วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

3 ปัญหาเศรษฐกิจ 3 วลีฮอต และ 3 ยอดคน

3 ปัญหาเศรษฐกิจ 3 วลีฮอต และ 3 ยอดคน

ปัญหาเศรษฐกิจทั้ง 3 นั้น มี 1 ประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากตอนนี้ก็คือ เรื่องของค่าเงินบาทแข็ง เราควรจัดการแก้ไขอย่างไรในแนวทางของเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) มาดูกันทีละเรื่องได้เลย

1.ปัญหาวิกฤติการคลัง : เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาหนักสำหรับประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมาก แต่สำหรับไทยเรายังคงพอรับมือได้ “รัดเข็มขัดการคลังอย่างไรให้เศรษฐกิจดีขึ้น” เป็นบทความนี้ผมได้นำเสนอไปแล้ว โดยเน้นที่ประเด็นการยืมพลังจากแหล่งต่างๆ ทั้ง กองทุนบำนาญ ตลาดสินทรัพย์ คนต่างด้าวเกษียณ มาเพื่อช่วยรัฐบาลในการสร้างอุปสงค์รวมให้สูงขึ้น แทนการใช้งบประมาณตรงๆ

2.ปัญหาเงินบาทแข็ง..... เรื่องนี้น่าสนใจทีเดียว หากเป็นปัจจุบันก็คือใช้พลังของ ธปท.ล้วนๆ ด้วยการดูแลอัตราดอกเบี้ยไม่ให้เกิดส่วนต่างกับอเมริกามากเกินไป และ เข้าแทรกแซงด้วยการซื้อดอลลาร์และดูดซับสภาพคล่องด้วยการออกพันธบัตร ธปท. และ กู้เงินจากแบงก์พาณิชย์เป็นบาท ซึ่งดร.โกร่งได้เสนอไว้นั้น แนวคิดแรก็สมควรทำอยู่นะครับ แต่แนวคิดหลังนั้นทำไม ธปท.ไม่ยิ้มรับ คำตอบนั้นง่ายๆ ก็คือ ธปท.เคยสู้มาแล้ว เคยแพ้มาแล้ว เคยเจ็บมาแล้ว ขาดทุนแล้วหลายแสนล้านบาท นี่คือ แนวคิดแบบ “มวยเส้าหลิน” คือ สู้กันตรงๆ วัดที่ความแข็งแกร่ง และ ธปท.ก็รู้ว่าเอาชนะสารพัดกองทุนระดับโลกไม่ได้ สู้แพ้มาตลอด สินทรัพย์เป็นเงินต่างประเทศก็ด้อยค่าลง หนี้สินที่เป็นเงินบาทกลับแข็งค่า มีหนี้สินกับแบงก์พาณิชย์นั้นสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท เฉพาะดอกเบี้ยธปท.ก็ต้องจ่ายเป็นเงินถึงปีละ 5 หมื่นล้าน สูงกว่าดอกเบี้ยรับอย่างต่อเนื่อง และ ส่วนทุนของแบงก์ชาติก็ติดลบไปเสียแล้ว ถ้าเป็นบริษัทก็เรียกได้ว่า เกือบๆ ล้มละลาย ถ้าเป็นคนก็เข้าขั้นบาดเจ็บสาหัสอาการปางตาย ดังนั้น การต่อสู้ในสมรภูมิเงินบาทครั้งนี้ ไม่เพียงช่วยผู้ส่งออก และ เกษตรกรเท่านั้น ยังช่วยชีวิต ธปท.ไว้ด้วย หากเงินบาทอ่อนลง 3% ก็จะทำให้ส่วนทุนของ ธปท.สูงขึ้นถึง 1 แสนล้านบาท และแนวคิดแบบไท้เก๊กอาจจะช่วยเรื่องนี้ได้

ด้วยหลักการของเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก ก็คือ การยืมพลังสะท้อนพลัง ในเมื่อกองทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาซื้อตราสารหนี้โดยเฉพาะของภาครัฐเป็นจำนวนมาก ธปท.ควรจะยืมพลังจากภาครัฐบาล ภาคเอกชน กองทุนบำนาญ และ แบงก์พาณิชย์ รวม 5 นิ้วเป็น 1 ฝ่ามือเพื่อสะท้อนพลังกองทุนต่างชาติกลับไป เมื่อดู 5 มาตรการที่ประกาศออกมานั้น คือ ยืมพลังภาคเอกชนแบบขอร้องให้ช่วยๆ ธปท.หน่อย แต่ดูเหมือนว่าไม่น่าจะได้ผลดีนัก ธปท.ควรต้องยืมพลังของอีก 3 ฝ่ายมาให้ได้

1. ให้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ คืนเงินกู้ต่างประทศ หรือ ป้องกันความเสี่ยง อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของหนี้สินต่างประเทศทั้งหมดก่อนสิ้นปี 54 เงิน 2 แสนล้านก็พร้อมไหลออกมาสู้

2. ให้กำหนดสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศของกองทุนบำนาญไปเลย ว่าต้องไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับนานาชาติ ก่อนสิ้นปี 54 และ ต้องไม่มีการเฮดจ์ใดๆ ทั้งสิ้น จะทำให้เงินราว 3 แสนล้านบาทพร้อมไหลออกมาสู้

