วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิกฤติหมูหัน กับ สารพันทฤษฎี

วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไตรมาส 4 ของปี 2012  ผมขอเรียกว่า "วิกฤติหมูหัน" ซึ่งเกิดจากชื่อของอาหารจีน โดยประเทศจีนจะเกิดภาวะฟองสบู่แตก  hard landing  เมื่อรวมกับ PIIGS ซึ่งเป็นประเทศอ่อนแอในเขตยูโรโซน  จึงได้ชื่อนี้ขึ้นมา  การรวมวิกฤติ 2 ภูมิภาคเข้าด้วยกันทำให้โลกเดินเข้าสู่เขตแดนอันตรายยิ่ง

"กับดักเคนส์" คือ สภาพที่ไม่ว่าจะทุ่มงบประมาณเข้าไปมากๆ เพื่อพยุงเศรษฐกิจหรือว่าจะรัดเข็มขัดการคลัง ยอมให้เศรษฐกิจตกต่ำก็ตาม  ภาครัฐยังคงต้องสร้างหนี้เพิ่มขึ้น  ทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อ GDP สูงขึ้นอยู่ดี   การใช้ทฤษฎีการคลังของเคนส์แบบเดิมๆ  ทำให้ติด "กับดักเคนส์" อย่างเลี่ยงไม่ได้ และกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศพัฒนาแล้วทั้งปวง เพราะ โครงสร้างประชากรได้เปลี่ยนจาก "พีระมิด" เป็น "โอ่งน้ำ" ทำให้คนรุ่นใหม่ซึ่งจะรับภาระเสียภาษีนั้นมีไม่มากพอ  ขณะเดียวกัน  คนชราซึ่งเป็นภาระของภาครัฐกลับมีสัดส่วนที่สูงขึ้น  การแก้ไข "กับดักเคนส์" จึงไม่อาจใช้ทฤษฎีการคลังเดิมๆ ได้  แต่จำเป็นต้องใช้  ทฤษฎีการคลังไท้เก๊ก  ซึ่งเป็นการยืมพลังของกองทุนบำนาญมาช่วย  จึงทำให้สามารถรัดเข็มขัดการคลัง  เดินหน้าไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นเศรษฐกิจได้

"กับดักเงินเฟ้อ" คือ สภาพที่เมื่อเศรษฐกิจดีเป็นฟองสบู่  เงินเฟ้อจะสูงขึ้นและ รัฐบาลของประเทศต่างๆ จะใช้ทฤษฎีการเงินเดิมๆ  เพื่อสกัดเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ย   กลับส่งผลตรงกันข้ามทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไปอีกจาก ต้นทุนการเงิน และ ค่าเช่าที่สูงขึ้น   จนไปถึงจุดหนึ่งเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงมาก  (ญี่ปุ่น เคยวิ่งไปถึง 6% ก่อนวิกฤติวาซาบิ ปี 1991 และ อเมริกาเคยวิ่งไปถึง 5%  ก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008)   ดอกเบี้ยไม่สกัดเงินเฟ้อ  แต่มันสกัดการเติบโต (growth)  ทำให้เศรษฐกิจฟองสบู่แตกตัวลง  และ สิ่งเดิมๆ นั้นกำลังเกิดขึ้นกับประเทศจีน และ อินเดีย    

แนวคิดใหม่ก็คือ  เราไม่ควรจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ  เพราะว่ามันไม่ช่วย แต่มันจะสกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจแทน  อาจส่งผลให้ฟองสบู่แตกได้   ส่วนการป้องกันภาวะฟองสบู่นั้น ธนาคารกลางจะต้องดูแล ปริมาณเงิน (M2)  ให้มีการเติบโตใกล้เคียงกับ Nominal GDP Growth

