ปัญหา ก็คือ ตำราเศรษฐศาสตร์
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เศรษฐกิจโลกตอนนี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนขับรถ ไม่ได้อยู่ที่สภาพรถ ไม่ได้อยู่ที่สภาพถนน แต่มันกลับอยู่ที่ "ป้ายบอกทาง" ต่างหาก ลองคิดดูว่า ป้ายบอกทางที่ล้าสมัยและผิดพลาด ชี้บอกว่า "airport" ให้วิ่งไปทางเหนือของ กทม. แทนที่จะชี้ไปทางทิศตะวันออก เพราะ สนามบินระหว่างประเทศย้ายจาก "ดอนเมือง" ไป "สุวรรณภูมิ" นานแล้ว วิ่งกันแบบผิดๆ อย่างนี้ อีกนานเท่าใดจึงจะถึงที่หมาย มีรถหลายคันที่วิ่งชนกันเอง และ ยังมีรถอีกหลายคันที่กำลังจะวิ่งลงเหว
อาจกล่าวได้ว่า หลังจากสมัยของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ "เศรษฐศาสตร์" ซึ่งเป็นวิชาการที่เกี่ยวกับปากท้องความเป็นอยู่ของคนเกือบทั้งโลก แต่การพัฒนาของทฤษฎีแบบมีนัยสำคัญนั้นแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ ตรงกันข้ามกับการพัฒนาเศรษฐกิจและรายได้ประชากรวิ่งไปอย่างรวดเร็ว เศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาสำคัญของ "สังคมศาสตร์" นั้นมีความแตกต่างกับ "พุทธธรรม" และ "วิทยาศาสตร์" อย่างมาก เพราะ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของสังคม และ เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทำให้ทฤษฎีการเงินและการคลังเก่าๆ นั้นใช้ไม่ได้ผลดังเดิม ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเทียบกับวิชาบัญชี หรือ วิชาการลงทุนแล้ว "เศรษฐศาสตร์" ยังมีความสับสนในเรื่องของ stock และ flow อยู่มากทีเดียว
มาลองดูกันที่ "ทฤษฎีการคลัง" ก่อน ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วทั้งญี่ปุ่น อเมริกา และ ยุโรป ล้วนแล้วแต่ติด "กับดักเคนส์" ทั้งสิ้น เป็นภาระหนี้สาธารณะที่แม้จะใส่เงินก้อนโตขาดดุลจำนวนมหาศาล ก็ยังไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแรง ในเรื่องนี้เอง แม้แต่เจ้าของทฤษฎีเคนส์ เมื่อถูกถามว่าในระยะยาวแล้ว ภาระหนี้สาธารณะที่พอกพูนขึ้นจะเป็นปัญหาหรือไม่ เคนส์ได้ตอบเป็นประโยคดังก้องโลกว่า "ในระยะยาวแล้ว พวกเราทุกคนจะตายหมด" ใช่แล้วครับ เคนส์ได้เสียชีวิตไปแล้ว และ ผู้สร้างหนี้ภาครัฐก้อนโตให้ประเทศพัฒนาแล้ว หลายๆ ท่านก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่ปัญหาก็คือ แม้นักวิชาการหรือท่านผู้นำจะเสียชีวิตไป แต่หนี้สาธารณะนั้นยังคงอยู่เป็นภาระให้กับรุ่นลูกหลานอยู่ดี มันไม่ได้หายไปพร้อมๆ กับคนสร้างหนี้นะครับ
ในปัจจุบันมีการพูดถึง 2 ด้านของนโยบายการคลัง ด้านที่ 1 ก็คือ ควรจะขาดดุลการคลังหนักๆ ต่อไปเพื่อพยุงเศรษฐกิจจะดีกว่าไหม ?? ดูเหมือนอเมริกาจะเลือกทางนี้ ส่วนด้านที่ 2 คือ ควรจะรัดเข็มขัดการคลัง โดยยอมให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงบ้างจะดีกว่าไหม ?? ประเทศแถบยุโรปเลือกด้านนี้
