วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

ไฮเปอร์ลูป : ปฏิรูปคมนาคมไทยครั้งใหญ่

ไฮเปอร์ลูป (hyperloop)   ชื่อนี้คนไทยหลายคนคงรู้จักแล้ว  แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้จักดีนัก  นี่คือแนวคิดให้การคมนาคมแบบใหม่ที่ "อีลอน มัสก์"  เศรษฐีนักลงทุนชาวอเมริกันได้คิดขึ้น  จะทำให้สามารถวิ่งได้เร็วได้สูงสุดถึง 1.2 พันกม.ต่อชม. ภายในท่อที่ควบคุมความดัน   ประหยัดเวลาและพลังงานกว่าการเดินทางแบบอื่นๆ

แล้วยังไงละ.... คือ ผมคิดว่ามันจะดีกว่าไหม หากประเทศไทยจะปฏิรูปไปใช้ ไฮเปอร์ลูป เสียเลยซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากๆ  แทนที่จะปฏิรูปรถไฟความเร็วต่ำ  ไปสู่  รถไฟความเร็วปานกลาง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีตามหลังญี่ปุ่น 100 ปี มาดูข้อดีของ "ไฮเปอร์ลูป"  ที่ผมอาจแปลเป็นไทยได้ว่า "ท่อยิ่งยวด"

1. เร็วกว่า : การเดินทางในท่อที่เกือบสุญญากาศ ทำให้แรงเสียดทานลดลงมาก  จึงสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 1.2 พันกม.ต่อชม.  ซึ่งเร็กว่าเครื่องบินที่ 900 กม.ต่อ ชม. และ เร็วกว่าสุดยอดของระบบรางของญี่ปุ่นที่ใช้พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้ายกรถไฟให้ลอยอยู่เหนือราง  หรือที่เรียกว่า Maglev  ที่ความเร็วเกือบ 600 กม.ต่อชม.ถึง 2 เท่า  และ เร็วกว่ารถไฟความเร็วสูงของจีนที่วิ่งราว 300 กม.ต่อชม.ถึง 4 เท่าตัว
และ แน่นอนวิ่งเร็วกว่า รถไฟความเร็วปานกลางตามแผนที่วางไว้ 150 กม.ต่อ ชม.ถึง 8 เท่าตัว

2. ถูกกว่า : เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่  ประยุกต์มาจาก "ท่อส่งเอกสาร"  จึงไม่ต้องมีการวางรางเหล็ก ระบบสัญญาณ และ สายไฟฟ้าเลย   ต้นทุนการก่อสร้างมีการประเมินว่าน่าจะลดลงได้ครึ่งหนึ่ง จาก 600 ล้านบาทต่อ กม. ของรถไฟความเร็วสูง  เหลือเพียง 300 ล้านบาทต่อกม. เท่านั้นเอง

3. ประหยัดกว่า : มีการวางแผงโซลาร์เซลไปด้านบนท่อ  ดังนั้น การเดินทางนี้ไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมากเหมือนรถไฟความเร็วสูง  เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก   ค่าก่อสร้างก็ถูกดังนั้น มีการประเมินว่า ค่าโดยสารจะอยู่ที่ราว 1 บาทต่อ กม. หรือพอๆ กับรถทัวร์ในปัจจุบันนั่นเอง  ซึ่งต่ำกว่า ค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงที่ประเมินกันไว้ถึง 2.5 เท่า

แคปซูลของไฮเปอร์ลูป จะบรรจุผู้โดยสารได้ 28 คน  และ อาจออกได้ทุกๆ 2 นาที  จึงขนส่งผู้คนและสินค้าได้จำนวนมาก  โดยแทบไม่มีต้นทุนพลังงาน   เป็นการเปลี่ยนจาก "ระบบราง" ไปสู่ "ระบบท่อ"

ผมขอคาดการณ์ 3 เรื่องเกี่ยวกับ ไฮเปอร์ลูปไว้  เผื่อว่า จะได้เป็น "มิสเตอร์ไฮเปอร์ลูปของไทย" บ้าง