ผมขอนำเสนอดัชนีชี้วัดฟองสบู่เรียกว่า "อัตราส่วนประวิทย์" (Prawit Ratio)  ซึ่งคิดจากค่าการเติบโตของ M2 เทียบกับ Nominal GDP Growth  ค่านี้ควรอยู่ราวๆ 100% ก็จะไม่เกิดปัญหา  แต่ญี่ปุ่น และ อเมริกา เคยปล่อยให้ M2    เติบโตถึง 11-12% ต่อปี   ซึ่งทำให้ค่า Prawit Ratio อยู่สูงราว 150% จึงนำพาไปสู่ภาวะฟองสบู่แตกในปี 1991 และ 2008  ในที่สุด  และ เมื่อมาดูที่จีนเคยปล่อยให้  Prawit Ratio ก็ยืนสูงกว่า 200% ในปี 2009  โดน M2 เติบโตถึง 28%  จึงอาจกล่าวได้ว่า  ความเสี่ยงที่จะเกิด hard landing ในประเทศจีนนั้นไม่ใช่ 10% อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปคาดไว้  แต่น่าจะสูงถึงกว่า 90% เลยทีเดียว  หากพิจารณาจากดัชนีชี้วัดฟองสบู่ Prawit Ratio   และ ตัวเลขของดัชนีตลาดหุ้นจีน  รวมไปถึง ตัวเลขการนำเข้าที่ติดลบ  ก็บ่งชี้ถึงการชะลอตัวอย่างเร็วของเศรษฐกิจจีน

สำหรับการแก้ไขปัญหาของประเทศพัฒนาแล้วด้วย  ทฤษฎีการเงินเดิมๆ  ก็คือ  การลดอัตราดอกเบี้ยติดดิน และ การทำ QE  แต่หากไม่มีอุปสงค์จริงที่เพียงพอแล้ว  เงินจะกองจมอยู่ในระบบแบงก์เช่นเดิม  ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ปรมาจารย์เคนส์ตั้งชื่อไว้ว่า "กับดักสภาพคล่อง"   คือ แม้อัตราดอกเบี้ยจะต่ำมาก  แต่การบริโภคและการลงทุนก็ยังไม่ฟื้นตัวแต่อย่างใด

สำหรับทฤษฎีใหม่   "การเงินไท้เก๊ก" จะหาทางป้องกันฟองสบู่แต่ต้นมือ  ด้วยการดูแล M2 ไม่ให้เกิดฟองสบู่ึของราคาสินทรัพย์ และ จะไม่นำเข็มแหลมๆ ไปจิ้มลูกโป่ง  ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก   และ หากสุดท้ายฟองสบู่แตกแล้วจริงๆ   ทฤษฎีนี้แนะให้ทำการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำกว่าศูนย์ไปเลย  ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงลดลงมาได้อีก  อันจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์จริง ทั้งการบริโภคการลงทุนให้ฟื้นตัวได้ในที่สุด

"กับดักยูโร" เกิดขึ้นจากทฤษฎีอัตราแลกเปลี่ยนสกุลร่วม  ที่มุ่งหวังให้การส่งเสริมการค้าการลงทุนที่ทำให้ประหยัดต้นทุนในการแลกเปลี่ยน   แต่อันที่จริงแล้วก็คือ การผูกค่าเงินนั่นเอง  โดยกรีซ และ เยอรมันได้ผูกค่าเงินไว้ด้วยกัน  โดยได้มองข้ามสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ  ดุลบัญชีเดินสะพัดและความสามารถในการแข่งขัน  ทฤษฎีใหม่ที่เรียกวา "FX ไท้เก๊ก"  จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปิดจุดอ่อนนี้

โดยประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงกว่า 3% เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน  รวมถึง อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงกว่าประเทศอ้างอิงกว่า 3% นั่นหมายถึง ประเทศนั้นๆ น่าจะมีการใช้อัตราแลกเปลี่ยนไม่เหมาะสมเสียแล้ว  จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนให้อ่อนลงเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันด้านส่งออกที่ดีขึ้น  หากสามารถแตกเงินยูโร  ออกเป็น 3 สกุล คือ Eura Euri และ Euro เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มประเทศได้  ก็จะทำให้เกิดความสมดุลของดุลบัญชีเดินสะพัด และยังรักษาเอกภาพของกลุ่มยูโรโซนไว้ได้ด้วย

