ยูโร คือ หมูหัน
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น...เงินยูโร นั้นเหมือนมีชะตากรรมที่เหมือนถูกสาปและต้องอายุสั้นกว่าที่ควรจะเป็น เพราะ มีการถือกำเนิดแบบไม่มีตรรกะเหตุผลที่ดีพอมารองรับ แม้ว่าจะถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนการค้า การลงทุนในยูโรโซนได้เป็นอย่างดีมาช่วงเวลาหนี่งก็ตาม อย่างไรก็ดี ค่าเงินที่ควรจะสะท้อนสภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศกลับไม่สามารถเกิดขึ้นได้ก็เพราะ "ระบบเงินยูโร" นี่เอง
เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี คนทั่วโลกก็เริ่มเห็น "ด้านมืด" ของเงินยูโรอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ประเทศที่แข็งแรง เงินเฟ้อต่ำ และ ประเทศที่อ่อนแอ เงินเฟ้อสูง กลับใช้เงินสกุลเดียวกัน ยิ่งเวลาผ่านไป ประเทศที่อ่อนแอยิ่งไม่สามารถจะแข่งขันด้านการส่งออกได้เลย เมื่อส่งออกได้น้อยนำเข้ามาก ก็พบปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและติดหนี้กับต่างประเทศจำนวนมาก โดยในปี 2008 ที่ค่าเงินยูโรเคยแข็งค่าถึงระดับ 1.60 ดอลลาร์นั้น กรีซเคยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 15% GDP ส่วนสเปนและโปรตุเกสอยู่ระดับ 10% GDP ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประเทศเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขด้วยการรัดเข็มขัดการคลังเท่านั้น เพราะ ต้นตอของปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้น ถึงจะรัดเข็มขัดจนเหลือขาดดุล 3% GDP ประเทศก็ยังไม่สามารถค้าขายให้ได้ดุลมาเพื่อลดหนี้ได้ ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ระดับอัตราแลกเปลี่ยน "ยูโร" ที่ไม่เหมาะสมกับประเทศอ่อนแอเหล่านี้ต่างหาก
ประเทศที่ประสบปัญหาจนต้องขอความช่วยเหลือก่อนเพื่อนก็คือ กรีซ (G) ถัดมาก็คือ ไอร์แลนด์ (I) และ น่าจะเป็นโปรตุเกส(P)คือรายต่อไป เมื่อเรียงลำดับอักษรจากหลังมาหน้า ก็จะได้คำว่า "PIG" นั่นเอง แล้วอีก 2 ประเทศขนาดใหญ่ที่จะตามมาก็คือ สเปน (S) และ อิตาลี (I) ก็ได้เป็นคำว่า "IS" ซึ่งหาก 2 ประเทศนี้ถูกโจมตีด้วยกองทุนเฮดจ์ฟันด์อย่างได้ผลจนผลตอบแทนพันธบัตรสูงลิ่วเสียแล้วละก็ ในที่สุดก็คงถึงเวลาล่มสลายของเงิน EURO ดังนั้น อาจเรียงประโยคได้ว่า "EURO IS PIG" เงินยูโรคือ หมูหัน ที่พร้อมถูกเชือด นี่คือคำสาปจากสวรรค์
Paradox of Euro หมายถึง การขัดแย้งกันเองของเงินยูโร ประเทศที่อ่อนแอ (PIIGS) ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสูง แถมด้วยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ค่าเงินควรอ่อนลงในระยะยาว ขณะที่ประเทศแข็งแกร่ง (เยอรมัน) ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อต่ำ ได้ดุลบัญชีเดินสะพัด ค่าเงินควรแข็งค่าขึ้นในระยะยาว แต่ 2 กลุ่มประเทศกลับใช้ค่าเงินเดียวกัน ดังนั้น ยูโรจึงควรทั้งแข็งค่า และ อ่อนค่าในระยะยาว ?? เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นไม่ได้เพราะมันขัดแย้งกันเอง สภาพเช่นนี้จะไม่สามารถคงอยู่ได้นานนักในอนาคต ในปี 2011 จึงควรเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของระบบเงินสกุลเดียวนี้
"หมูหัน" ยังต้องมีการผ่าแบ่งซีกด้วยเช่นเดียวกันกับ "เงินยูโร" ทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดน่าจะเป็น การสร้างเงินอีกระบบหนึ่งขึ้นมารองรับ เพื่อแยกประเทศในยูโรโซน ออกเป็นอย่างน้อย 2 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มแข็งแรง และ กลุ่มอ่อนแอ จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ และ ยังรักษาข้อดีของการใช้เงินสกุลร่วมกันได้ต่อไป
