วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Taiji-Econ. สอนแก้บาทแข็ง

Taiji-Econ. สอนแก้บาทแข็ง

แม้แต่ท่านนายกฯ และ ท่านรมว.คลัง ก็ออกมากล่าวว่า “ไร้หนทางที่จะทำให้บาทอ่อน” ซึ่งความจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ อาจกล่าวได้ว่าในประเทศไทยนั้นมีอยู่ไม่กี่คนที่รู้วิธีทำให้บาทอ่อนได้ และ หนึ่งในนั้นก็คือผมเอง บทความนี้ผมขออนุญาตแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทั่วไปแก้ไม่ได้นั้น เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) แก้ไขได้สบายมาก

หากเป็นวิธีตามสำนักมาตรฐาน (เส้าหลิน) ก็คือ การลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา และ การเข้าแทรกแซงเงินบาท วิธีแรกนั้นผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะ หากวิจารณ์กันแบบตรงไปตรงมาแล้ว ต้องถือได้ว่า กนง.ตัดสินใจผิดพลาดที่ขึ้นดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งที่ผ่านมา ในเมื่อประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกา และ EU คงอัตราดอกเบี้ยไว้ และ ญี่ปุ่นกลับลดดอกเบี้ยลงมาด้วยซ้ำ ขณะที่ประเทศไทยดำเนินนโยบายในทิศทางที่แตกต่างไปจากประเทศยักษ์ใหญ่ ถือว่าเป็นการแตกแถวและจะนำมาซึ่งปัญหาใหญ่หลวง โดยที่อัตราเงินเฟ้อก็ไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ ว่ามีการเร่งตัวขึ้น โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ส.ค.ที่ 64% และ การเพิ่มของสินเชื่อก็ถือได้ว่าอยู่ในระดับปานกลาง ไม่น่ากังวลเลย หาก กนง.จะยืดอกรับความผิดพลาดนี้ด้วยการลดดอกเบี้ยกลับลงไปที่เดิมก็น่าจะเป็นเรื่องที่สมควรกระทำ

ส่วนการเข้าแทรกแซงตลาดเงินบาทนั้น แม้ไม่ควรจะทำแต่ก็ไม่มีทางเลือก ธปท.ได้ต่อสู้อย่างเต็มที่เพื่อประคองค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป แม้จะขาดทุนหลายแสนล้านแต่ก็ทำได้เพียงเท่านี้เอง ความแข็งแกร่งไม่มีทางเอาชนะกองทุนระดับโลกได้ “สู้ก็ตาย ไม่สู้ก็ตาย” คือสิ่งที่ ธปท.ประสบอยู่ แล้วจะมีทางที่ดีกว่านี้ไหม ???

ปัญหาก็คือ เราตั้งโจทย์ผิดมาตลอด มันไม่ใช่แค่ทำอย่างไรให้เงินทุนไหลเข้าลดลง แต่ปัญหาก็คือ ทำอย่างไรให้เงินไหลออกสุทธิต่างหาก.... ประเทศไทยควรตั้งเป้าหมายที่จะได้ดุลบัญชีเดินสะพัดราว 2-3% GDP เพื่อช่วยเรื่องการส่งออก และ การจ้างงาน ดังนั้นเพื่อให้เกิดสมดุลของดุลการชำระเงินแล้ว ไทยจึงจำเป็นต้องเป็นประเทศที่ลงทุนสุทธิไปยังต่างประเทศ ไม่ใช่รอรับเงินลงทุนจากต่างชาติ

หลักการของไท้เก๊ก ก็คือ “รักษาสมดุล” “ยืมพลังสะท้อนพลัง” ลองมาติดตามดูกัน
1. “รักษาสมดุล” ของกฎระเบียบแห่งการไหลเข้า และ ไหลออกของเงินตรา ขณะที่เงินเข้านั้นแทบไม่มีข้อจำกัดเลย แต่เงินออกกลับมีข้อจำกัดมากมาย ควรยกเลิกกฎระเบียบทั้งหมดที่สกัดเงินออก ยอมให้เงินไปลงทุนในต่างประเทศได้เสรี ทั้งลงทุนโดยตรง พันธบัตร หุ้น เชิญได้เลยเต็มที่ไม่ต้องขออนุญาต ธปท.อีกต่อไป เปิดศักราชของการลงทุนนอกประเทศ

