วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ดอกเบี้ย และ เงินเฟ้อ : ความเชื่อผิดๆ

ดอกเบี้ย และ เงินเฟ้อ : ความเชื่อผิดๆ

ธนาคารกลางทั่วโลกมีความเชื่อคล้ายๆ กันว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยสกัดเงินเฟ้อ และ การลดอัตราดอกเบี้ยลงจะช่วยกระตุ้นเงินเฟ้อเพิ่มนั้น....แท้ที่จริงแล้วเป็นความเชื่อที่ผิด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น.....

เหตุผลก็คือ แรงกิริยาที่เกิดจาการลด หรือ ขึ้นดอกเบี้ย จะช่วยกระตุ้น หรือชะลอสินเชื่อเพื่อการบริโภคและการลงทุนนั้น แท้ที่จริงแล้ว ยังมีแรงปฏิกิริยาสะท้อนกลับในทางตรงข้ามถึง 5 แรง ซึ่งผมได้ตั้งชื่อให้ว่า Taiji-Econ.'s Five Forces ดังนี้

1. ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น : หากขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น เงินเฟ้อจึงสูงขึ้น แทนที่จะชอลตัวลง

2. ผลตอบแทนเงินฝาก : หากขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วจะส่งผลให้คนระดับนายทุน มีรายได้จากดอกเบี้ยรับสูงขึ้น เพิ่มกำลังซื้อขึ้น จึงทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นแทนที่จะชะลอตัวลง

3. ผลตอบแทนค่าเช่า : การขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะเป็นการเพิ่ม yield ของค่าเช่าทางอ้อม ทำให้เจ้าที่ดินเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ มีผลตอบแทนค่าเช่าที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อ

4. เงินทุนต่างชาติไหลเข้าเพิ่ม : ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาหาผลตอบแทนที่ดีกว่า ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อ

5. เงินทุนไหลออกลดลง : ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะทำให้เงินทุนที่ควรจะไหลออกเพื่อไปลงทุนต่างประเทศนั้น ลดลงกว่าระดับที่ควรจะเป็น กระแสเงินในประเทศจึงเหลือมาก เงินจึงเฟ้อ

เมื่อมีผลกระทบในทางตรงกันข้ามกับแนวคิดเดิม การที่ธนาคารกลางในประเทศกำลังพัฒนาขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มแทนที่จะชะลอเงินเฟ้อ และ การที่ธนาคารกลางประเทศพัฒนาแล้ว ลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (ดอกเบี้ยมาตรฐาน) และ ดอกเบี้ยระยะยาว (มาตรการ QE) ลง ก็จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงหรือเงินฝืด แทนที่จะเร่งอัตราเงินเฟ้อขึ้น

มี 4 ปัจจัยที่ทำให้แรงกิริยาแบบเดิมๆ นั้นส่งผลน้อยลง ขณะที่แรงสะท้อนกลับส่งผลแรงยิ่งขึ้น ทำให้ทฤษฎีการเงินแบบเดิมๆ ไม่ได้ผลตามคาด แต่กลับส่งผลในทางตรงกันข้ามแทน โดยเฉพาะเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว ผมตั้งชื่อ 4 ปัจจัยนี้ว่า LOAD factors

1. L (Liberalisation) การเงินเสรี รวมไปถึงการค้าการลงทุนเสรีนั้น ทำให้การลดอัตราดอกเบี้ยลง แทนที่จะไปเพิ่มสินเชื่อเพื่อการลงทุน เพิ่มการจ้างงาน เงินทุนเหล่านั้นกลับหนีออกไปยังต่างประเทศเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่า

2. O (Overcapacity) มีกำลังการผลิตล้นเหลือแทบจะทุกภาคส่วนของโลก ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยลง จึงไม่ไปเพิ่มการลงทุนโดยตรง ไม่เพิ่มการจ้างงาน ไม่เพิ่มเงินเฟ้อ มีแต่จะไปเพิ่มในส่วนของการลงทุนในหุ้นและพันธบัตรแทน

3. A (Aging Society) สังคมผู้สูงอายุ ทำให้การบริโภคลดลง ด้วยคนเกษียณมีรายได้ที่ลดลง พร้อมๆ ไปกับวิถีชีวิตที่บริโภคลดลงตามวัยด้วย การลดอัตราดอกเบี้ยลง กลับทำให้รายรับจากดอกเบี้ยเงินฝากของคนกลุ่มนี้ลดลง ทำให้กำลังซื้อ และ เงินเฟ้อของประเทศชะลอตัว

