วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

ความหวังของ Nipponomics

เมื่อเทียบกับ Japanomics ซึ่งเป็นโยบายที่ทำกันมาถึง 20 ปีซึ่งเป็นใช้นโยบายเศรษฐกิจเดิมๆ แบบตามอัตภาพของญี่ปุ่น  แม้จะเป็นกลยุทธแบบเดียวกันคือ "พิมพ์เงินแล้วใช้จ่าย" (Print and Spend)  แต่  Nipponomics  น่าจะเป็นคำที่ใส่เอาพลังของชาตินิยม  พลังงานของความมุ่งมั่นและ  พลังแห่งความหวังลงไปด้วย   ที่ผมใช้คำนี้แทน Abenomics ก็เพราะว่า คิดว่าหากนโยบายนี้จะสำเร็จได้คงไม่เพียงแต่ท่านนายกฯ ชินโซะ อาเบะ  แต่น่าจะรวมไปถึงภาครัฐทั้งหมด   ธนาคารกลางญี่ปุ่น  และ ภาคเอกชนร่วมแรงร่วมใจเข้าไปด้วย

ในการเชียร์กีฬาก็จะได้ยินคนญี่ปุ่นใช้คำ "นิปปอน"  เพื่อหวังเอาชัยต่อคู่ต่อสู้   รอบนี้ศัตรูทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมี 2 ตนคือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) และ ภาวะเงินฝืด (Deflation)    เมื่อเทียบกับ Eurozonomics  (เศรษฐศาสตร์ฉบับยูโรโซน)  ซึ่งเป็นแนว "ย้อนแย้ง" กับทุกทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แล้ว   Nipponomics มีความเข้มข้นที่ดำเนินตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อย่างหนักแน่น  ใช้พลังที่เหลืออยู่เพื่อเสี่ยงเอาชัยกันอย่างเต็มแรง  ไม่เพียงแต่เป็นความหวังของญี่ปุ่นเท่านั้น   ยังอาจเป็นความหวังของคนที่เรียนเศรษฐศาสตร์อีกด้วยว่า  นโยบายเศรษฐศาสตร์ต่างๆ ในตำรานั้นยังคงใช้ได้กับประเทศพัฒนาแล้วที่เติบโตช้า  และ สังคมสูงอายุได้อยู่อีกหรือไม่  มาดูรายละเอียดกัน

1.การคลัง : แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีหนี้ภาครัฐ ต่อ GDP สูงที่สุดในโลกระดับ 237% เข้าไปแล้ว  แต่การใส่งบประมาณพิเศษเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 20 ล้านล้านเยน (หรือราว 4% GDP)  นับได้ว่ากล้าหาญเป็นอย่างมาก  และ เรื่องนี้เป็นการดำเนินตามทฤษฎีการคลังของ "เคนส์"  อย่างชัดเจน

มีนักเศรษฐศาสตร์บางท่านอย่าง Mr.Fujimaki  ได้เตือนว่า  เป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จะเพิ่มงบฯ เข้าไปทั้งๆที่หนี้ภาครัฐสูงมากอยู่แล้ว   การทำเรื่องเช่นนี้อาจทำให้ญี่ปุ่นต้องผิดนัดชำระหนี้ภายในปีนี้ได้เลย  และ อาจทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงไปได้ถึง 400 เยนต่อ 1 ดอลลาร์

อย่างไรก็ดี  เมื่อวัดจากเครื่องชี้วัดสุขภาพการคลังด้วย "ดัชนีเรืองศิริกูลชัย" (Ruang Index)  แล้ว  พบว่า  ญี่ปุ่นมีค่านี้ที่ 1.7%  พอๆ กับประเทศไทยที่ 1.6%  ซึ่งเป็นระดับเฝ้าระวัง  ยังต่ำกว่าระดับวิกฤติ (สูงกว่า 3%)  อยู่หลายขุม นั่นหมายถึง  สุขภาพการคลังของไทยและญีปุ่นอยู่ระดับเดียวกัน  เรื่องนี้อาจเป็นข่าวน่ายินดีกับรัฐบาลญี่ปุ่น  ขณะเดียวกันอาจเป็นข่าวที่น่าตกใจกับรัฐบาลไทย     หากใช้ดัชนีนี้เป็นตัวชี้วัดรัฐบาลญี่ปุ่นคงประเมินแล้วว่ายังปลอดภัยที่เดินหน้าเพิ่มหนี้ต่อไปได้อีก  แม้ 3-4 ปีที่่ผ่านมาจะขาดดุลการคลังระดับ 9-10% GDPต่อปี  ซึ่งเป็นระดับที่สูงมากๆ แล้วก็ตาม