2. “ยืมพลังประเทศจีน” ประเทศไทยควรเป็นคนต้นคิดเชิญประเทศอาเซียนรวมเป็น 10 ประเทศเดินหน้าเข้า “ขอร้อง” ประเทศจีน ให้ยอมเงินหยวนแข็งค่าโดยเร็ว และ เปิดเสรีมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก และ เกษตรในภูมิภาคอาเซียน
ปฏิบัติการนี้อาจตั้งชื่อได้ว่า “ปฏิบัติการ 10/10/10” คือ อาเซียน 10 ประเทศ เดินหน้าขอร้องจีนในเดือน 10 ปี 2010 นี้ โอกาสสำเร็จน่าจะมีสูงทีเดียว เพราะ ประเทศจีนย่อมต้องการบทบาทการเมืองเป็น “พญามังกรเทพผู้เมตตา” มากกว่า “มังกรไร้เขี้ยวเล็บซึ่งต้องยอมจำนนเพราะถูกพญาอินทรีกดดัน” และ หากไทยทำสำเร็จกับการ “ปลดล็อกกับดักเงินหยวน” บทบาททางการเมืองโลกจะโดดเด่นขึ้นมาก เพราะ สามารถทำในเรื่องที่อเมริกาพยายามมาหลายปีแต่ไม่เห็นผล ขณะที่ไทยอาจใช้เวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ แต่กลับทำสำเร็จได้อย่างสวยงาม
การที่จีน เป็นทั้งคู่ค้า คู่แข่ง และ คู่ลงทุนของไทยนั้น เงินหยวนหากมีการแข็งค่าขึ้น 20% ก็เหมือนกำลังซื้อของโลกจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 3 เท่าของเศรษฐกิจไทย จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันไทยดีขึ้น ส่งออกได้ดีขึ้น และ เงินทุนจะเบี่ยงเบนไปโจมตีประเทศจีนแทนอาเซียน

3. “สะท้อนพลัง” : เงินไหลเข้าสุทธินั้นหลักๆ แล้วก็นำมาเพื่อซื้อลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และ รัฐวิสาหกิจของไทย ดังนั้น หากคิดจะสะท้อนพลังกลับแล้วก็คือ การขายพันธบัตรภาครัฐออกแล้วส่งเป็นเงินลงทุนต่างประเทศออกไป ใครละ..ที่ถือตราสารพวกนี้อยู่เป็นทรัพย์สิน หลักๆ แล้วก็คือ กองทุนบำนาญ และ แบงก์พาณิชย์ นั่นเอง
วิธีการก็คือ ธปท.ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่กำลังบาดเจ็บสาหัส จำเป็นต้อง “ยืมพลัง” ของหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศ เพื่อร่วมกันต่อสู้ในสงครามเงินบาทครั้งนี้
- รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ต้องคืนเงินกู้ต่างประเทศ หรือ ป้องกันความเสี่ยง (เฮดจ์) อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของยอดหนี้..... ไทยได้กระสุนแล้ว 2 แสนล้านบาท
- กองทุนบำนาญ ซึ่งประกอบด้วย 4 ขุนศึก กบข. สปส. สำรองเลี้ยงชีพ และ ประกันชีวิต ซึ่งมีเงินทุนถึง 3 ล้านล้านบาท ต้องไปลงทุนในตราสารต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 10% ของเงินกองทุน โดยไม่ต้องเฮดจ์ ดังนั้น จะได้กระสุนอีก 3 แสนล้านบาท
- แบงก์พาณิชย์ต้องมีสินทรัพย์ตราสารต่างประเทศ มากกว่าหนี้สินต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 5% ของสินทรัพย์รวม เราได้กระสุนอีกแล้ว 5 แสนล้าน

รวมๆ แล้วเป็นเงินถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินไหลเข้าสุทธิราว 5 แสนล้านบาท ณ ปัจจุบันอยู่ถึงเท่าตัว กองทุนบำนาญ และ แบงก์พาณิชย์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ธปท. และ รัฐบาล ก็จะขายพันธบัตรของไทยออก และ นำไปซื้อพันธบัตรต่างประเทศแทน ซึ่งอาจเป็นประเทศที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าไทย อย่างอินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ก็ได้ ก็จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น และ หากทำสำเร็จตามแผนเงินบาทอาจอ่อนลงจาก 30 บาทเป็น 32 บาท ก็ยังได้จะได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก 7% ด้วย นี่จึงไม่ใช่บังคับให้ไปขาดทุน และ บังคับให้ร่วมกันสู้เคียงข้าง ธปท. เพื่อกำไรที่มากขึ้นต่างหาก

หากบทความนี้มีส่วนช่วยเหลือประเทศไทยได้บ้าง ผมของยกเครดิตความดีทั้งหมด และขอแสดงความคารวะขอบพระคุณปรมาจารย์ทั้ง 3 ท่าน ท่านแรก คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ในฐานะปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์พลังหยิน ท่านที่ 2 คือ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ในฐานะปรมาจารย์แศรษฐศาสตร์พลังหยาง และ ท่านสุดท้าย คือ จางซานฟง ในฐานะปรมาจารย์มวยไท้เก๊ก ผู้สร้างกรอบแนวคิด “รักษาสมดุล” และ “ยืมแรงสะท้อนแรง”

1 ความคิดเห็น:

  1. สำหรับผม บาทอ่อนหรือแข็งไม่มีความจำเป็นต้องไปแก้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจโลก เพราะพลังเศรษฐกิจรวมของไทยเราไม่ใหญ่พอที่จะขยับทิศทางการเงินได้

    สิ่งที่ต้องทำคือ ทำอย่างไรจะไม่สูญเสียความั่งคั่งที่เคยมี และถ้าจะให้ดี คือ ทำอย่างไรจะได้ประโยชน์สุทธิไม่ว่าเงินบาทจะอ่อนหรือแข็ง

    ยังชิน

    ตอบลบ