วิกฤติหมูหัน  เกิดจาก "กับดักเศรษฐกิจ" มาผูกรวมกันหลายเรื่องส่งผลให้ภาะวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นในประเทศแถบยุโรปก่อน  จากนั้นด้วยการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกันทั่วโลก  จึงส่งผลต่อเนื่องมายังประเทศต่างๆ ทั้งในอเมริกา และ เอเชีย โดยเฉพาะ "จีน"  การแก้ไขในเรื่องนี้ก็คือ ต้องละแนวคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เดิมๆ เสีย  แล้วเปิดมุมมองให้กับ ทฤษฎีใหม่ๆ  ของ  "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก"  อาจเป็นคำตอบเพื่อแก้ไขวิกฤติระดับโลกครั้งนี้







วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

8 ทฤษฎีวิถีไท้เก๊ก

ในที่สุดผมไ้ด้คิดค้นทฤษฎีใหม่ออกมาได้ 8 ทฤษฎี  โดยเป็น 4 ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ คือ การคลังไท้เก๊ก  การเงินไท้เก๊ก  FX ไท้เก๊ก และ บำนาญไท้เก๊ก  อีก 2 ทฤษฎีทางรัฐศาสตร์คือ เลือกตั้งไท้เก๊ก และ ปรองดองไท้เก๊ก  และมี 1 ทฤษฎีด้านการลงทุน คือ หุ้นเงาไท้เก๊ก  และ สุดท้าย คือ ทฤษฎีเพื่อการศึกษาในการสร้างองค์ความรู้ใหม่  เรียกว่า  ฟินิกซ์ไท้เก๊ก  ถ้ามีเวลาจะค่อยๆ ลงรายละเอียดไว้ครับ

ทางเศรษฐศาสตร์คงไม่ต้องลงรายละเอียดแล้ว  เพราะ เขียนไปมาก

เลือกตั้งไท้เก๊ก  คือ การเลือกตั้งแบบไม่ต้องใช้เงิน  โดยเลือกแบบ 2 ขั้น คือ เลือกจากตัวแทนชุมชนก่อน แล้วใช้วิธีจับสลากเอา  แบบนี้ก็ไม่ตั้องใช้เงินเลยเพื่อการเลือกตั้ง  การซื้อเสียงจะหายไปหมด และ เราจะได้ตัวแทนที่เป็นชาวบ้านจริงๆ ไม่ใช่นายทุนเข้ามาเป็น สส.  พวกเขาก็จะทำเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง  ตรงไปตรงมา  เป็นคนดี  

ปรองดองไท้เก๊ก คือ แนวคิดที่ออกจากกรอบเดิมที่ว่า หากทักษิณได้ อำมาตย์จะเสีย  และ หากทักษิณเสียอำมาตย์จะได้  หากเป็นกรอบที่ ทั้งทักษิณได้อำมาตย์ได้  นั่นจึงเป็นคำตอบของการปรองดอง  โดยควรเริ่มจากการอโหสิกรรมเสียก่อน  จัดพิธีแบบนี้ขึ้นมาเพื่อลดความโกรธต่อฝ่ายตรงข้ามของคนไทยด้วยกันเอง  จากนั้น  คุณทักษิณกลับมาติดคุก  แต่จัดแบบ ไม่ลำบาก ไม่นานและไม่เสี่ยง  ก็จัดอย่างหรูให้เลย  ภายใน 4 เดือนก็เขียนหนังสือ "วิถีชินวัตร" ซึ่งก็คงมีคนรอมากมาย  เชิญพระมาเทศน์ทุกสัปดาห์ที่คุกพร้อมออกอากาศในเรื่องของการให้อภัย  การสำนักผิด  ความสามัคคี เป็นต้น  ก็เป็นการชุบตัวว่า คุณทักษิณเปลี่ยนจากคนเลวเป็นคนดีแล้ว   จากนั้น  เราก็ทำเรื่องเสนอให้ ป๋าเปรม และ คุณทักษิณ รับรางวัลโนเบลร่วมกัน  ในฐานะที่ร่วมกันสร้างสันติภาพในประเทศไทย  นี่คือ การเดินตามแนวทางแบบ Mandela Model  เลยครับ  

หุ้นเงาไท้เก๊ก : ปกติแล้วหุ้นที่ P/E ต่ำก็จะมี growth ต่ำด้วยเป็น value stocks   และ หุ้น P/E สูงก็มี growth สูง คือ growth stocks  แต่หุ้นเงา คือ หุ้นที่มี P/E ต่ำ แต่มี growth สูง  ก็เลือกๆ มา  ก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีมาก ๆในการลงทุนอาจเป็น 100% หรือกว่านั้นได้ไม่ยาก  เพราะ จะได้ผลจากค่า P/E ที่ปรับสูงขึ้น และ จากค่า E ที่สูงขึ้นด้วย 

