วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

คิดนอกกรอบ ตอบอย่างเคนส์

คิดนอกกรอบ....ตอบอย่างเคนส์

จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ถือได้ว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 มีการยกย่องให้เป็นผู้กอบกู้ชีวิตของระบอบทุนนิยมเอาไว้เมื่อ 80 ปีก่อน ในสมัยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก ด้วยการนำเสนอทฤษฎีเคนส์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เคนส์ได้ตอบโจทย์เศรษฐกิจยากๆ ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ผมจะลองสวมวิญญาณของเคนส์เพื่อลองตอบโจทย์ปัจจุบันดูบ้าง

1.ชี้จุดอ่อนทฤษฎีเก่า : โจทย์ก็คือ จุดอ่อนของทฤษฎีเดิมๆ คืออะไร ?? สำหรับเคนส์แล้วทฤษฎีเก่าก็คือเศรษฐศาสตร์คลาสสิค การกดดอกเบี้ยจนเหลือศูนย์ก็ยังไม่สามารถจะฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้ แม้สภาพคล่องจะมีล้นเหลือ เพราะ ความเชื่อมั่นในการลงทุนไม่มี คนว่างงานมีมาก อุปสงค์รวมมีน้อยเกินไป เคนส์ตั้งชื่อสิ่งนี้ไว้ว่า “กับดักสภาพคล่อง” (Liquidity Trap)

ผมขอชี้จุดอ่อนของทฤษฎีเคนส์ คือ การที่หนี้สาธารณะสูงขึ้นทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยจำนวนมาก การใส่เงินเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงิน รวมไปถึงการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนบำนาญและ ให้หักลดหย่อนภาษีได้จำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการ “คืนพลัง” จาก flow เป็น stock ทำให้ผลของตัวทวีคูณลดลงไปมาก ซึ่งก็คือผลบวกของนโยบายการคลังนั้นหดหายไปแทบจะหมดสิ้น นอกจากนี้การออกพันธบัตรรัฐบาล คือ เป็นการดูดพลังของชนชั้นกลางในประเทศแทนที่จะสามารถบริโภคเพื่อหมุนเศรษฐกิจได้ กลับถูกนำไปสะสมเป็นเงินกองทุนบำนาญซึ่งลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสูงราว 70-80% ส่งผลให้กำลังซื้อรวมของประเทศชะลอตัว ผมเรียกสิ่งนี้ว่า “กับดักเคนส์” (Keynes Trap)

นอกจากนั้นผมคิดว่าปัจจัยชี้วัดความสำเร็จของทฤษฎีเคนส์ ก็คือ “โครงสร้างประชากร” หากเป็นแบบพิระมิดเหมือนสมัย 80 ปีก่อน ก็มีโอกาสสำเร็จสูง เพราะ เยาวชนจำนวนมากจะเติบโตขึ้น มาเป็นแรงงานเพื่อให้เศรษฐกิจดี และ รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น แต่หากค่าเฉลี่ยอายุประชากรสูงกว่า 40 ปีเสียแล้ว โอกาสที่จะประสบความสำเร็จนั้นน้อยมาก ญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยของประชากรที่ 44 ปี สูงที่สุดในโลก และ มีตัวเลขหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน ขณะที่ กรีซ และ อิตาลี นั้น มีทั้ง 2 ค่า อยู่ในระดับ top ten ของโลก ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการใช้ทฤษฎีเคนส์ในยุคปัจจุบันกับประเทศพัฒนาแล้วซึ่งประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ...น่าจะล้มเหลว

2.คำเตือนเรื่อง paradox : โจทย์คือ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีประชาชนควรออมมากๆ ใช่ไหม ?? เคนส์ได้เตือนในเรื่องของ “ความขัดแย้งของความมัธยัสถ์” (Paradox of thrift) หมายถึงหากแต่ละบุคคลพยายามอดออมประหยัดแล้ว เศรษฐกิจโดยรวมก็อาจไม่ฟื้นตัว ทำให้รายได้โดยรวมลดลง และ ในที่สุดแล้วจะทำให้การออมโดยรวม รวมไปถึงการออมของแต่ละบุคคลนั้นกลับลดลงนั่นเอง

