วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

รถไฟความเร็วสูง : ถ้าได้มาฟรีๆ จะยอมให้มีได้ไหม??

รถไฟความเร็วสูง เป็นโครงการที่ดูเหมือนว่าจะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล เพื่อสร้างโครงข่ายหลายเส้นทาง  อย่างน้อยๆ ก็ระดับ 8 แสนล้านบาท   อย่างไรก็ดี  บทความนี้จะมีโมเดลที่จะทำให้ไทยไม่ต้องเสียเงินซักบาท  เพื่อให้ได้รถไฟความเร็วสูงมาฟรีๆ

หลักการก็คือ การร่วมทุนกับต่างประเทศนั่นเอง  โดยการร่วมทุนนั้นจะมีประโยชน์ 3 ด้านดังนี้

1. ป้องกันปัญหาคอร์รัปชั่นได้ดีกว่า :  ญี่ปุ่น และ จีน มีมาตรฐานในการดูแลเรื่องนี้เข้มข้นกว่าประเทศไทยมาก  กรณีของประเทศเวียดนาม  ญี่ปุ่นได้จับได้ว่ามีการคอร์รัปชั่นส่งเรื่องให้เวียดนามว่ามีการรับเงินสินบน ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่การรถไฟไป 4 คน    เมื่อมีการร่วมทุนกันขึ้นจะเกิดการตรวจสอบดังนั้น  การตุกติกคอร์รัปชั่นก็จะทำได้ยากกว่า

2. เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี : เนื่องจาก ญี่ปุ่นและจีน มีทั้งเงินทุน รวมถึง เทคโนโลยีของรถไฟความเร็วสูง การร่วมทุนจะสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านนี้ดีกว่า  ทั้งการดูแลตู้โดยสาร  การเดินรถ  การบริหารความปลอดภัย  รวมไปถึง การบริหารจัดการพื่นที่รอบสถานีด้วย 

3.ประหยัดต้นทุน : เรื่องนี้คือประเด็นสำคัญเลยก็ว่าได้  หากมีการร่วมลงทุนแบบ 51:49  ซึ่งก็หมายถึงว่า ไทยจะประหยัดเงินลงทุนไปครึ่งหนึ่งแล้ว  จากแผนเดิม 8 แสนล้านก็เหลือเพียง 4 แสนล้านบาทเท่านั้น  อย่างไรก็ดี  มีแผนเด็ดกว่านั้นอีก คือ ให้ รฟท.ร่วมทุนโดย "ที่ดิน"  และให้ ญี่ปุ่น จีน นั้นลงทุนในระบบราง และ สัญญาณให้ฟรีๆ   เรื่องนี้ดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้  แต่หากพิจารณาดูดีๆ แล้ว  ที่ดินรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงนั้นมีศักยภาพมหาศาล  การเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 15% ก็หมายถึง 5 ปีมูลค่าเพิ่มขึันเท่าตัว ดังนั้นเวลาผ่านไป 25 ปีมูลค่าจะเพิ่มขึ้น 32 เท่า  และ เวลาผ่านไป 50 ปีมูลค่าที่ดินสูงขึ้นถึง 1 พันเท่าตัว.... ขณะที่รางรถไฟนั้นมูลค่าลดลงไปเรื่อยๆ ตามค่าเสื่อมสภาพ  มันจึงคุ้มค่ามากๆ  

มีความเป็นไปได้ว่า  เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นและจีน อ่านมาถึงบรรทัดนี้  ภายใน 1 สัปดาห์ อาจรีบแย่งกันประกาศว่า "ยินดีจะสร้างรถไฟความเร็วสูงให้ประเทศไทยแบบฟรีๆ"   โดยสายที่เหมาะในการสร้างนำร่องก็คือ "สายตะวันออก" (กรุงเทพ-ระยอง)  เพราะ ผ่านเข้าไปยังพื้นที่ที่เจริญมากอยู่แล้ว  และ เส้นทางสั้นลงทุนไม่มากนักราว 1 แสนล้านบาท  โดยเส้นทางสายนี้ ประเทศญี่ปุ่นก็สนใจในการลงทุนอยู่แล้ว เพราะ เชี่ยวชาญในการรบริหารจัดการพื้นที่ของสถานีรถไฟเป็นอย่างดี  หากได้แบ่งผลประโยชน์จากพื้นที่รอบสถานีสำคัญๆ  ในเส้นทางสายนี้ย่อมจะมองเห็นว่าคุ้มค่าการลงทุนเป็นแน่   และ เมื่อญี่ปุ่นสร้างให้ฟรีๆ 1 เส้นทาง  พวกเราคงไม่แปลกใจเลยแม้แต่น้อยหาก จีน จะขอสร้าง "สายอีสาน" (กทม.-หนองคาย)  ให้ไทยฟรีๆ บ้าง  เพื่อคานอำนาจและอิทธิพลของญี่ปุ่น

นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่า  "ไท้เก๊กโมเดล"  คือ การยืมพลัง เงินทุนและเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของ มหาอำนาจในเอเชีย ซึ่งก็คือ จีน และ ญี่ปุ่น  มาสร้างให้ประเทศยากจนในอินโดจีนแบบฟรีๆ  โดยได้ผลประโยชน์แบบครึ่งๆ ของที่ดินรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงเป็นผลตอบแทน  แม้ระยะสั้นอาจดูไม่คุ้ม  แต่ระะยาวๆ แล้วน่าจะคุ้มค่าแน่นอน และ เรื่องนี้ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศระยะยาวแบบคานอำนาจกันอีกด้วย  

แล้ว "ไท้เก๊กโมเดล" จะมีประโยชน์อะไรกับประเทศไทย ??   ผมคิดว่ารถไฟความเร็วสูง ควรมี 5 เส้นทาง ตามนี้
1. เส้นทางเชื่อมมหาสมุทร (ทวาย-กทม.-ขอนแก่น-สะหวันเขต-ดานัง)  นี่จะเป็น land bridge ขนาดใหญ่มากของภูมิภาคอินโดจีนนี้  ทำให้การนำเข้า-ส่งออก  ไปได้ทั้งมหาสมุทรอินเดีย และ แปซิฟิก  โดยไม่ต้องอ้อมแหลมมลายู  ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของทั้งไทยและภูมิภาคลดลงได้มาก  ส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวได้มาก  
2. เส้นทางเชื่อมจีน ( กทม.-ขอนแก่น-หนองคาย-คุนหมิง) 
3. เส้นทางเชื่อมแหลมมลายู ( กทม.-ปาร์ดังเบซาร์-กัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์)  หรือ สายใต้
4. สายเหนือ (กทม.-เชียงใหม่) 
5. เส้นทางอาคเนย์   (กทม.-ระยอง-นครวัด-พนมเปญ-โฮจิมินห์)
เมื่อรวมทุกเส้นทางแล้วเฉพาะในประเทศไทยราว 3 พันกิโลเมตร  ต้นทุนราวกม.ละ 500 ล้านบาท  หมายถึง ไทยอาจจะได้มาฟรีๆ โดยไม่ต้องลงทุนเลยแม้แต่น้อย  จึงประหยัดเงินลงทุนไปได้ถึง 1.5 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

ก็คงต้องปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่า "ถ้าได้รถไฟความเร็วสูงมาฟรีๆ แล้ว ท่านผู้อำนาจจะยอมให้มีได้ไหม หรือว่าต้องรอให้ถนนลูกรังหมดไปก่อนละครับ ??"  











วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

วิกฤคิไก่งวง : ควงสว่านขาลง

ทำไมจึงชื่อว่า "วิกฤติไก่งวง" (Turkey Crisis)  เพราะ ผมเชื่อว่าจุดเริ่มต้นจะมาจากประเทศตุรกี ซึ่งคิดว่ามีปัญหามากที่สุดใน 50 ประเทศใหญ่ของโลก  จากค่า Ruang Alarm (ผลบวกของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP 3 ปีเข้าด้วยกัน)  ที่ใช้วัดการเสียสมดุลของความพอเพียงย่ำแย่กว่าระดับ -20%  ซึ่งมีความเสี่ยงระดับสูงมาก  และเป็นระดับเดียวกันกับประเทศไทยก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งเสียด้วย

ทำไมจึงเรียกว่า "ควงสว่านขาลง"  (Downward Spiral)  ก็เพราะ ผมเชื่อว่าปัญหาจะขยายวงกว้างขึ้น  โดยเชื้อร้ายนี้จะเริ่มต้นจากอ่อนตัวของค่าเงิน  ตลาดบอนด์ และ ตลาดหุ้น  จากนั้นก็ขยายวงไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงของตุรกี ไปยังประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆอีกไม่น้อย  เพราะ มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจในจุดที่คล้ายกัน  เช่น แอฟริกาใต้ ซึ่งขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในทวีปแอฟริกา   ประเทศบราซิล ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในทวีปอเมริกาใต้   แต่ประเทศทีไทยควรใส่ใจให้มากก็คือ "อินโดนีเซีย" ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์  ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการรวมตัวกันเป็น AEC ที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น