สุดท้าย คือ ฟินิกซ์ไท้เก๊ก  คือ ทฤษฎีที่เอาไว้สร้างทฤษฎีใหม่  โดยลากเส้นทแยงมุมจากกรอบความรู้เดิม  เป็นการคิดสวนทางกับความรู้เดิม   เติมกลายเป็นปีก 2 ข้างของความรู้เดิมๆ  เราก็จะได้กรอบความรู้ใหม่  ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก และ เป็นประโยชน์ต่อโลกได้อย่างมากด้วย   


วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

4 กับดัก 4 ปฏิทรรศน์

จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์   ซึ่งได้รับการยอมรับให้เป็น "บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค"  ได้จัดตั้งชื่อสภาพที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมากๆ ติดดิน  สภาพคล่องล้นเหลือ  แต่ผู้คนก็ยังไม่กล้าจะลงทุนหรือบริโภค  นั่นคือ "กับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap)   ขณะที่ได้ชี้ถึงสาเหตุแห่งปัญหานั้นคือ  ปฏิทรรศน์ของความมัธยัสถ์ (Paradox of Thrift)  หมายถึง  เมื่อทุกๆ คนพยายามออมเงินมากขึ้น  จะทำให้การใช้จ่ายรวมลดลง  ทำให้รายได้ของแต่ละคนลดลงไปด้วย  ทำให้ไม่สามารจะออมเงินได้ในที่สุด   เช่น  รัฐบาลของหลายประเทศพยายามทำเรื่องนี้อยู่  แต่กลับพบว่าการรัดเข็มขัดการคลังนั้นส่งผลทางตรงกันข้าม  เศรษฐกิจกลับแย่ลง  รายได้ภาษีลดลง  จนในที่สุดแล้วไม่สามารถรัดเข็มขัดการคลังตามเป้าหมายได้

สำหรับ 4 ทฤษฎีใหม่ของเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊กนั้น  แต่ละทฤษฎีก็ประกอบไปด้วย  "กับดัก" ซึ่งเป็นตัวปัญหา และ "ปฏิทรรศน์" ซึ่งเป็นเหตุแห่งปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น   ก่อนจะได้หนทางแก้ไขปัญหาเป็น 4 ทฤษฎี 4 ด้านของศาสตร์แขนงใหม่นี้

ทฤษฎีการคลังไท้เก๊ก : ปัญหาด้านการคลังที่กำลังปวดหัวอยู่ทั่วโลกนี้คือ "กับดักเคนส์" (Keynes Trap)  หมายถึงสภาพที่รัฐบาลต่างๆ  ไม่ว่าจะเลือกทาง  รัดเข็มขัดการคลัง  หรือ คลายเข็มขัดการคลัง  ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้หนี้สินภาครัฐ ต่อ GDP สูงขึ้นทั้งสิ้น  ในประเทศที่อ่อนแอในยูโรโซน  ก็โดนเรื่องนี้เล่นงานอย่างหนัก   ส่วนสาเหตุของเรืื่องนี้นั้น  หลายๆ คนอาจคิดว่าเป็นเพราะ นโยบายประชานิยมแต่เพียงอย่างเดียว  แต่ความจริงแล้ว  สาเหตุของเรื่องนี้คือ  "โครงสร้างประชากร"  เป็นผู้สูงอายุมากขึ้น  ทั้งประชาชน  ภาคเอกชน และ รัฐบาลต่างต้องเร่งกันเตรียมเงินเพื่อบำนาญกันอย่างเต็มที่   เมื่อรัฐบาลทุ่มเงินลงไปทั้งสมทบเงินทางตรง หรือ ให้ลดหย่อนภาษีเป็นการสมทบเงินทางอ้อมก็ดี  เหล่านี้เป็นการใช้เงินรัฐแบบ "เคลื่อนเป็นนิ่ง"  แม้จะเป็นการสร้างความมั่นคงระยะยาว   แต่แทนที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กลับทำให้เศรษฐกิจแย่ลง   นอกจากนี้เงินกองทุนบำนาญ  ลงทุนราว 70-80% ในพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ  ดังนั้น  การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์กองทุนบำนาญจึงหมายถึง  หนี้สินที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐไปด้วย  ผมเรียกสิ่งนี้ว่า  "ปฏิทรรศน์ของกองทุนบำนาญ" (Paradox of Pension)