4. D (Deleveraging) ประเทศพัฒนาแล้วมีการสร้างหนี้อย่างมากในอดีต จำเป็นต้องมีการลดภาระหนี้สินลง ดังนั้น การลดดอกเบี้ยลงเพื่อหวังกระตุ้นสินเชื่อจึงหวังได้ยาก

LOAD factors นี้เอง ทำให้ผลของทฤษฎีการเงินแบบเดิมๆ ไม่เห็นผล แต่แรงสะท้อนกลับยิ่งส่งผลที่มากขึ้น ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกเป็นสิ่งที่ผิดพลาดทั้งหมด

นี่เป็นการค้นพบว่า “โลกกลม” ในทางเศรษฐศาสตร์หรือไม่ ขณะที่คนของธนาคารกลางทั่วโลก เห็นว่า “โลกแบน” ที่จริงแล้วคงไม่ถึงขนาดนั้น.... เพราะว่า ระดับเด็กประถม หรือ ชาวบ้านธรรมดาก็เข้าใจได้อย่างถูกต้องและง่ายดาย ลองไปถามดูสิครับว่า “หากแม่ค้าต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับนายทุนนอกระบบสูงขึ้น ข้าวของในตลาดจะแพงขึ้นหรือว่าถูกลง” ผมเชื่อว่า แทบจะทุกคนตอบได้อย่างสบาย และ สำหรับเด็กประถมศึกษา ดูจากสมการ อัตราดอกเบี้ย (nominal rate) = อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real rate) + เงินเฟ้อ (infloation) ดังนั้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ย....นั่นหมายถึง เงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั่นเอง เรื่องง่ายๆ เด็กๆ

แล้วทำไมเรื่องง่ายๆ ที่ชาวบ้านก็เข้าใจได้ถูกต้อง แต่ระดับผู้บริหารธนาคารกลางจึงเข้าใจผิดไปได้ ประเด็นอยู่ที่ “ตำราเศรษฐศาสตร์” ไงครับ พวกท่านเหล่านั้นเรียนตำราเล่มเดียวกัน จึงบริหารตาม “ภูมิปัญญาตำรา” ของเศรษฐศาสตร์การเงินที่บกพร่อง ขณะที่ “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” นั้นถูกต้องดีอยู่แล้ว ในอนาคตของเนื้อหาบทความนี้ถูกไปเสริมในทฤษฎีการเงินมหภาคก็อาจจะช่วยให้เข้าใจได้ถูกต้องยิ่งขึ้น

ทางแก้ไขก็คือ ธนาคารกลางทั่วโลกต้องรีบดำเนินนโยบายแบบ “ย้อนศร” กับแบบเดิม ประเทศพัฒนาแล้วอย่าง ญี่ปุ่น อเมริกา ซึ่งพยายามลดดอกเบี้ยมาหลายปี แต่อัตราเงินเฟ้อก็ต่ำมากๆ ต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อเร่งเงินเฟ้อ และ ขายพันธบัตรที่ธนาคารกลางสะสมเอาไว้จำนวนมาก (Anti-QE) อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในระยะสั้นและยาว จะไปเพิ่มต้นทุนทางการเงิน กระตุ้นเงินเฟ้อ จะดึงดูดเงินต่างชาติเข้ามา และเงินจะไหลออกลดลง ส่วนประเทศกำลังพัฒนาอย่าง อินเดีย และ เวียดนาม ซึ่งขึ้นดอกเบี้ยมาเป็นปีแล้ว แต่เงินเฟ้อก็ยังสูงระดับ 8-9% มาตลอดเช่นกัน ต้องรีบลดอัตราลงมาเพื่อลดต้นทุนการเงิน ลดเงินเฟ้อลง ชะลอเงินไหลเข้าจากต่างชาติ

เรื่องแบบนี้อาจดูขัดกับความรู้สึกของผู้กำหนดนโยบาย แต่เป็นเรื่องธรรมดามากๆ ของชาวบ้าน น่าสงสัยว่าจะมีธนาคารกลางของประเทศใดบ้าง ที่จะเปลี่ยนความเชื่อแบบผิดๆ แบบเดิมๆ ทิ้งเสีย เดินหน้านโยบาย “ย้อนศร” กับของเดิม เพื่อนำพาเศรษฐกิจโลกไปยังทิศทางที่ถูกต้องได้..... ขอเรียกร้องให้ ธปท.เริ่มก่อนเลยดีไหมครับ ???

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น