เหรียญทั้ง 2 ด้านนั้นไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะ ด้านแรกนั้น จะทำให้เกิดหนี้สาธารณะสูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดวิกฤติการคลังได้ ส่วนวิธีหลังนั้น อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมาก จนทำให้รายได้ภาษีของรัฐลดลง และรัฐอาจต้องใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือคนว่างงานมากขึ้น ในที่สุดแล้วจะทำให้การขาดดุลการคลังสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้แต่เดิม เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) จึงได้เสนอทางออกแบบ "เหรียญด้านที่ 3" เพราะเหรียญไม่จำเป็นต้องอออก "หัว" หรือ "ก้อย" มันอาจจะออก "กลาง" ก็ได้ ซึ่งผมได้นำเสนอไปแล้วในบทความ "รัดเข็มขัดการคลังอย่างไรให้เศรษฐกิจดีขึ้น" ซึ่งหลักการก็คือ ให้ลดรายจ่ายภาครัฐในส่วนที่เงินนั้นวิ่งเข้าสู่ stock (กองทุนต่างๆ) แทนที่จะเป็น flow ในการใช้จ่ายบริโภคและลงทุน ซึ่งเงินที่วิ่งสู๋ stock เหล่านั้นมีค่าตัวทวีคูณ (multiplier) ที่ต่ำกว่า 1 เงินขาดดุลการคลังนั้นจึงส่งผลลบต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเป็นผลบวก
ยกตัวอย่างเช่น กรณีของ กอช. (กับดักการออมแห่งชาติ) ซึ่งรัฐบาลอาจใส่เงิน 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่แรงงานนอกระบบใส่เงินสมทบราวปีละ 3 หมื่นล้าน รวมเป็น 5 หมื่นล้านบาท แทนที่เงินจะไหลเป็น flow เพื่อบริโภคและลงทุน และสร้าง GDP 2 เท่าตัวได้ยอดถึง 1 แสนล้านบาท เงินกลับจมอยู่เป็นกองทุนซึ่งอาจได้ผลตอบแทนราว 2% ต่อปีได้ GDP เพียง 1 พันล้านบาท จะเห็นได้ว่าตัวเลขแตกต่างกันถึง 100 เท่าตัว ตัวทวีคูณของโครงการนี้อาจตกอยู่ที่ -5 เท่า ซึ่งต่ำกว่าตัวเลข 1 เท่าอย่างมาก กอช.จะมีภาระผูกพัน 10 ปีเป็นอย่างต่ำก่อนที่จะเริ่มจ่ายเงินบำนาญ ด้งนั้น โครงการนี้จึงอาจสร้างความเสียหายต่อ GDP ไทยได้ถึง 1 ล้านล้านบาท (ราว 20 เท่าของความเสียหายทางเศรษฐกิจของอุทกภัยใหญ่ครั้งนี้) น่าแปลกใจไหมครับว่า ทำไม ครม.และสภาฯ จึงผ่านเรื่องแบบนี้มาได้อย่างง่ายดาย ??
การลดเงินสมทบเข้าประกันสังคม และกบข. การลดวงเงินหักลดหย่อนภาษีสำหรับ LTF,RMF รวมไปถึง การยืมพลังของกองทุนบำนาญมาเพื่อช่วยรัฐบาล เหล่านี้ล้วนแต่เป็นการ "รัดเข็มขัดการคลัง" ที่ส่งผลบวกต่อ GDP ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศยุโรปในกลุ่ม PIIGS และ ญี่ปุ่น อาจต้องเร่งรีบศึกษาเพื่อนำไปใช้เพื่อแก้ไขวิกฤติการคลัง พร้อมๆ ไปกับกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว
สำหรับ "ทฤษฎีการเงิน" นั้น ความเชื่อที่ว่า "การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ" และ "การลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อเร่งเงินเฟ้อ" นั้นเป็นความคิดที่ผิด โดยปัจจัยที่ทำให้สิ่งเหล่านี้ใช้ไม่ได้เหมือนในอดีต แต่กลับส่งผลในทางตรงกันข้ามก็เพราะ ยังมีแรงสะท้อนกลับอีก 5 แรงที่ทฤษฎีการเงินเดิมๆ มองข้ามไป เช่น ต้นทุนการเงิน รายได้ของนายทุน และ การไหลเข้าออกของเงินทุนต่างชาติ นอกจานี้ยังมีปัจจัย "LOAD" (Liberalisation, Overcapacity, Aging Society และ Deleveraging) เป็นภาระถ่วงให้แรงกิริยาเดิมส่งผลน้อยลง และ แรงสะท้อนกลับส่งผลรุนแรงยิ่งขึ้น นันหมายถึง การหวังผลให้การลดอัตราดอกเบี้ยช่วยกระตุ้นสินเชื่อเพื่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศตนเองนั้นเกิดขึ้นได้ยาก แต่กลับส่งผลในทางตรงกันข้าม เกิดภาวะเงินฝืดแทน