3. ยืมพลังแบงก์พาณิชย์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของ ธปท.มาช่วย โดยกำหนดให้ต้องลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศโดยไม่มีการเฮดจ์ เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 5% ของสินทรัพย์รวม ดังนั้น เราจะได้เงินไหลออกอีก 5 แสนล้านก่อนสิ้นปีหน้า

ด้วยหลักการยืมพลังแบบไท้เก๊กเช่นนี้เอง กำหนดให้ก่อนสิ้นปีนี้ดำเนินมาตรการไปอย่างน้อยครึ่งทาง ก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณไปยังนักเก็งกำไรว่า เงินบาทไม่จำเป็นต้องมีแนวโน้มแข็งค่าอยู่ทางเดียว อาจจะอ่อนค่าลงก็ได้ เพราะ มีเงินไหลออกแน่นอน 5 แสนล้านก่อนสิ้นปีนี้ และ 1 ล้านล้านบาทก่อนสิ้นปีหน้า ซึ่งก็เป็นเงินที่มากพอจะทำให้นักเก็งกำไรต้องหยุดคิดหลายตลบอยู่เหมือนกัน

3.ปัญหากองทุนประกันสังคมมีเงินทุนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วจะมีปัญหาแน่ในอีก 10 ปี ขณะที่ไทยคงมีปัญหาอีก 30 ปีข้างหน้า ก็อาจใช้แนวคิดที่ “สุดขั้ว” ไปบ้าง แต่ความจริงแล้ว “สุดขั้ว” ก็คือ คำแปลของ “ไท้เก๊ก” (Taiji) เป็นภาษาไทยนั่นเอง จากมีแนวคิดปัจจุบันที่เสนอให้เพิ่มอัตราเงินสมทบ ลดเงินบำนาญจ่าย หรือ ยืดอายุการเกษียณออกไปนั้น ผู้ประกันตนจะไม่พอใจได้......ทางแก้ไขก็คือ แนวคิดให้กองทุนประกันสังคมยืมเงินจากแบงก์รัฐ สร้างหนี้สินต่อทุนได้ไม่เกิน 1 เท่า จากสภาพ “เจ้าหนี้” ณ ตอนนี้ก็ยอมให้เป็น “ลูกหนี้” ได้ สปส.อาจกู้เงินได้ถึง 7 แสนล้าน ด้วยวิธีเช่นนี้จะเป็นการเพิ่ม flow ให้เกิดขึ้น เพื่อมาจ่ายเงินบำนาญให้ผู้เกษียณอายุได้โดยที่เงินทุนยังเพียงพอ นอกจากนี้ยังนำเงินไปเพิ่มสินทรัพย์ เพิ่มผลตอบแทนได้อีกด้วย แม้ในช่วงแรกภาระในการจ่ายเงินบำนาญจะสูงขึ้น แต่ในที่สุดแล้วโครงสร้างประชากรจะทรงตัว และ ภาระเงินบำนาญจะลดลงในที่สุด ดังนั้น สปส.น่าจะสามารถคืนเงินกู้ได้อย่างไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ผมขอยอมรับว่าทึ่งในความลึกล้ำเคล็ดไท้เก๊กมากๆ เพราะแนวคิดแก้ปัญหาข้อ 2-3 นั้นซึ่งติดค้างอยู่หลายปีนั้น ได้มาจากเคล็ดวิชาไท้เก๊กในภาพยนตร์จีน 18 ปีก่อน “มังกรไท้เก๊ก” (Tai Chi Master) ที่มีโอกาสมาดูอีกครั้ง จางซันฟง (แสดงโดย Jet Li) ปรมาจารย์ไท้เก๊ก ได้พูดกับตัวเองว่า “รักษาสมดุล” “ยืมแรงผลักดัน” และ “นิ่งคือขยับ ขยับคือนิ่ง” นี่แหละคือ 3 วลีสำคัญยิ่ง ท่านผู้อ่านลองไปดูผ่าน youtube แล้วอาจค้นพบสิ่งดีๆ และพูดแบบพระเอกในเรื่องก็ได้ว่า “รู้สึกว่าข้าคิดอะไรขึ้นมาได้นะ...” และ “อะไร” นั่นก็คือ “มวยไท้เก๊ก” อันโด่งดังที่คิดขึ้นมาได้เพื่อโค่นศัตรู ซึ่งเป็นอดีตเพื่อนซี้ที่ถูกขับออกจากสำนักเส้าหลินด้วยกัน แต่ผู้ร้ายเห็นแก่ลาภยศจึงทรยศหักหลังเพื่อน ก่อนที่จะค้นพบมวยไท้เก๊ก จางซันฟงเคยใช้มวยเส้าหลินสู้...แต่ก็เอาชนะไม่ได้

หากแนวคิดเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) ถูกนำไปต่อยอดและนำไปใช้ปฏิบัติแก้ไขปัญหาได้ผลดีจริง บางทีพวกเราควรจะต้องคารวะขอบคุณ 3 ยอดคนนี้ ท่านแรกคือ เล่าจื๊อ ปรมาจารย์แห่งปรัชญาเต๋า ท่านที่ 2 คือ จางซันฟง ปรมาจาย์แห่งมวยไท้เก๊ก และ ท่านที่ 3 ก็คือ.... สุดยอดจอมยุทธนักแสดง... Jet Li ไงละครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น