หลักการก็คือ การร่วมทุนกับต่างประเทศนั่นเอง โดยการร่วมทุนนั้นจะมีประโยชน์ 3 ด้านดังนี้
1. ป้องกันปัญหาคอร์รัปชั่นได้ดีกว่า : ญี่ปุ่น และ จีน มีมาตรฐานในการดูแลเรื่องนี้เข้มข้นกว่าประเทศไทยมาก กรณีของประเทศเวียดนาม ญี่ปุ่นได้จับได้ว่ามีการคอร์รัปชั่นส่งเรื่องให้เวียดนามว่ามีการรับเงินสินบน ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่การรถไฟไป 4 คน เมื่อมีการร่วมทุนกันขึ้นจะเกิดการตรวจสอบดังนั้น การตุกติกคอร์รัปชั่นก็จะทำได้ยากกว่า
2. เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี : เนื่องจาก ญี่ปุ่นและจีน มีทั้งเงินทุน รวมถึง เทคโนโลยีของรถไฟความเร็วสูง การร่วมทุนจะสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านนี้ดีกว่า ทั้งการดูแลตู้โดยสาร การเดินรถ การบริหารความปลอดภัย รวมไปถึง การบริหารจัดการพื่นที่รอบสถานีด้วย
3.ประหยัดต้นทุน : เรื่องนี้คือประเด็นสำคัญเลยก็ว่าได้ หากมีการร่วมลงทุนแบบ 51:49 ซึ่งก็หมายถึงว่า ไทยจะประหยัดเงินลงทุนไปครึ่งหนึ่งแล้ว จากแผนเดิม 8 แสนล้านก็เหลือเพียง 4 แสนล้านบาทเท่านั้น อย่างไรก็ดี มีแผนเด็ดกว่านั้นอีก คือ ให้ รฟท.ร่วมทุนโดย "ที่ดิน" และให้ ญี่ปุ่น จีน นั้นลงทุนในระบบราง และ สัญญาณให้ฟรีๆ เรื่องนี้ดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้ แต่หากพิจารณาดูดีๆ แล้ว ที่ดินรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงนั้นมีศักยภาพมหาศาล การเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 15% ก็หมายถึง 5 ปีมูลค่าเพิ่มขึันเท่าตัว ดังนั้นเวลาผ่านไป 25 ปีมูลค่าจะเพิ่มขึ้น 32 เท่า และ เวลาผ่านไป 50 ปีมูลค่าที่ดินสูงขึ้นถึง 1 พันเท่าตัว.... ขณะที่รางรถไฟนั้นมูลค่าลดลงไปเรื่อยๆ ตามค่าเสื่อมสภาพ มันจึงคุ้มค่ามากๆ
มีความเป็นไปได้ว่า เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นและจีน อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ภายใน 1 สัปดาห์ อาจรีบแย่งกันประกาศว่า "ยินดีจะสร้างรถไฟความเร็วสูงให้ประเทศไทยแบบฟรีๆ" โดยสายที่เหมาะในการสร้างนำร่องก็คือ "สายตะวันออก" (กรุงเทพ-ระยอง) เพราะ ผ่านเข้าไปยังพื้นที่ที่เจริญมากอยู่แล้ว และ เส้นทางสั้นลงทุนไม่มากนักราว 1 แสนล้านบาท โดยเส้นทางสายนี้ ประเทศญี่ปุ่นก็สนใจในการลงทุนอยู่แล้ว เพราะ เชี่ยวชาญในการรบริหารจัดการพื้นที่ของสถานีรถไฟเป็นอย่างดี หากได้แบ่งผลประโยชน์จากพื้นที่รอบสถานีสำคัญๆ ในเส้นทางสายนี้ย่อมจะมองเห็นว่าคุ้มค่าการลงทุนเป็นแน่ และ เมื่อญี่ปุ่นสร้างให้ฟรีๆ 1 เส้นทาง พวกเราคงไม่แปลกใจเลยแม้แต่น้อยหาก จีน จะขอสร้าง "สายอีสาน" (กทม.-หนองคาย) ให้ไทยฟรีๆ บ้าง เพื่อคานอำนาจและอิทธิพลของญี่ปุ่น
นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่า "ไท้เก๊กโมเดล" คือ การยืมพลัง เงินทุนและเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของ มหาอำนาจในเอเชีย ซึ่งก็คือ จีน และ ญี่ปุ่น มาสร้างให้ประเทศยากจนในอินโดจีนแบบฟรีๆ โดยได้ผลประโยชน์แบบครึ่งๆ ของที่ดินรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงเป็นผลตอบแทน แม้ระยะสั้นอาจดูไม่คุ้ม แต่ระะยาวๆ แล้วน่าจะคุ้มค่าแน่นอน และ เรื่องนี้ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศระยะยาวแบบคานอำนาจกันอีกด้วย
แล้ว "ไท้เก๊กโมเดล" จะมีประโยชน์อะไรกับประเทศไทย ?? ผมคิดว่ารถไฟความเร็วสูง ควรมี 5 เส้นทาง ตามนี้
1. เส้นทางเชื่อมมหาสมุทร (ทวาย-กทม.-ขอนแก่น-สะหวันเขต-ดานัง) นี่จะเป็น land bridge ขนาดใหญ่มากของภูมิภาคอินโดจีนนี้ ทำให้การนำเข้า-ส่งออก ไปได้ทั้งมหาสมุทรอินเดีย และ แปซิฟิก โดยไม่ต้องอ้อมแหลมมลายู ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของทั้งไทยและภูมิภาคลดลงได้มาก ส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวได้มาก
2. เส้นทางเชื่อมจีน ( กทม.-ขอนแก่น-หนองคาย-คุนหมิง)
3. เส้นทางเชื่อมแหลมมลายู ( กทม.-ปาร์ดังเบซาร์-กัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์) หรือ สายใต้
4. สายเหนือ (กทม.-เชียงใหม่)
5. เส้นทางอาคเนย์ (กทม.-ระยอง-นครวัด-พนมเปญ-โฮจิมินห์)
เมื่อรวมทุกเส้นทางแล้วเฉพาะในประเทศไทยราว 3 พันกิโลเมตร ต้นทุนราวกม.ละ 500 ล้านบาท หมายถึง ไทยอาจจะได้มาฟรีๆ โดยไม่ต้องลงทุนเลยแม้แต่น้อย จึงประหยัดเงินลงทุนไปได้ถึง 1.5 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
ก็คงต้องปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่า "ถ้าได้รถไฟความเร็วสูงมาฟรีๆ แล้ว ท่านผู้อำนาจจะยอมให้มีได้ไหม หรือว่าต้องรอให้ถนนลูกรังหมดไปก่อนละครับ ??"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น