วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

วิกฤคิไก่งวง : ควงสว่านขาลง

ทำไมจึงชื่อว่า "วิกฤติไก่งวง" (Turkey Crisis)  เพราะ ผมเชื่อว่าจุดเริ่มต้นจะมาจากประเทศตุรกี ซึ่งคิดว่ามีปัญหามากที่สุดใน 50 ประเทศใหญ่ของโลก  จากค่า Ruang Alarm (ผลบวกของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP 3 ปีเข้าด้วยกัน)  ที่ใช้วัดการเสียสมดุลของความพอเพียงย่ำแย่กว่าระดับ -20%  ซึ่งมีความเสี่ยงระดับสูงมาก  และเป็นระดับเดียวกันกับประเทศไทยก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งเสียด้วย

ทำไมจึงเรียกว่า "ควงสว่านขาลง"  (Downward Spiral)  ก็เพราะ ผมเชื่อว่าปัญหาจะขยายวงกว้างขึ้น  โดยเชื้อร้ายนี้จะเริ่มต้นจากอ่อนตัวของค่าเงิน  ตลาดบอนด์ และ ตลาดหุ้น  จากนั้นก็ขยายวงไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงของตุรกี ไปยังประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆอีกไม่น้อย  เพราะ มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจในจุดที่คล้ายกัน  เช่น แอฟริกาใต้ ซึ่งขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในทวีปแอฟริกา   ประเทศบราซิล ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในทวีปอเมริกาใต้   แต่ประเทศทีไทยควรใส่ใจให้มากก็คือ "อินโดนีเซีย" ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์  ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการรวมตัวกันเป็น AEC ที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น

การที่ค่าเงิน Lira เริ่มอ่อนลงหลังจากแนวโน้มแข็งค่ามาถึง 4 เดือนนั้น จะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น แม้ว่าจะมีส่วนต่างของผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นเทียบกับอเมริกาจะสูงถึง 8% ก็ตาม  แต่ค่าเงินกลับอ่อนลงได้ 4% ภายในสัปดาห์เดียว  จนมีการขายทั้งบอนด์ และ หุ้นออกมา  เมื่อราคาสินทรัพย์ตกลง  ก็ยิ่งสร้างไม่เชือมั่น  เพราะ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดหนักอยู่แล้ว  เมื่อเงินทุนไหลออกมากขึ้น  ก็ยิ่งกดดันค่าเงินให้อ่อนลงได้อีกมาก  (ผมคาดว่าค่าเงินอาจอ่อนลงได้ถึง 20%)  จากนั้น  ปัญหาก็เริ่มเข้าสู่ "เศรษฐกิจจริง"  โดยบริษัทต่างๆ จะมีสภาพคล่องที่ลดลงมาก  จนถึงขั้นไม่สามารถชำระหนี้ได้ ล้มละลาย  เป็นปัญหา NPL ให้กับสถาบันการเงินอีก   เศรษฐกิจจึงเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง   ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้  คนไทยคงรู้จักกันดีในนามของ "วิกฤติต้มยำกุ้ง"  

เมื่อมีปัญหาของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินเช่นนี้ สุดท้ายแล้วก็จบด้วย วิกฤติเศรษฐกิจ  โดยได้เกิดขึ้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง เช่น วิกฤติเตกีล่าในเม็กซิโก   วิกฤติต้มยำกุ้งในไทย  วิกฤติอาร์เจนติน่าปี 2000   วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกา และ วิกฤติ PIIGS ในยูโรโซน  ซึ่งล้วนแล้วแต่มีต้นเหตุมาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง  รวมไปถึงการใช้ค่าเงินที่ไม่เหมาะสมทั้งสิ้น  ไม่ได้เกิดจาก นโยบายประชานิยม หรือ นโยบายการคลังขาดดุลแต่อย่างใด    ตอนนี้ตุรกีมีการเติบ่โตที่ดีถึง 4.3% ต่อปีสำหรับไตรมาสแรกที่ผ่านมา  แต่อาจเกิด "วิกฤติไก่งวง"  จนการเติบโตเข้าสู่ภาวะติดลบได้อย่างรวดเร็ว

หากประเมินว่า ค่าเงิน Lira ของตุรกี  ค่าเงิน Rand ของแอฟริกาใต้  ค่าเงิน Real ของบราซิล และ ค่าเงินรูเปี๊ยะของอินโดนีเซีย  รวมไปถึง ดัชนีตลาดหุ้น เป็นดัชนีชี้นำถึงสัญญาณอันตรายของ  พายุ "วิกฤติไก่งวง" แล้วละก็  ผมคิดว่า พายุนี้ได้เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย.นี้แล้ว  การติดตามพัฒนาการว่าจะรุนแรงขึ้นไปถึงไต้ฝุ่นระดับ 5 หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง  และ  ประเทศไทยควรเตรียมการรับมือแต่เนิ่นๆ ไว้ก่อนหรือไม่นั้น  ท่านผู้มีอำนาจควรเริ่มคิดวางแผนได้แล้ว  ข้อเสนอของผมก็คือ "ยุทธศาสตร์888"  อาจช่วยพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น