2. การเงิน : ญี่ปุ่นใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเฉียดศูนย์  และ Quantitative Easing (QE)   โดยอาจกล่าวได้ว่า ญี่ปุ่น ถือเป็นต้นตำรับของ QE กันเลย  เพราะเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2001   รอบนี้คาดหวังจะพิมพ์เงินแบบไม่อั้น  เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อเข้าเป้าที่ 2%   ในขณะที่อเมริกาดำเนินมาตรการ QE แบบระมัดระวังเงินเฟ้อ จึงดูแลปริมาณเงินที่เข้าซื้อพันธบัตรแต่ละเดือนไว้   ญี่ปุ่นกลับไม่กังวลเงินเฟ้อเลยเพราะต้องการดึงภาวะเงินเฟ้อติดลบ (หรือเงินฝืด)  ให้กลับไปสู่ด้านบวก    หรืออาจกล่าวได้ว่าภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นเหมาะกับการทำ QE มาก

3.อัตราแลกเปลี่ยน :  เมื่อมีการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อให้สูงขึ้นเป็น 2%   ซึ่งหากว่ากันตามทฤษฎี International Fisher Effect แล้ว   การที่ประเทศมีเงินเฟ้อคาดหวังสูงขึ้น  ก็จะหมายถึง  ค่าเงินที่จะอ่อนลงในระยะยาวนั่นเอง   การเดินหน้าในเรื่องนี้ก็เพื่อหวังผลักดันให้เงินเยนอ่อนค่าลง  ไม่เพียงแต่ช่วยเหลือเศรษฐกิจจริงในภาคส่งออกเท่านั้น   แต่สำหรับสถาบันการเงินและ เฮดจ์ฟันด์  ที่กู้ยืมเงินเยนด้วยต้นทุนต่ำเฉียดศูนย์  (Yen Carry Trade)  ยังฟันกำไรมหาศาลหากนำเงินนั้นไปซื้อตราสารหนี้ หรือ ฝากเงิน  ในรูปสินทรัพย์เงินยูโร ก็จะทำกำไรได้ถึงกว่า 25% ภายในเวลาครึ่งปีที่ผ่านมา  ทั้งๆที่หากฝากเงินในประเทศญี่ปุ่นได้ดอกเบี้ย 0.1%  ต่อปีต้องใช้เวลาถึง 250 ปีทีเดียว

สำหรับคนญี่ปุ่น หรือ บริษัทญี่ปุ่น  ซึ่งมีเงินฝากเหลืออยู่มหาศาล  หากเงินภาพชัดว่าเงินเยนจะอ่อนแน่ๆ  แล้วละก็การฝากเงินด้วยดอกเบี้ย 0.1% ต่อปีแถมยังอ่อนค่าลงเรื่อยๆ คงไม่เป็นการดีแน่    การย้ายเงินฝากสกุลเงินเยน  กลายเป็น เงินฝากหรือกองทุนตราสารหนี้ของ เงินยูโร ออสซี่ดอลลาร์  เกาหลีวอน  หรือแม้แต่ ไทยบาท   ก็จะได้กำไรทั้งส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ย และ ส่วนต่างกำไรของค่าเงินอีกด้วย   ดังนั้น  การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าผิดปกติตั้งแต่ต้นปีก็อาจมีบางส่วนที่เป็นผลมาจาก Nipponomics ก็เป็นได้

และเรื่องนี้จะเป็นบทเรียนอย่างดีสำหรับเศรษฐศาสตร์มหภาค  โดย Eurozonomics  ใช้วิธี "ย้อนแย้ง" กับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทั้งการคลังการเงินและ อัตราแลกเปลี่ยน  โดยไม่เชื่อ เคนส์  ไม่เชื่อ ฟรีดแมน  ไม่เชื่อ ฟิชเชอร์  เพียงเพื่อรักษาระบบยูโรปัจจุบันเอาไว้   ขณะที่ Nipponomics นั้นใช้วิธีเดินตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อย่างเข้มข้นเต็มกำลัง  ซึ่งก็คงต้องติดตามดูผลลัพธ์กันต่อไปว่ากลยุทธใดจะสำเร็จ หรือ ล้มเหลว ในรูปแบบใด  

แม้จะเห็นเงินเยนอ่อนค่าลงจาก 78 เยน เป็น 90 เยนต่อ 1 ดอลลาร์   ผมก็ยังประเมินในระดับ 50:50 ว่า Nipponomics  นี้จะสำเร็จได้ดังหวังจริงหรือ ??   นี่เป็นการใช้กระบวนท่าเดิมๆ ด้วยพลังที่เข้มข้นยิ่งขึ้นเพื่อหวังเอาชัยศัตรู (เศรษฐกิจถดถอยและเงินฝืด)   อย่างไรก็ดี  หากไม่สำเร็จเสียแล้วก็อย่าเพิ่งหมดหวัง  หากจะลองด้วยกระบวนท่าใหม่   "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.)  บางทีอาจจะสำเร็จก็ได้นะครับ












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น