และสำหรับ "ทฤษฎีอัตราแลกเปลี่ยน" นั้น เงินยูโรสะท้อนเรื่องนี้เป็นอย่างดี หลังจากที่ชาวยุโรปเคยภาคภูมิใจกับ "ยูโร"เป็นอย่างมากเชื่อว่าจะช่วยในการค้าและการลงทุนได้อย่างดี แต่แท้ที่จริงแล้ว "ระบบเงินยูโร" คือ ต้นเหตุแห่งหายนะของยูโรโซนในปัจจุบัน กรีซมีอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสูง ดังนั้น ค่าเงินของกรีซควรจะอ่อนค่าลงในระยะยาว ขณะที่เยอรมันมีดอกเบี้ยและเงินเฟ้อต่ำ ค่าเงินควรจะแข็งค่าในระยะยาว (International Fisher Effect) แต่ทั้ง 2 ประเทศกลับใช้เงิน "ยูโร" เหมือนกัน นั่นหมายถึง เงินยูโร ควรจะทั้งอ่อนค่า และ แข็งค่า มันจึงเป็น "ความขัดแย้งกันเองของยูโร" (Paradox of Euro) ทางแก้ไขนั้น ก็คือ ควรต้องมีเงินอย่างน้อย 2 ระบบ ผมตั้งชื่อให้ว่า "Eura" เป็นอีกสกุลหนึ่ง ซึ่งควรใช้กับประเทศที่แข็งแรง อย่างเยอรมัน ฝรั่งเศส ออสเตรีย ฯลฯ ยอมให้เงินยูโร อ่อนค่าลงไป เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ติดหนี้เหล่านี้ให้มีภาระหนี้ที่เบาลง ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพการส่งออกและท่องเที่ยวอีกด้วย
การที่ทฤษฎีการเงิน การคลัง และ อัตราแลกเปลี่ยน ชี้ทิศทางที่ผิดๆ อยู่เช่นนี้ จึงสร้างปัญหาต่อการกำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ เพราะ ผู้กำหนดนโยบายล้วนเรียนมาจากตำราเล่มเดียวกัน เมื่อเชื่อผิดๆ ก็ย่อมดำเนินนโยบายผิดๆ ใน "ตำราเศรษฐศาสตร์" ปัจจุบันจะพบว่ามันสับสน และมีข้อผิดพลาดอยู่เป็นจำนวนมาก นี่อาจเป็นครั้งแรกในแวดวงวิชาการไทย ที่พวกเราได้พบข้อผิดพลาดในเนื้อหาหลักของทฤษฎีระดับโลก นอกจากนี้เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) อาจจะช่วยในการอุดช่องโหว่เหล่านั้น อาจช่วยแก้ไขทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ให้ถูกต้องยิ่งขึ้นได้ นั่นอาจหมายถึง ประเทศไทยอาจก้าวสู่การเป็นผู้นำในการส่งสัญญาณเตือน และ แนะนำนโยบายเศรษฐกิจด้านต่างๆ ให้กับประเทศยักษ์ใหญ่ รวมไปถึงองค์กรอย่าง IMF และ ECB อีกด้วย
ผมจึงขอเรียกร้องให้นักวิชาการให้รีบเร่งศึกษาในศาสตร์แขนงใหม่นี้ และ ทำการปรับปรุง "ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์" เสียใหม่ เพราะ การขาดดุลการคลังไม่แน่ว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดอัตราดอกเบี้ยลงก็ไม่แน่ว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นเงินเฟ้อ รีบปรับปรุง "ป้ายบอกทาง" ให้ทันสมัยและถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้รถยนต์ชนกันเอง ช่วยให้รถยนต์ที่วนๆ หลงทิศหลงทางมานานได้ไปสู่เป้าหมายอย่างถูกต้อง และที่สำคัญคือป้องกันไม่ให้รถยนต์วิ่งอย่างเร็วไปที่ริมหน้าผา โดยที่คนขับซึ่งปฏิบัติตาม "ป้ายบอกทาง" นั้นยังหลงดีใจร้องบอกผู้โดยสารอยู่เลยว่า "พวกเรามาถูกทางแล้ว"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น