1. ประเทศไทยตัดสินใจเลือกไฮเปอร์ลูป :  หลังจากบทความนี้เผยแพร่ต่อสาธารณะ  คนไทยได้ถกเถียงกันอย่างมาก ว่าจะปฏิรูปรถไฟความเร็วต่ำ  ไปสู่ ความเร็วปานกลาง ความเร็วสูง หรือ ไฮเปอร์ลูปดี  จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ของ ไฮเปอร์ลูป   ทั้งในด้านเทคโนโลยี  ความปลอดภัย และ ต้นทุน  เมื่อระดมสมองจากหลายฝ่ายแล้ว  พบว่า  เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนอะไร  หากได้ความช่วยเหลือเล็กน้อยจากต่างชาติ  วิศวกรไทยก็สามารถสร้างได้สบายๆ  แถมปลอดภัยมาก  ต้นทุนการก่อสร้างต่ำกว่าที่คาดไว้เดิมเสียอีก   ท่านผู้มีอำนาจจึงอมุมัติให้สร้าง  "ไฮเปอร์ลูป"
           
โดยช่วงแรก 4 เส้นทางสั้นๆ คือ สายเหนือถึงพิษณุโลก   สายอีสานถึงโคราช   สานตะวันออกถึงพัทยา และ สายใต้ถึงหัวหิน   เพื่อดูผลสัมฤทธิ์   ปรากฏว่าสำเร็จอย่างงดงาม  ใช้เวลาเพียง 10 นาที คนจาก กทม.ก็ไปเดินเล่นที่หัวหิน และ พัทยาได้แล้ว  เป็นที่ตื่นเต้นไปทั่วโลก    เรื่องนี้มีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์ไทย เพราะ ได้เปลี่ยนสถานะจากผู้ตาม ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้  ไปเป็นผู้นำ 2 ประเทศนั้นได้เลย  ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในรอบครึ่งศตวรรษนี้

2. ทั้งภูมิภาค AEC ร่วมใช้ไฮเปอร์ลูป : เมื่อเห็นประเทศไทยทำสำเร็จ  ประเทศใน AEC ก็ต้องการแบบเดียวกันด้วย 3 เหตุผล คือ เร็วกว่า-ถูกกว่า-ประหยัดกว่า   เครือข่ายจึงขยายออกไปอย่างมาก  โดยไทยได้วางไว้ 2 ฮับ คือ กทม.เชื่อมไปพม่าที่ทวาย และ เชื่อมไปเวียดนามที่เมืองโฮจิมินห์      ส่วนขอนแก่น เชื่อมพม่่าที่เมียววดีและย่างกุ้ง  เชื่อมเวียดนามตอนกลางที่ ดานัง   และทั้ง 2 เมืองเชื่อมกับ ประเทศจีนที่ คุนหมิง

เครือข่ายไฮเปอร์ลูป จึงกระจายไปทั่วภูมิภาค และ เป็นการคมนาคมความเร็วสูงหลักของภูมิภาคนี้  นอกจากนี้ยังกระจายไปยัง  ภูมิภาคเอเชียใต้ และ จีนตอนใต้อีกด้วย

3. ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของไฮเปอร์ลูป :  ไฮเปอร์ลูปได้สร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ  ทำให้เศรษฐกิจของทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะไทย  เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดนานนับทศวรรษ   โดยทั่วโลกยอมรับให้ไทยเป็นผู้นำในด้านการคมนาคมแบบใหม่ที่ไม่ใช่ "ระบบราง"  แต่เป็น "ระบบท่อ"

แต่เรื่องราวทั้ง 3 นี้จะเป็นผลไม่ได้เลย  หากท่านผู้มี อ.ไอเดียอย่างสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  รวมถึง ท่านผู้มีอ.อำนาจอย่าง คณะรัฐมนตรี (ครม.)   ไม่ร่วมกันแสดง อ.อุดมการณ์ที่มุ่งมั่นพัฒนาประเทศชาติไทยให้นำหน้า ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้  แทนที่จะเดินตามหลังเป็น 100 ปี    ไม่เพียงแต่ผมเท่านั้น  ผมเชื่อว่ามีคนไทยอีกไม่น้อยเลย  หากได้อ่านเรื่องนี้จบแล้ว  จะหันมาเชียร์ "ไฮเปอร์ลูป" แทนที่ "รถไฟความเร็วปานกลาง" เป็นแน่ครับ

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น