ขณะที่ผมมองในมุมของ stock ก็จะเรียกว่า “ความขัดแย้งของกองทุนบำนาญ” (Paradox of pension) หมายถึงว่า ในเชิงมหภาค หากประชาชนมุ่งเก็บออมในกองทุนบำนาญมากๆ โดยที่รัฐบาลก็พยายามสนับสนุนทางการส่งเงินสมทบและหักลดหย่อนภาษีแล้ว เศรษฐกิจก็จะมี flow น้อยลงส่งผลลบต่อ GDP อาจทำให้เงินที่เข้ากองทุนบำนาญนั้นน้อยลงในที่สุดเพราะ ทั้งเอกชนและรัฐบาลเหลือเงินน้อยลง หากมองในด้านบุคคลแล้ว การบังคับออมเงินในกองทุนประกันสังคม จะทำให้ผู้ประกันตนรายได้น้อย เงินขาดมือ จำเป็นต้องกู้เงินดอกเบี้ยโหดทั้งในและนอกระบบ สิ่งนี้จึงไม่ได้ทำให้ผู้ประกันตนมั่งคั่งมั่นคงตามแนวคิดประกันสังคม แต่กลับทำให้ผู้ประกันตนยากจนลงต่างหาก

3. ทฤษฎีใหม่ : โจทย์คือ แล้วจะมีทางแก้ปัญหาใหม่ๆ หรือไม่ ??? สำหรับเคนส์แล้วสิ่งใหม่นั้นก็คือ ทฤษฎีเคนส์ นั่นเอง ในยุคนั้นถือเป็นแนวคิด “นอกกรอบ” ที่จะให้รัฐบาลกู้เงินมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้แต่ประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของเคนส์ ก็ยังไม่กล้านำมาใช้ ต้องรอให้ประเทศญี่ปุ่นเริ่มใช้ก่อน ตามมาด้วยอเมริกา เมื่อเห็นผลดีจึงขอตามใช้ด้วย หลังจากนั้นได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในหมู่นักการเมืองทั่วโลก ไม่เพียงแต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่านั้น แต่รัฐบาลสามารถนำเงินในอนาคตมาใช้จ่ายเพื่อแจกเงินให้กับประชาชนอันเป็นการเพิ่มคะแนนนิยม นอกจากนั้น เมื่อเงินอยู่บนโต๊ะมากขึ้น ก็หมายถึง โอกาสที่เงินจะตกใต้โต๊ะและเขี่ยเข้ากระเป๋าตัวเองมีมากขึ้นด้วย เมื่อได้ทั้งคะแนนนิยมได้ทั้งเงินใต้โต๊ะ นักการเมืองจึงนิยมเคนส์มากๆ แทบทุกประเทศในโลกจึงใช้ทฤษฎีเคนส์ในช่วงเวลาวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ทฤษฎีเคนส์ได้ทิ้งมรดกปัญหาหนี้สาธารณะก้อนโตเอาไว้ ณ ปัจจุบัน

สำหรับผมแล้ว ทฤษฎีใหม่ก็คือ เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taji-Econ.) ด้วยการให้รัฐบาลพยายามรักษาสมดุล โดยยืมพลังจากแหล่งต่างๆ ทั้งกองทุนบำนาญ แบงก์รัฐ ตลาดสินทรัพย์ คนเกษียณต่างด้าว ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐี ฯลฯ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแทนการเพิ่มหนี้ภาครัฐไปเรื่อยๆ ยืมพลังของสิ่งหยุดนิ่ง (stock) มาเป็น สิ่งเคลื่อนไหว (flow) ด้วยเงินก้อนเดียวกันจะมีผลต่อ GDP ได้มากขึ้นเป็นร้อยเท่าตัว ทฤษฎีเคนส์ก็เหมือนรถยนต์รุ่นเก่าที่ใช้แต่น้ำมัน แต่แนวคิดของ Taiji-Econ. นั้น เสมือนรถไฮบริด ที่ใช้ได้ทั้งพลังงานน้ำมัน และ ยืมพลังงานไฟฟ้าได้อีกด้วย จึงส่งให้มีมลพิษ (หนี้สาธารณะ)ที่ต่ำกว่า

