และผมก็ได้บัญญัติศัพท์ใหม่อีกแล้ว Eurozonomics อาจแปลเป็นไทยได้ว่า "เศรษฐศาสตร์ฉบับยูโรโซน" เรื่องนี้มีความสำคัญที่ว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในยูโรโซนปัจจุบันนั้น เป็นการ "แย้ง" ทุกทฤษฎี และ "ฉีก" ทุกตำราเศรษฐศาสตร์ เพียงเพื่อจะรักษา "ระบบเงินยูโรที่ไร้สมดุล" เอาไว้ให้ได้ หากทำสำเร็จนี่คือ มหัศจรรย์แห่งวงการเศรษฐศาสตร์ แต่ผมคิดว่า การเก็บเอา "ระบบยูโร" แบบปัจจุบันซึ่งเป็นต้นตอแห่งปัญหาทั้งปวงเอาไว้ ยิ่งนานเท่าใดความเสี่ยงของหายนะอันยิ่งใหญ่อาจกำลังรออยู่ เรามาดูรายละเอียดกัน
1. การคลัง : การแก้ไขปัจจุบัน คือ "รัดเข็มขัดการคลัง" แบบพื้นๆ โดยประเทศที่อ่อนแออย่าง กรีซ สเปน โปรตุเกส อิตาลี ล้วนเข้าข่ายนี้ทั้งสิ้น บางประเทศทำเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือ จำเป็นต้อง "กลืนเลือด" ยอมให้เศรษฐกิจถดถอยต่อไป แม้ "เคนส์" จะเตือนใหระวังถึง "ปฏิทรรศน์ของการรัดเข็มขัด" (Paradox of austerity) ซึ่งหมายถึง การรัดเข็มขัดการคลัง แทนที่จะทำให้ปัญหาหนี้การคลังดีขึ้นกลับทำให้แย่ลงต่างหาก โดย GDP จะถึงขั้นถดถอย รายรับรัฐบาลน้อยลง ขณะที่รายจ่ายประกันสังคมมีมากขึ้น ผู้คนก็ว่างงานกันมากขึ้น สัดส่วนหนี้ภาครัฐ ต่อ GDP จะวิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง นี่คือ การแย้งทฤษฎีเคนส์อย่างเต็มๆ โดยการว่างงานในสเปน และ กรีซ สูงกว่า 26% ไปแล้ว และ กรีซเกิดเศรษฐกิจถดถอยถึง 5 ปีเต็มๆ
2. การเงิน : ในยูโรโซนมีดอกเบี้ยระยะสั้นหรือ ดอกเบี้ยมาตรฐานที่ 0.75% ขณะที่ดอกเบี้ยระยะยาว (พันธบัตร 10 ปี) นั้นแตกต่างกันไปมาก ไล่ตั้งแต่ เยอรมนี ที่ 1.5% เทียบกับ กรีซที่ 11.7% ทั้งๆที่ตามทฤษฎีการเงินแล้ว ดอกเบี้ยระยะยาวเองก็ควรไล่ไปตามอัตราเงินเฟ้อ หากประเทสที่มีเงินเฟ้อสูง เช่น อินเดีย เวียดนาม ก็จะมีดอกเบี้ยพันธบัตรที่สูงตามไปด้วย และ ญี่ปุ่นซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อต่ำ ก็จะมีดอกเบี้ยพันธบัตรต่ำไปด้วย แต่ปัจจุบันกรีซ มีอัตราเงินเฟ้อที่ 0.8% ต่ำมากกว่าเยอรมนีเสียอีก กลับมีดอกเบี้ยระยะยาวที่สูงกว่าเยอรมันมาก นี่นับได้ว่าเป็น "แย้ง" ทฤษฎีการเงินอีกเช่นกัน
3. อัตราแลกเปลี่ยน : ประเทศที่อ่อนแอ มีอัตราดอกเบี้ยสูง และ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง อย่าง PIIGS ควรจะมีค่าเงินอ่อนกว่านี้ และ ประเทศที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ได้ดุลบัญชีเดินสะพัดสูงอย่าง เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ควรมีค่าเงินแข็งกว่านี้ แต่ทั้ง 2 กลุ่มกลับผูกค่าเงินไว้ด้วยกัน คือ "ยูโร" นี่จึงแย้งกับทฤษฎีอัตราแลกเปลี่ยน ของ "เออร์วิ่ง ฟิชเชอร์" อย่าแรง
อย่างไรก็ดี ผู้นำของยูโรโซน ตัดสินใจที่ รักษา "ระบบยูโร" ไว้โดยไม่สนใจต่อ "ดุลยภาพ" ถ้าหากทำสำเร็จคือ การว่างงานลดลง หนี้ภาครัฐลดลง เศรษฐกิจฟื้นตัวได้นั่นนับว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ของวงการเศรษฐศาสตร์เลยทีเดียว แต่ผมคิดว่าในที่สุดแล้วระบบแบบนี้ไม่น่าจะประสบความสำเร็จไปได้ โดยน่าจะมีแรงกดดันทางสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง มีหลายแคว้นในสเปนที่คิดจะ "แบ่งแยกดินแดน" เพื่อหาโอกาสการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะรวมถึงการใช้ค่าเงินที่อ่อนลงกว่า "ยูโร" ในปัจจุบันนี้ อันจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และ เพิ่มการจ้างงาน
และในท้ายที่สุดเพื่อให้ครบถ้วนก็คือ การเสนอทางออกให้กับยูโรโซน โดยผมได้เตรียมทฤษฎี "การคลังไท้เก๊ก" เพื่อให้สามารถรัดเข็มขัดแบบพิเศษ คือ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วย โดยการยืมพลังจากแหล่งอื่นๆ และ ทฤษฎี "FX ไท้เก๊ก" เพื่อปรับแบ่งค่าเงินยูโรแบ่งเป็น 3 สกุล Eura Euri และ Euro เพื่อให้เหมาะกับแต่ละกลุ่มประเทศ และสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้นได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น