จากแผนโรดแมปของ คสช.นั้น การเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นได้ราว 1 ปี 3 เดือนหลังจากนี้ไป โดยจะต้องมีการรักษาความสงบก่อน 3 เดือน จากนั้นมีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อเดินหน้าการปฏิรูปราว 1 ปี แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง
ปัญหาก็คือ "การยอมรับจากต่างชาติ" เนื่องจาก กระบวนการที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งยุโรป อเมริกา และ ออสเตรเลีย ประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทหารลงแล้ว มีถึง 67 ประเทศที่ได้เตือนมาท่องเที่ยวประเทศไทย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลงไปถึง 33% หลังช่วงการรัฐประหารไม่นานนัก บางทีการมีอีกแผนโรดแมปที่เดินหน้าได้เร็วกว่า ได้ประชาธิปไตยที่เร็วกว่าเดิม อาจเป็นเรื่องที่ดีกว่าสำหรับประเทศไทยก็ได้
ปัญหาของระบบรัฐสภาเดิมของไทยก็คือ ฝ่ายค้านมีกำลังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งฝ่ายรัฐบาลได้ ทั้งในสภาฯ และ คณะรัฐมนตรี แม้จะเห็นว่ามีหลายเรื่องที่ทำไม่ถูกต้องก็ตาม เพราะ สมการคณิตศาสตร์อย่างง่ายๆ ก็คือ จำนวนมือของ สส.ฝ่ายค้านนั้นไม่เพียงพอนั่นเอง และ ทำให้ประชาชนคนไทยสับสนว่า สส.นั้นย่อมาจาก "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" หรือ "สมาชิกสภาผู้แทนนายทุนพรรค" กันแน่
แต่ ประชาธิปไตยไท้เก๊ก (หรือประชาธิปไตยยืมพลัง) จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ไปได้ โดยฝ่ายค้านจะมีอำนาจในการขอทำ "ประชามติ" ได้ โดย กกต.เป็นผู้จัดทำ จะสามารถแก้ไขได้หลายๆ เรื่อง
1. พรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง : หากยืมพลังจากประชามติ ก็เชื่อว่าเรื่องแบบนี้น่าจะไม่ผ่าน สภาฯ ล่างมาได้อย่างแน่นอน
2. นโยบายจำนำข้าว : หากยืมพลังจากประชามติ ก็เชื่อว่า จะสามารถหยุดยั้งนโยบายที่เปิดช่องให้ทุจริตมหาศาลนี้ได้ตั้งแต่แรกๆ แล้ว
3. ไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี : หากยืมพลังจากประชามติ ก็สามารถไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีบางคนได้แน่
หากมีการลงสัตยาบันโดย หัวหน้าพรรค และ กรรมการบริหารพรรคการเมืองให้ยอมรับว่า "ประชามติ" ถือเป็นสูงสุดและต้องปฏิบัติตามนั้น อำนาจอธิปไตยซึ่งเคยใช้ผ่าน สภาฯ และ รัฐบาล ย้อนกลับไปยังประชาชนโดยตรงอีกครั้ง ซึ่งก็จะช่วยได้มาก ประชาชนไม่ต้องออกมาชุมนุมกันตามท้องถนนกันอีกต่อไป เพราะมีเครื่องมือที่จะใช้ "หยุด" สส.ฝ่ายรัฐบาล และ นโยบายบางเรื่องที่สร้างความเสียหายได้
นอกจากนี้ การทำ "ประชามติ" ไปพร้อมกับการหย่อนบัตรเลือกตั้ง จะทำให้สามารถปฏิรูปไปได้อย่างเร็ว เพราะ สส.ใหม่ที่เข้ามานั้น จะมีหน้าที่โหวตตามผลลัพธ์นั้นๆ ซึ่งจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้องรวดเร็ว ภายใน 3 เดือน อาจแก้ไขกฎหมายสำคัญๆ ไปได้หลายฉบับ การหย่อนบัตรเลือกตั้ง พร้อม "ประชามติเพื่อการปฏฺิรูป" นั้น ประชาชนนกหวีดคงจะไม่ขวางเลือกตั้งอีกแน่ เพราะ จะกลายเป็นการขวางการปฏิรูปไปด้วยในตัว และ ภายใต้กฎอัยการศึกเช่นนี้น่าจะวางใจได้แน่
หากเดินหน้าตามนี้ ข้อดีก็คือ ประเทศไทยจะได้ประชาธิปไตยเร็วขึ้น 1 ปี ปฏิรูปเร็วขึ้นครึ่งปี ทำให้ประชาชนนกหวีดพอใจ ประชาชนเสื้อแดงพอใจ และ ต่างชาติก็พอใจด้วย หาก ดร.ปรีดี พนมยงค์ คือ รัฐบุรุษผู้ปฏิรูปการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่ ประชาธิปไตยแบบผู้แทน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าระบอบนี้มีปัญหาไม่น้อยสำหรับประเทศไทยในช่วงเวลากว่า 8 ทศวรรษที่ผ่านมา บางทีท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็อาจเป็น รัฐบุรุษผู้ปฏิรูปการปกครองจาก ระบอบประชาธิปไตยผู้แทน ไปสู่ "ประชาธิปไตยไท้เก๊ก" (หรือประชาธิปไตยยืมพลัง) ก็เป็นได้ ซึ่งจะทำให้การยึดอำนาจครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพียง รัฐประหารแบบธรรมดาๆ แต่จะเป็น การปฏิวัติการปกครองไปด้วยเลย
อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียง อ.ไอเดียข้อเสนอของ คนไทยคนหนึ่งมีที่ อ.อุดมการณ์ ซึ่งรักและเป็นห่วงประเทศชาติ แต่การจะนำไปใช้ไปปฏิบัติหรือไม่ จะนำไปประยุกต์ต่อยอดหรือไม่นั้น ก็ต้องขึ้นกับท่านผู้มี อ.อำนาจ นั่นเองละครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น