การที่ค่าเงิน Lira เริ่มอ่อนลงหลังจากแนวโน้มแข็งค่ามาถึง 4 เดือนนั้น จะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น แม้ว่าจะมีส่วนต่างของผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นเทียบกับอเมริกาจะสูงถึง 8% ก็ตาม  แต่ค่าเงินกลับอ่อนลงได้ 4% ภายในสัปดาห์เดียว  จนมีการขายทั้งบอนด์ และ หุ้นออกมา  เมื่อราคาสินทรัพย์ตกลง  ก็ยิ่งสร้างไม่เชือมั่น  เพราะ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดหนักอยู่แล้ว  เมื่อเงินทุนไหลออกมากขึ้น  ก็ยิ่งกดดันค่าเงินให้อ่อนลงได้อีกมาก  (ผมคาดว่าค่าเงินอาจอ่อนลงได้ถึง 20%)  จากนั้น  ปัญหาก็เริ่มเข้าสู่ "เศรษฐกิจจริง"  โดยบริษัทต่างๆ จะมีสภาพคล่องที่ลดลงมาก  จนถึงขั้นไม่สามารถชำระหนี้ได้ ล้มละลาย  เป็นปัญหา NPL ให้กับสถาบันการเงินอีก   เศรษฐกิจจึงเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง   ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้  คนไทยคงรู้จักกันดีในนามของ "วิกฤติต้มยำกุ้ง"  

เมื่อมีปัญหาของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินเช่นนี้ สุดท้ายแล้วก็จบด้วย วิกฤติเศรษฐกิจ  โดยได้เกิดขึ้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง เช่น วิกฤติเตกีล่าในเม็กซิโก   วิกฤติต้มยำกุ้งในไทย  วิกฤติอาร์เจนติน่าปี 2000   วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกา และ วิกฤติ PIIGS ในยูโรโซน  ซึ่งล้วนแล้วแต่มีต้นเหตุมาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง  รวมไปถึงการใช้ค่าเงินที่ไม่เหมาะสมทั้งสิ้น  ไม่ได้เกิดจาก นโยบายประชานิยม หรือ นโยบายการคลังขาดดุลแต่อย่างใด    ตอนนี้ตุรกีมีการเติบ่โตที่ดีถึง 4.3% ต่อปีสำหรับไตรมาสแรกที่ผ่านมา  แต่อาจเกิด "วิกฤติไก่งวง"  จนการเติบโตเข้าสู่ภาวะติดลบได้อย่างรวดเร็ว

หากประเมินว่า ค่าเงิน Lira ของตุรกี  ค่าเงิน Rand ของแอฟริกาใต้  ค่าเงิน Real ของบราซิล และ ค่าเงินรูเปี๊ยะของอินโดนีเซีย  รวมไปถึง ดัชนีตลาดหุ้น เป็นดัชนีชี้นำถึงสัญญาณอันตรายของ  พายุ "วิกฤติไก่งวง" แล้วละก็  ผมคิดว่า พายุนี้ได้เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย.นี้แล้ว  การติดตามพัฒนาการว่าจะรุนแรงขึ้นไปถึงไต้ฝุ่นระดับ 5 หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง  และ  ประเทศไทยควรเตรียมการรับมือแต่เนิ่นๆ ไว้ก่อนหรือไม่นั้น  ท่านผู้มีอำนาจควรเริ่มคิดวางแผนได้แล้ว  ข้อเสนอของผมก็คือ "ยุทธศาสตร์888"  อาจช่วยพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ครับ


วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เลือกตั้งเร็วขึ้น 1 ปีจะดีกว่าไหม ??

จากแผนโรดแมปของ คสช.นั้น  การเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นได้ราว 1 ปี 3 เดือนหลังจากนี้ไป  โดยจะต้องมีการรักษาความสงบก่อน 3 เดือน จากนั้นมีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อเดินหน้าการปฏิรูปราว 1 ปี  แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

ปัญหาก็คือ "การยอมรับจากต่างชาติ" เนื่องจาก กระบวนการที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งยุโรป อเมริกา และ ออสเตรเลีย ประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทหารลงแล้ว  มีถึง 67 ประเทศที่ได้เตือนมาท่องเที่ยวประเทศไทย  ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลงไปถึง 33% หลังช่วงการรัฐประหารไม่นานนัก  บางทีการมีอีกแผนโรดแมปที่เดินหน้าได้เร็วกว่า  ได้ประชาธิปไตยที่เร็วกว่าเดิม อาจเป็นเรื่องที่ดีกว่าสำหรับประเทศไทยก็ได้

ปัญหาของระบบรัฐสภาเดิมของไทยก็คือ ฝ่ายค้านมีกำลังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งฝ่ายรัฐบาลได้ ทั้งในสภาฯ และ คณะรัฐมนตรี  แม้จะเห็นว่ามีหลายเรื่องที่ทำไม่ถูกต้องก็ตาม  เพราะ สมการคณิตศาสตร์อย่างง่ายๆ ก็คือ จำนวนมือของ สส.ฝ่ายค้านนั้นไม่เพียงพอนั่นเอง   และ ทำให้ประชาชนคนไทยสับสนว่า สส.นั้นย่อมาจาก "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร"  หรือ  "สมาชิกสภาผู้แทนนายทุนพรรค"  กันแน่