ธปท.ควรจะรีบนำเอาข้อความ 2 ประโยคไปบอกกับธนาคารกลางของยูโรโซน (ECB) ดังนี้ 1.ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้มานานกว่า 10 ปี มันไม่แน่ว่ามันจะดีเสมอไป 2.การยื้อพยายามรักษาระบบที่ผิดพลาดเอาไว้ จะทำให้ความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ นี่คือการสื่อสารว่า "ระบบตะกร้าเงินบาท"ในอดีต กับ "เงินยูโร" ในปัจจุบัน ต่างก็มีจุดบกพร่องและสมควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขโดยเร็วที่สุด "ระบบตะกร้าเงินบาท" นั้นใช้เวลา 12 ปีกว่าจะยกเลิกไป ขณะที่เงินยูโร ก็จะครบรอบ 12 ปีในปี 2011 เช่นกัน
หากประเทศที่แข็งแรงก็ใช้เงิน Eura ใช้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเช่น ขาดดุลการคลังไม่เกิน 3% GDP กลุ่มนี้จะมีเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยต่ำ และ ค่าเงินจะแข็งค่าในระยะยาว ส่วนประเทศอ่อนแอใช้ Euro กันต่อไป ปรับเกณฑ์ขาดดุลการคลังให้ยืดหยุ่นขึ้นเป็น 5% GDP เบื้องต้นอาจกำหนดให้ Eura มีค่าแข็งกว่า Euro ราว 10% หลังจากนั้นก็เปิดเสรีให้ซื้อขายเป็นไปตามกลไกตลาด อาจเป็นไปได้ว่า Euro อาจดิ่งลงอย่างเร็วเหลือแค่เท่ากับ 1 ดอลลาร์ ขณะที่ Eura อาจแข็งค่าขึ้นเป็น 1.5 ดอลลาร์ นั่นหมายถึงว่า กรีซ ซึ่งฝืนใช้ค่าเงินเดียวกับ เยอรมัน เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะ ค่าเงินที่เหมาะสมนั้นอาจแตกต่างกันได้ถึง 50%
กลุ่ม PIIGS จะมีเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่า ค่าเงินจะอ่อนค่าลงในระยะยาว ซึ่งก็จะช่วยให้ภาระหนี้สินเป็น "ยูโร"ของประเทศกลุ่ม PIIGS นั้นด้อยค่าลง พร้อมๆ กับช่วยส่งเสริมการส่งออกและการท่องเที่ยวให้แข่งขันได้ดีขึ้น ช่วยประเทศลูกหนี้เหล่านี้ให้ทำมาค้าขายมีกำไรเพื่อมาลดหนี้ได้ วิธีนี้จะปรับเศรษฐกิจของยุโรปเข้าสู่สมดุลในที่สุด แม้ว่า ประเทศเยอรมัน และประเทศเอเชียที่เป็นเจ้าหนี้ "เงินยูโร" จำนวนมาก อาจต้องมีสินทรัพย์เงินยูโรที่ด้อยค่าลงไปบ้างก็ตาม
ในที่สุดแล้ว ผมคิดว่าค่าเงินที่เหมาะสมสำหรับยุโรป อาจต้องใช้เงินถึง 3 สกุลด้วยกัน Eura,Euri และ Euro เพื่อให้ประเทศที่แข็งแรง กลางๆ และ อ่อนแอ ได้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศตนเอง ยังมีอีก 11 ประเทศใน EU ที่ยังไม่เข้าในระบบยูโรโซน ก็อาจได้ใช้จังหวะนี้เพื่อโดดเข้าใช้เงิน "สกุลร่วม" 1 ใน 3 สกุล ดังนั้น ทั้งยุโรปตะวันตก ตะวันออก รวมไปถึง แอฟริกาอีกหลายประเทศ อาจเหลือเงินแค่ 3 สกุลนี้เท่านั้น และ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการ "แตกเพื่อโต" ของยุโรป และ ช่วยสร้างต้นแบบที่ดีให้กับค่าเงินในเอเชียด้วย
สำหรับการป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจอันเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยน เช่น วิกฤติเตกีล่าในเมกซิโก วิกฤติต้มยำกุ้งในไทย และ วิกฤติในอาร์เจนตินาซึ่งปล่อยให้ค่าเงินแข็งเกินระดับเหมาะสมเป็นเวลานาน ส่งผลให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องจนเกิดวิกฤตินั้น แนวคิดของนายไกธ์เนอร์ รมว.คลังอเมริกาถือว่าดีทีเดียว IMF และ WTO ควรมีหน้าที่เข้ามาดูแลประเทศที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งด้านได้ดุลและขาดดุลเกินกว่า 3% GDP ติดต่อกัน 3 ปี เพื่อปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมเกิดสมดุลขึ้นได้ หากมีการเตือนภัยเช่นนี้โลกคงลดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจต่างๆ ไปได้มาก รวมทั้ง "วิกฤติหมูยูโร" ในครั้งนี้ด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น