ประชาชนรายย่อยมาค้าขายได้ โดยคิดค่าเช่าถูกกว่าในห้างสัก 5 เท่าตัว จากเดือนละ 5 พันบาทเหลือแค่ 999 บาทต่อเดือน หรือวันละ 49 บาท ก็จะช่วยลดภาระค่าเช่าให้คนจนไปได้มากโข
- พื้นที่เช่าเพื่อทำกิน : ที่ดินว่างเปล่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งมีอยู่หลายแสนไร่ทั่วประเทศก็น่าจะนำมาให้เช่าราคาถูกสำหรับการเกษตรได้ในอัตราไร่ละ 999 บาทต่อปี
- พื้นที่เช่าเพื่ออยู่อาศัย : บ้านเอื้ออาทร หรือ บ้านมั่นคงที่ยังขายไม่ออก ก็นำมาให้เช่าราคาถูกๆ แบบเดือนละ 999 บาทก็พอ
หากนำไปปฏิบัติจริง รัฐบาล และ รัฐวิสาหกิจ ไม่ต้องเสียเงินเลยแม้แต่น้อย แต่กลับจะมีรายได้เพิ่มขึ้นนับหมื่นล้านบาทต่อปี
3. ลดการสนับสนุนเงินออมแบบ 999 : LTF, RMF และ ประกันชีวิต ควรลดวงเงินในการหักลดหย่อนภาษีลงเหลือไม่เกิน 9 หมื่นบาททั้ง 3 กรณีนั้น วิธีนี้รัฐบาลจะเก็บภาษีได้เพิ่มอีกนับหมื่นล้านบาท และ เงินที่ไม่ได้ออมของคนรวยส่วนนี้จะถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย
การที่รัฐบาลเข้าไปเพิ่มอุปทานของเงิน และ อสังหาริมทรัพย์เพื่อแทรกแซงตลาด ให้ลดผลตอบแทนของทุนลง (ดอกเบี้ย และค่าเช่า) จะช่วยให้คนจนมีรายได้จากแรงงานสุทธิ หลังหักภาระที่ต้องจ่ายผลตอบแทนส่วนทุนแล้ว เหลือพอต่อค่าใช้จ่ายที่กินอยู่อย่างพอเพียง เริ่มเก็บออมเงินเพื่อปลดหนี้สิน และ สร้างความมั่นคงยามเกษียณได้อีกด้วย
เลข 999 มหามงคลนี้อาจเป็นการรหัสสำคัญต่อสมการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ความยากจน และความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยก็เป็นได้ เพราะ เลข 999 อาจหมายถึง "ก้าว..ก้าว..ก้าว" หน้าหน่อยนะประเทศไทย ฝากให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องและรับผิดชอบต่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้ศึกษาในเรื่องนี้เพิ่มเติมอันอาจเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไปครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น