แต่ ประชาธิปไตยไท้เก๊ก (หรือประชาธิปไตยยืมพลัง) จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ไปได้  โดยฝ่ายค้านจะมีอำนาจในการขอทำ "ประชามติ" ได้ โดย กกต.เป็นผู้จัดทำ  จะสามารถแก้ไขได้หลายๆ เรื่อง
1. พรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง :  หากยืมพลังจากประชามติ  ก็เชื่อว่าเรื่องแบบนี้น่าจะไม่ผ่าน สภาฯ ล่างมาได้อย่างแน่นอน
2. นโยบายจำนำข้าว :  หากยืมพลังจากประชามติ  ก็เชื่อว่า จะสามารถหยุดยั้งนโยบายที่เปิดช่องให้ทุจริตมหาศาลนี้ได้ตั้งแต่แรกๆ แล้ว
3. ไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี :  หากยืมพลังจากประชามติ  ก็สามารถไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีบางคนได้แน่

หากมีการลงสัตยาบันโดย หัวหน้าพรรค และ กรรมการบริหารพรรคการเมืองให้ยอมรับว่า "ประชามติ" ถือเป็นสูงสุดและต้องปฏิบัติตามนั้น  อำนาจอธิปไตยซึ่งเคยใช้ผ่าน  สภาฯ และ รัฐบาล  ย้อนกลับไปยังประชาชนโดยตรงอีกครั้ง   ซึ่งก็จะช่วยได้มาก  ประชาชนไม่ต้องออกมาชุมนุมกันตามท้องถนนกันอีกต่อไป   เพราะมีเครื่องมือที่จะใช้ "หยุด" สส.ฝ่ายรัฐบาล และ นโยบายบางเรื่องที่สร้างความเสียหายได้

นอกจากนี้ การทำ "ประชามติ" ไปพร้อมกับการหย่อนบัตรเลือกตั้ง  จะทำให้สามารถปฏิรูปไปได้อย่างเร็ว เพราะ สส.ใหม่ที่เข้ามานั้น จะมีหน้าที่โหวตตามผลลัพธ์นั้นๆ   ซึ่งจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้องรวดเร็ว  ภายใน 3 เดือน อาจแก้ไขกฎหมายสำคัญๆ ไปได้หลายฉบับ  การหย่อนบัตรเลือกตั้ง พร้อม "ประชามติเพื่อการปฏฺิรูป" นั้น ประชาชนนกหวีดคงจะไม่ขวางเลือกตั้งอีกแน่  เพราะ จะกลายเป็นการขวางการปฏิรูปไปด้วยในตัว  และ ภายใต้กฎอัยการศึกเช่นนี้น่าจะวางใจได้แน่

หากเดินหน้าตามนี้  ข้อดีก็คือ ประเทศไทยจะได้ประชาธิปไตยเร็วขึ้น 1 ปี   ปฏิรูปเร็วขึ้นครึ่งปี  ทำให้ประชาชนนกหวีดพอใจ  ประชาชนเสื้อแดงพอใจ  และ ต่างชาติก็พอใจด้วย   หาก ดร.ปรีดี พนมยงค์ คือ รัฐบุรุษผู้ปฏิรูปการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ไปสู่  ประชาธิปไตยแบบผู้แทน   ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าระบอบนี้มีปัญหาไม่น้อยสำหรับประเทศไทยในช่วงเวลากว่า 8  ทศวรรษที่ผ่านมา    บางทีท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็อาจเป็น รัฐบุรุษผู้ปฏิรูปการปกครองจาก ระบอบประชาธิปไตยผู้แทน  ไปสู่ "ประชาธิปไตยไท้เก๊ก"  (หรือประชาธิปไตยยืมพลัง)  ก็เป็นได้  ซึ่งจะทำให้การยึดอำนาจครั้งนี้  ไม่ใช่แค่เพียง รัฐประหารแบบธรรมดาๆ  แต่จะเป็น การปฏิวัติการปกครองไปด้วยเลย

อย่างไรก็ดี  นี่เป็นเพียง อ.ไอเดียข้อเสนอของ คนไทยคนหนึ่งมีที่ อ.อุดมการณ์  ซึ่งรักและเป็นห่วงประเทศชาติ  แต่การจะนำไปใช้ไปปฏิบัติหรือไม่  จะนำไปประยุกต์ต่อยอดหรือไม่นั้น   ก็ต้องขึ้นกับท่านผู้มี อ.อำนาจ นั่นเองละครับ