วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วิกฤติรอบ 2 แผนสำรองอยู่ไหน

วิกฤติรอบ 2 แผนสำรองอยู่ไหน

ปัจจุบัน วิกฤติในเขตยูโรโซนได้ส่งสัญญาณอันตรายว่าอาจลุกลามไปทั่วเขตยุโรป และ อาจขยายไปยังเขตอเมริกาใต้ รวมไปถึง ทั่วโลก็เป็นได้ ไม่เพียงเท่านั้น ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศจีน ทั้งยอดขายอสัหาริมทรัพย์ที่ลดลงไป 70% ในเมืองใหญ่ 3 แห่ง และ ยอดขายรถยนต์ในเดือน พ.ค.ที่ลดลงไป 7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ทั้งโลกเริ่มหวั่นเกรงการฟื้นตัวแบบ W หรือ double dip recession กันมากขึ้น

ในขณะที่นโยบายการเงิน รัฐบาลทั่วโลกได้ลดดอกเบี้ยต่ำมากๆ จนเฉียดศูนย์ และ เพิ่มปริมาณเงินจำนวนมากผ่านธนาคารกลางโดยการช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาล ส่วนด้านของนโยบายการคลังนั้น หลายประเทศก็ได้ทำการขาดดุลการคลังสูงถึงกว่า 10% GDP เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จนก่อให้เกิดความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะเริ่มต้นจากประเทศริมขอบยูโรโซน

ถึงแม้ว่าโลกจะพยายามใช้กระสุน หรือ นโยบายทั้ง 2 ด้านนั้นอย่างเต็มที่แล้ว ก็อาจเป็นไปได้ว่านั่นอาจไม่เพียงพอ ประเทศที่อ่อนแอ และ สถาบันการเงินที่อ่อนแอในประเทศเหล่านั้น อาจประสบกับปัญหาได้อีก แล้วโลกจะมีแผนสำรองที่จะใช้ต่อกรกับวิกฤติรอบ 2 ที่กำลังจะมาเยือนในช่วงครึ่งปีหลังนี้หรือไม่

ผมคิดว่า "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" Taji-Econ. อาจเป็นคำตอบนั้น โดยการลดวงเงินหักลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนการออม รวมไปถึง การใช้ "สินเชื่อ99" คือ ให้ สปส. และ กบข. ค้ำประกันเงินกู้ให้กับผู้ประกันตน และ สมาชิก ไม่เกิน 9 ส่วน ดอกเบี้ย 9% ผ่อน 9 ปี และ ได้เงินภายใน 9 วันเท่านั้น โดยที่ 2 เรื่องนี้เป็น 2 กระบวนท่าสำคัญใน 18 กระบวนท่าเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก นั่นเอง

โดยจะเกิดผลดีถึง 9 ทางด้วยกันดังต่อไปนี้
1. กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี โดยการยืมพลังของ stock (กองทุนบำนาญ) มาช่วย flow (จีดีพี) และ ยืมพลังเจ้าหนี้ (กองทุนบำนาญ) มาช่วยลูกหนี้ (รัฐบาล) นี้ จะช่วยเพิ่มการใช้จ่ายของคนรวยมากขึ้น และ คนรากหญ้าจะประหยัดการผ่อนหนี้ลง เหลือเงินติดกระเป๋าเพื่อใช้จ่ายได้มากขึ้นอีกด้วย
2. รัฐบาลไม่เสียเงินเลย แต่ยังได้รับเงินเพิ่มอีกด้วย จึงไม่เป็นภาระการคลังแม้แต่น้อย โดยเก็บภาษีได้มากขึ้นจากคนระดับบนที่ลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการออมลงได้เงินภาษีเพิ่ม 1 หมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังได้รับเงินค่าธรรมเนียมกินเปล่า จาก "สินเชื่อ99" อีก 1.5% ต่อปีของยอดสินเชื่อซึ่งอาจสูงถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปีอีกด้วย
3. เพิ่มผลตอบแทนให้กับกองทุนบำนาญ เพิ่มความมั่นคงและเสถียรภาพสูงขึ้น โดยกองทุนประกันสังคม จะได้รับเงิน 1.5% เป็นค่าค้ำประกันสินเชื่อ99 อาจทำให้ได้รับเงินผลตอบแทนสูงขึ้นถึง 5 พันล้านบาทต่อปี
4. แก้ไขปัญหาหนี้สิน และ ความยากจนอย่างยั่งยืน โดยเป็นการเพิ่มผลตอบแทนทุนให้กับคนจน จากระดับ -120% ต่อปี (หนี้นอกระบบ) เป็น -9% ต่อปีเท่านั้น เมื่อคนจนจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง จึงได้รับผลตอบแทนของแรงงานเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น ส่งผลให้มีรายได้ สูงกว่า รายจ่าย และ เริ่มเก็บออมเพื่อปลดหนี้สิน และ สร้างความมั่งคั่งได้ในระยะยาว
5. ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม : โดยคนรวยจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีลดลง แม้รัฐบาลพยายามบอกว่าจะเก็บภาษีทรัพย์สิน แต่สิ่งที่ทำในปัจจุบันด้วยกรส่งเสริมการออมผ่าน LTF, RMF และ ประกันชีวิตนั้น แท้ที่จริงแล้วผลลัพธ์คือตรงกันข้าม เป็นการนำเงินภาษีที่ควรจะเก็บได้ โยนเข้าเป็นสินทรัพย์เพิ่มให้กับคนรวยต่างหาก จำเป็นต้องลดการสนับสนุนส่วนนี้ลง สำหรับ "สินเชื่อ99" นั้น รัฐบาลจะลดผลตอบแทนส่วนทุนของนายทุนนอกระบบลง เพราะคนจนก็จะเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องสนใจต่อ หลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน รวมไปถึง เครดิตบูโร อีกด้วย ในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมและ ผ่อนได้ระยะยาว
6. ความเสี่ยงที่จะกระทบต่อระบบการเงินของประเทศจะต่ำมาก เพราะ เงินนั้นกองอยู่ในเงินกองทุนประกันสังคมอยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวลต่อการเบี้ยวหนี้ หรือ NPL เลยแม้แต่น้อย หากใครเบี้ยวหนี้ สปส.ก็ยึดเงินได้เลย ซึ่งสิ่งนี้จะแตกต่างกับ กองทุนหมู่บ้าน หรือ ธนาคารประชาชน
7. ลดปัญหาหนี้เสีย (NPL) ในระบบการเงิน เพราะ ประชาชนจะได้รับเงินมาหมุนในระบบมากขึ้น
8. ประชาชนจะมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น ปลดหนี้สินนอกระบบไปได้ ความเครียดในการใช้ชีวิตจะลดลงมาก
9. เป็นการสนับสนุนให้คนจนพึ่งพาตนเองได้ และ สนับสนุนให้คนจนช่วยเหลือ คนจนด้วยกันเองได้ผ่านการยืมเงินออมตนเอง เพื่อปล่อยกู้ให้กับญาติสนิทมิตรสหาย จะเกิดความภาคภูมิใจในตนเองในกลุ่มคนจนเพิ่มขึ้นอย่างมาก

จากอดีตถึงปัจจุบัน แทบไม่มีนโยบายของรัฐบาลเลย ที่จะให้ผลดีครบทั้ง 9 ประการเช่นนี้ นอกจากนั้น ผมเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เศรษฐกิจไทยและโลก อาจเผชิญกับมรสุมทางเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสพอตัว และ เราจำเป็นต้องเตรียมแผนสำรองไว้ นอกเหนือไปจากแผนหลัก คือ นโยบายการเงิน และ การคลัง โดย เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก Taiji-Econ. คือ แผนสำรองที่ผมขอนำเสนอครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น