จากทุนนิยมและเชิงพุทธ…รุดสู่ไทเก๊ก
บทความนี้จะเป็นการชี้ให้เห็นถึงแนวคิดปรัชญา เป้าหมาย และ เงินบำนาญ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบของเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ และ เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก ว่าแตกต่างกันอย่างไรบ้าง สำหรับผมแล้ววิชาการต่างๆที่เรียนในระดับปริญญาตรี คือ เรื่องของ “เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม” แต่ผมได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ “เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ” และล่าสุด 2 ปีที่ผ่านมานี้ได้คิดค้น “เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก” (Taiji-Econ.) ทั้ง 3 เรื่องมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ดังนี้
1. ปรัชญาที่สนับสนุนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์
เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม นั้น ยึดหลักจากปรัชญาตะวันตก อิงกับศาสนาคริสต์เป็นหลัก ต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ หากผู้คนศรัทธาในพระเจ้า ตั้งใจเป็นคนดี ตั้งใจทำงาน ตั้งใจเก็บออมเงินแล้ว มีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว พระเจ้าย่อมดลบันดาลให้ร่ำรวยและมีความสุขได้อย่างแน่นอน
เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ นั้นชัดเจนว่ายึดหลักปรัชญาขั้นสูงสุดของอินเดีย คือ พุทธศาสนา เน้นการลดละเลิก ความสมถะไม่สะสมเงินทอง เน้นการไม่ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก ยึดหลักปรัชญาขั้นสูงของจีน คือลัทธิเต๋า รักษาสมดุลแห่งหยิน-หยาง การยืมพลังสะท้อนพลัง
2. ความโลภ
เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม มองความโลภเป็นสิ่งที่ไม่ได้เลวร้ายนัก จะช่วยให้คนได้ตั้งใจพยายามทำงาน ตั้งใจเก็บออมลงทุน เพื่อสะสมสินทรัพย์สร้างความมั่งคั่ง นอกจากนี้ยังเชื่อว่ามนุษย์มีความโลภไม่จำกัด แต่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดเราจึงต้องหาวิธีจัดสรรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในบางครั้งความโลภที่มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดการเก็งกำไรเกินควรจนก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้
เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ มองความโลภเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็น 1 ในกิเลส 3 ประการที่สำคัญ การควบคุมดูแลความโลภจึงเป็นเรื่องที่ควรจะต้องกระทำอันดับแรก เมื่อความโลภน้อยก็จะบริโภคน้อยแต่มีความสุขได้
เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก มองโลกตามความเป็นจริงว่า ประชาชนไม่ใช่พระโสดาบัน ความโลภในหมู่ประชาชนนั้นมีอยู่จริง ต้องหาวิธีการดูแลผ่านนโยบายต่างๆ เพื่อให้ “ความโลภ” อยู่ในระดับเหมาะสม
3. เป้าหมาย
เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม เน้นเป้าหมายที่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ การบริโภคมากๆ คือความสุข ความมั่งคั่งคึกคักร้อนแรง คือ เป้าหมายแบบพลัง “หยาง”
เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ เน้นเป้าหมายที่การบริโภคน้อย แต่ดำรงชีพอย่างมีความสุข เบียดเบียนโลกให้น้อย เน้นการลดละเลิก นิ่งสงบเย็น แม้ว่าอาจส่งผลลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ได้ เหล่านี้ล้วนเป็น เป้าหมายแบบพลัง “หยิน”
เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก คือ มีเป้าหมายเพื่อรักษาสมดุลแห่ง “หยิน-หยาง” นั้น
4. เงินกู้และเงินบำนาญ
เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม จะให้การลดหย่อนภาษีกับการออมของเศรษฐี ขณะเดียวกันจะบังคับออมกับคนยากจนในระบบประกันสังคม ด้วยวิธีนี้ คนจนจะเงินขาดมือ และ นายทุนจะได้ประโยชน์มากเพราะ จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากเพียง 1% ต่อปี แต่ได้รับดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 28% ต่อปี การมีหนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะ การมีสินเชื่อเพิ่มจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น หลักการนี้เชื่อว่าคุณภาพชีวิตหลังเกษียณที่ดีต้องมีเงินรายได้ 70% ของช่วงที่ทำงาน ผู้สูงวัยพึ่งเงินออมตนเองไม่พึ่งลูกหลาน
เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ เน้นให้ความสำคัญของปัจจุบันยิ่งกว่าอนาคต การออมเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่สำคัญเท่ากับการไม่ก่อหนี้ พระท่านสอนว่า “การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” และ “พุทธศาสนิกชนที่ดีแทบไม่ต้องใช้เงิน” ผู้สูงวัยเข้าวัด ศึกษาธรรมะ จึงแทบไม่ต้องใช้เงิน พึ่งพาเงินส่วนที่จำเป็นจากลูกหลานเพียงเล็กน้อยถือเป็นการทดแทนพระคุณ จะใช้เงินน้อยแต่มีความสุขมาก
เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก พยายามรักษาสมดุลของแนวคิดทั้ง 2 เงินบำนาญควรเลือกเก็บมากหรือน้อยได้ตามสภาพเศรษฐกิจ ยืดหยุ่นให้สามารถยืมเงินออมบำนาญได้หากมีความจำเป็น และ ผู้สูงวัยจะพึ่งเงินออมตนเอง เงินภาครัฐ และ เงินลูกหลานด้วยเป็น 3 ขา อย่างไรก็ดีจะใช้เงินน้อยกว่าแนวคิดแบบทุนนิยม
5. นโยบายเศรษฐกิจ
เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม เมื่อความโลภและการเก็งกำไรมากเกินไป ฟองสบู่แตก การใช้นโยบายต่างๆ ก็เหมือนดั่ง “ยาแผนตะวันตก” ที่เน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะจุด จึงเกิดผลข้างเคียงได้มาก มักได้ผลในระยะสั้นแต่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงิน หรือ การคลัง
เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ เหมือนดั่ง “วัคซีน” ที่ใช้ป้องกันความโลภที่มากเกินไป จึงใช้ป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจได้ผลดี แต่ใช้รักษาผลของมันไม่ได้ เศรษฐกิจชะลอตัวลงต้องการพลัง “หยาง” มาช่วย แต่เนื้อหาในส่วนของเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธทั้งหมดนั้น มีแต่พลัง “หยิน”
เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก เหมือนดั่ง “ยาแห่งดุลยภาพ” ใช้การยืมพลังจากแหล่งอื่นๆ มาช่วยรัฐบาลได้ จึงไม่ต้องสร้างหนี้สาธารณะมากเกินไป พยายามรักษาสมดุลของหนี้สินภาครัฐ และ สินทรัพย์กองทุนบำนาญ รักษาสมดุลการค้าของโลก สร้างสมดุลของการสมทบเงินออมบำนาญตามสภาพเศรษฐกิจ สร้างสมดุลของผลตอบแทนทุนและแรงงาน รวมไปถึง สร้างสมดุลของเงินออมและหนี้สินของประชาชน
อาจเป็นไปได้เหมือนกันว่าในอนาคตอาจมีเรื่องราวของ “เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก” (Taiji-Econ.) ตามหนังสือเศรษฐศาสตร์มหภาคบ้างก็เป็นได้......แนวคิดซึ่งเป็นทางสายกลาง ระหว่างทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทั้ง 2 ขั้วข้างต้น นั่นหมายถึงท่านผู้อ่านได้เรียนรู้เรื่องนี้ก่อนจะมีในตำราเสียอีกนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น