ทฤษฎีการเงินไท้เก๊ก :  การที่ธนาคารกลางก็ประสบกับปัญหา "กับดักเงินเฟ้อ" (Inflation Trap)  โดยหลักๆ แล้วปัญหามาจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น  ธนาคากลางเชื่อว่าจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ  โดยชะลอสินเชื่อ  แต่ในทางตรงกันข้าม   อัตราดอกเบี้ยนั้นส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินให้สูงขึ้นไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าต่อเนื่องไป  ผลลัพธ์จึงอาจมาทิศทางตรงกันข้ามกับที่ตั้งใจไว้ได้  ผมเรียกว่า "ปฏิทรรศน์ของดอกเบี้ย"  (Paradox of Interest)

ทฤษฎี FX ไท้เก๊ก : การที่ธนาคารกลางพยายามดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่อยู่กับ "ยูโร" จึงเกิดปัญหาของ "กับดักยูโร" (Euro Trap)  คือ ประเทศที่อ่อนแอไม่สามารถแ่ข่งขันได้  เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง และ สร้างหนี้สินต่างประเทศจำนวนมาก   เมื่อความเชื่อมั่นลดลง  เงินเริ่มไหลออกนอกประเทศ  ก็จะเกิดปัญหามากมายจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือทางการเงิน   สิ่งนี้มีต้นเหตุมาจาก  การพยายามรักษาอัตราแลกเปลี่ยนที่คงที่   โดยหวังให้มีเสถียรภาพความมั่นคง  แต่ในทางตรงกันข้ามการผูกค่าเงินกลับส่งผลให้เสียสมดุลด้านต่างประเทศ  และ กลับส่งผลให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในที่สุด  ผมเรียกสิ่งนี้ว่า  "ปฏิทรรศน์ของการผูกค่าเงิน" (Paradox of Peg)

ทฤษฎีบำนาญไท้เก๊ก : ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมพยายามเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้นจากผู้ประกันตนจนเงินไม่พอใช้  เกิดเป็น "กับดักประกันสังคม"  (Social Security Trap)  ยิ่งออมก็ยิ่งจน  เพราะ เงินผลตอบแทนของประกันสังคมคิดเป็นเปอร์เซนต์แล้วจะต่ำกว่าการยืมเงินจากบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลอยู่มาก  การสมทบเงินมากขึ้นโดยหวังว่าจะสร้างความมั่งคั่งมั่นคงให้กับผู้ประกันตน  แต่สุดท้ายแล้วผลกลับออกมาตรงกันข้าม  โดยผู้ประกันตนซึ่งส่วนใหญ่รายได้น้อยนั้นจะกลับมีเงินไม่พอใช้  ต้องไปกู้ยืมเงินจากแบงก์และนอนแบงก์  ในอัตราดอกเบี้ยสูงลิ่ว  ทำให้จนลงๆ ไปเรื่อยๆ   สาเหตุตรงนี้เองผมเรียกว่า  "ปฏิทรรศน์ของการสมทบเงิน" (Paradox of Contribution)

จะเห็นว่าทุกทฤษฎีใหม่ันั้น  ได้มีการสร้างตัวปัญหา และ ต้นเหตุแห่งปัญหานั้น  คล้ายๆ กับ ปรมาจารย์ "เคนส์" ที่ได้สร้างศัพท์ใหม่อย่าง "กับดักสภาพคล่อง" และ "ปฏิทรรศน์ของความมัธยัสถ์"  ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากๆ  เพราะ การรู้ถึงสาเหตุของปัญหาอย่างแน่ชัด  จึงจะนำไปสู่ทฤษฎีเพื่อแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้

วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประกันสังคม ตัวถล่มเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่อีกครั้งในปี 1937