4.ผลิตภัณฑ์ใหม่ : โจทย์คือ มีผลิตภัณฑ์ใหม่ทางการเงินไหม ??? เคนส์ได้เสนอ “พันธบัตรรัฐบาล” ณ ตอนนั้นแทบไม่มีคนรู้จัก แต่ตอนนี้ก็ใช้กันแพร่หลายมากๆ เป็นตัวเชื่อมการขาดดุลการคลังเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะที่ผมได้เสนอ “สินเชื่อ999” ซึ่งเป็นสินเชื่อที่อิงกับเงินออมในกองทุนบำนาญไม่เกิน 9 ส่วนของเงินออมนั้น ดอกเบี้ย 9% และ ผ่อนได้ 9 ปี จะช่วยสร้าง flow ขึ้นมาจาก stock ได้หลายแสนล้านบาท

และ “พันธบัตรประกันสังคม” (Social Security Bond) โดยแนวคิดสุดขั้วนี้ เพื่อเปลี่ยนสภาพของกองทุนประกันสังคมที่เป็นเจ้าหนี้ให้สามารถเป็นลูกหนี้ได้ ในอนาคตอีก 25 ปี สปส. อาจจะต้องขายสินทรัพย์เพื่อมาจ่ายเงินบำนาญให้กับผู้ประกันตน แต่แนวคิดนี้จะยอมให้ สปส.กู้เงินในรูปพันธบัตร หรือ กู้ผ่านแบงก์รัฐได้ จะทำให้เกิด flow ขึ้นใหม่จาก สินทรัพย์ของกองทุนประกันสังคม (stock) สินทรัพย์ของ กองทุนประกันสังคมจึงไม่หมดไปเหมือนอย่างที่หลายๆ ฝ่ายกังวลกันไว้

ผมเชื่อว่ามีนักเศรษฐศาสตร์ไม่มากนักที่จะยืนอยู่ “นอกกรอบ” ของสำนักคลาสสิค และ สำนักเคนส์ แต่อย่าลืมว่า หากเคนส์ไม่นอกกรอบ มาถึงวันนี้พวกเราอาจไม่รู้จัก “ทฤษฎีเคนส์” ก็เป็นได้ และหากโลกเราไม่มีนักฟิสิกส์ที่ปราดเปรื่องและกล้าหาญอย่างไอน์สไตน์ ที่นอกกรอบ “กฎของนิวตัน” ในวันนี้ พวกเราอาจจะยังไม่รู้จักพลังงานนิวเคลียร์ และ ทฤษฎีสัมพัทธภาพก็เป็นได้นะครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. ทำไมพี่ถึงคิดว่า ทฤษฎีใหม่ เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก
    จะใช้ได้ผลตามที่ได้กล่าวมาครับ เคยมี Case Study ที่ไหนหรือปล่าว?
    ใครเป็นคนค้นคิดครับ

    ตอบลบ
  2. คิดว่าน่าจะได้ผลดีกว่า การใช้นโยบายการคลัง...แบบปัจจุบัน
    ประเทศพัฒนาแล้ว มีหนี้สินสาธารณะสูงมากๆ และ มีแนวโน้มเพิ่มตลอด ตามอายุเฉลี่ยของประชากร...ปัญหานี้หนักหนาครับ

    ประเทศไทยก็เคยใช้มาบ้างเล็กน้อย...เช่น การลดเงินสมทบประกันสังคม จาก 5% เหลือ 3% ทำให้สิ่งที่เป็น stock กลับกลายเป็น flow จะส่งผลให้ GDP เพิ่มขึ้นได้ราว 5 หมื่นล้านบาท

    ใครเป็นคนค้นคิด.... ผมเองครับ

    ตอบลบ