จุดอ่อนเศรษฐศาสตร์ : ขาดเชื่อมโยง stock และ flow
จุดอ่อนของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกมีปัญหามาจนถึงปัจจุบันก็เพราะว่า เศรษฐศาสตร์นั้นเป็นวิชาที่เน้นหลักเฉพาะในเรื่องของ flow เท่านั้น คือ Y=C+I+G+(X-M) ซึ่งเป็นสมการของ GDP นั้น ตัวแปรแต่ละตัวล้วนเป็น flow ทั้งสิ้น และ การขาดการเชื่อมโยงนี้เองทำให้เป็นปัญหาได้
เช่น รัฐบาลยามใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ประชาชนบริโภคและลงทุนเพิ่มขึ้น (เพิ่ม C และ I) อย่างไรก็ดี บางครั้งก็อาจมองข้ามฟองสบู่ของราคาหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ (Stock) ไปได้หลายครั้ง เหมือนกรณีฟองสบู่อสังหาฯ และ หุ้นแตกในญี่ปุ่น และ อเมริกา
จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ อาจเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกๆ ที่ได้ทำการเชื่อมโยง stock เข้ากับ flow โดยเสนอให้รัฐบาลออกพันธบัตร (Stock) กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภาครัฐ (G) ไม่เพียงเท่านั้น นโยบายกึ่งการคลังที่เน้นพึ่งแบงก์รัฐ ก็เชื่อมโยงการเพิ่มสินเชื่อ (Stock) เพื่อให้เงินเหล่านั้นแปลงสภาพไปเป็นการใช้สอยของภาคเอกชน (C และ I)
นอกจากนั้นก็มีการพูดถึง wealth effect อยู่บ้าง โดยเชื่อมโยงราคาสินทรัพย์ (stock) ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง เชื่อมโยงกับการบริโภค (flow) ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ดี การเชื่อมโยงระหว่าง กองทุนบำนาญ กับ GDP ยังมีอยู่น้อยมาก เช่น การลดการสมทบเข้ากองทุนบำนาญ การให้กองทุนบำนาญจ่ายผลประโยชน์เร็วขึ้นมากขึ้น การให้สินเชื่อโดยอิงกับกองทุนบำนาญเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้น เป็นการยืมพลังของ Stock เพื่อไปเพิ่ม flow ของการบริโภคและลงทุน ยังมีการวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องแบบนี้อยู่น้อยมาก ไม่เพียงเท่านั้น การเชื่อมโยงระหว่าง stock ด้วยกันเอง ก็มักถูกมองข้าในศาสตร์นี้ด้วยเช่นกัน เช่น การที่พันธบัตรรัฐบาลเพิ่มมากนั้น มองมุมหนึ่งเกิดจากภาครัฐใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณ แต่มองอีกมุมหนึ่ง คือ สินทรัพย์ของกองทุนบำนาญนั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็ลงทุนในพันธบัตรภาครัฐ ... นั่นคือ สินทรัพย์ของภาคเอกชน เป็นตัวเพิ่มหนี้สินให้กับภาครัฐบาล และ เป็นตัวดูดทำให้กำลังซื้อ (flow) ของภาคเอกชนนั้นลดลง
ในด้านของปัจเจกบุคคล ความรวยความจน ประเมินจากรายได้ หรือ ความมั่งคั่งกันแน่ ตัวแรกคือ flow ส่วนตัวหลังคือ stock ยังมีความสับสนในเรื่องนี้อยู่มากว่า ประชาชนที่ติดหนี้สินอยู่มาก แต่มีรายได้อยู่ในเกณฑ์สูง เช่นนี้จะถือว่าร่ำรวยหรือยากจน ???
เมื่อเทียบกับศาสตร์ด้านการบัญชี จะมีการเชื่อมโยงของ 2 สิ่งนี้ได้ดีกว่า เช่น หากอยากจะกำไรเพิ่ม (flow) ก็ขายสินทรัพย์ (stock) ออกบางส่วนเป็นกำไรพิเศษ หรือ หาทางเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ (stock) เพื่อให้หนี้สินลดลง ก็จะได้กำไรพิเศษเพิ่มขึ้นมาได้
สำหรับการลงทุนหุ้นนั้น การอธิบายราคาหุ้น (stock) ก็ใช้ทางจากส่วนที่เป็น stock ในลักษณะของ Book Value (BV) และ Net Asset Value (NAV) มาอธิบายราคาหุ้นได้ ในเวลาเดียวกันก็ใช้ส่วนที่เป็น flow เช่น กำไรต่อหุ้น การเติบโตของยอดขายและกำไร มาช่วยอธิบายด้วยเช่นกัน
เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) ถูกคิดขึ้น เพื่อปิดจุดอ่อนของเศรษฐศาสตร์ในส่วนนี้ จะมีการยืมพลังของ stock มาช่วย flow เพื่อพลังให้กับ GDP ได้หลายร้อยเท่าตัว เช่น หากเก็บเงินฝากไว้ในแบงก์ดอกเบี้ย 1%จะได้ GDP 1 บาทจากเงิน 100 บาท แต่หากนำเงินนั้นมาใช้จ่ายหมุนได้ 3 รอบ ก็อาจสร้าง GDP ได้ถึง 300 บาท จะเห็นว่าแตกต่างกันถึง 300 เท่าตัว เมื่อ GDP เพิ่มประชาชนรายได้สูงขึ้น เริ่มเก็บออมได้มากขึ้น ก็ค่อยนำเงินนั้นกลับเป็น stock เพื่อสะสมเพิ่มได้อีก
ประเทศพัฒนาแล้ว กำลังติดกับดักเคนส์ จนหนี้สาธารณะท่วมหัว ไม่สามารถใช้นโยบายการคลังไปเรื่อยๆ ได้นานนัก จำเป็นต้องหาวิธีการใหม่ ด้วยการยืมพลัง stock มาช่วย flow ก็จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น