หลังจากปี 1930 โลกได้เข้าสู่สภาพเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก  โดยการค้าระหว่างประเทศลดลงกว่า 50% และ การว่างงานได้สูงขึ้นถึง 25%   แม้จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยจนมาระัดับที่ต่ำมากๆ   แต่ผลลัพธ์ก็คือยังเกิดภาวะที่ยากลำบากอย่างยิ่ง  จนเกือบถึงขั้นล่มสลายทางสังคมและเศรษฐกิจทุนนิยม

จนกระทั่งจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์  ได้เสนอให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ  เพิ่มงบประมาณเ้ข้าไปแบบขาดดุลจำนวนมาก  เพื่อสร้างอุปสงค์ให้เพียงพอเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้   แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้โดยญีุ่ปุ่นก่อน  หลังจากนั้นก็อเมริกาและยุโรป  นำมาใช้ต่อมา   อเมริกามีการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพียง 3% GDP ในปี 1929  ได้เพิ่มมาเป็นถึง 40% GDP ในยุคถัดมาโดยประธานาธิบดีรูสเวลต์

อย่างไรก็ดี  เมื่อถึงปี 1937  ประธานาธิบดีรูสเวต์เห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจนกำลังการผลิตกลับมาเหมือนปี 1929  จึงได้เดินหน้ารัดเข็มขัดการคลังนปีนั้น   กลับพบว่า 1 ปีหลังจากนั้นเศรษฐกิจดิ่งตัวลงอย่างเร็ว   การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงถึงเกือบ 30% ภายในไม่กี่เดือน  โดยเฉพาะสินค้าคงทนยิ่งลดลงหนัก  อัตราการว่างงานเพิ่มจาก 14.3% ในปี 1937  สูงขึ้นเป็น 19.0% ในปี 1938  เพิ่มจาก 5 ล้านคนเป็น 12 ล้านคน  ภายการผลิตก็ลดจากระดับสูงสุดปี 1937 ถึง 37%  

ถึงกระนั้น ศจ.แบร์โล  (Robert Barro)  ไ้ด้ชี้ประเด็นว่านั่นไม่ใช่เพราะ ผลจากการรัดเข็มขัดของนโยบายการคลัง  เขาเืชื่อว่าค่าตัวทวี (multiplier) ของทฤษฎีเคนส์นั้นมีค่าเข้าใกล้ศูนย์   โดยรัฐบาลจะมาแย่งเงินจากภาคเอกชนไป  และ ในปี 1937 นั้น  รัฐบาลรัดเข็มขัดเพียงแค่ 1% GDP  แต่กลับทำให้เศรษฐกิจตกต่ำลงได้ถึง 4.8%   แม้แต่ที่นักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์เองก็ไม่เชื่อว่าค่าตัวทวีจะสูงได้ขนาดนั้น

ผมคิดว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของเศรษฐกิจถดถอยลงอย่างเร็วระหว่างปี 1937-38  อาจเป็น  "พรบ.ประกันสังคม" นั่นเอง  การบังคับใช้ พรบ.ประกันสังคมในปี 1937  ได้บังคับให้ผู้ใช้แรงงาน  บริษัทและรัฐบาลต้องร่วมกันสมทบเงินเพื่อออมเงินในระยะยาว   แม้เืรื่องนี้จะเหมาะสมอย่างยิ่งเพื่อสร้างความมั่นคงในอนาคตระยะยาว  แต่ระยะสั้นๆ แล้ว  จะทำให้กำลังซื้อของผู้ใช้แรงงานลดลด  เพราะ "ไม่มีของฟรีในโลก"  เป็นการทำ "เคลื่อนเป็นนิ่ง"   สิ่งนี้เองน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการถดถอยเป็นรอบที่ 2 ในช่วงเวลานั้น

เช่นเดียวกับประเทศไทย  หลังจากมีการเ็ก็บเงินสมทบเพิ่มจาก 1% เป็น 3% เป็น 5% เข้าระบบประกันสังคม  ก็ส่งผลประเทศไทยมีระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน  ในทางตรงกันข้าม  การลดเงินสมทบเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อบรรเทาจากผลกระทบของวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และ วิกฤติอุทกภัยครั้งใหญ่   ก็พบว่าสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ได้   การดำเนินนโยบายด้านประกันสังคมอาจต้องชั่งน้ำหนักถึง "อนาคต" และ "ปัจจุบัน"  ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม