นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่กำลังคิดว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤติในยูโรโซนได้ผ่านพ้นไปแล้ว ผมกำลังจะบอกว่า "ไม่ใช่" เลย สิ่งเลวร้ายสุดๆ กำลังจะมาเยือนต่างหาก โดยรหัสลับที่จะเปิดประตูสู่วิกฤตินั้นก็อาจเป็น CYPRUS นั่นเอง
อาจกล่าวได้ว่า สงครามของ "หลักเศรษฐศาสตร์" และ "ระบบยูโร" นั้นเป็นแบบไตรภาคแทนที่จะเป็นแบบม้วนเดียวจบ โดยภาคแรกเริ่มตั้งแต่ปี 2011 ไปจนถึงกลางปี 2012 นั้น "เศรษฐศาสตร์" ได้รุกไล่จน "ระบบยูโร" เกือบล่มสลาย ขณะที่กลางปี 2012 เป็นต้นไปนั้น ผู้นำของ ECB และ ยูโรโซนหลายประเทศ ได้ทุ่มเทสรรพกำลังดำเนินนโยบายแบบ Eurozonomics ซึ่งย้อนแย้งกับทฤษฎีเศรษฐศาสต์แทบทุกมิติ จึงพิทักษ์ "ระบบยูโร" เอาไว้ได้ ส่งผลให้ภาค 2 ซึ่งก็คือ ตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2012 นั้นเป็นชัยชนะของ "ระบบยูโร" โดยแท้ แต่สำหรับภาคที่ 3 ซึ่งเป็นภาคสุดท้าย ผมคิดว่า "ระบบยูโร" ยังคงอันตรายอย่างยิ่ง และเสี่ยงต่อภาวะล่มสลาย
ไซปรัส (Cyprus) ซึ่งเป็นเกาะในทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียน อยู่ทางตะวันออกของกรีซ และ ทางใต้ของตุรกี มีประชากรเพียง 8.6 แสนคนซึ่งน้อยกว่าจังหวัดขอนแก่นของไทยเสียอีก แต่มีนักท่องเที่ยวราว 2.4 ล้านคนต่อปี (3 เท่าของประชากร) ขนาดเศรษฐกิจก็เพียง 25 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1 ใน 12 ของประเทศกรีซเท่านั้น เหตุใดเกาะเล็กๆ แห่งนี้อาจเป็นศูนย์กลางของแผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสึมานิเศรษฐกิจกระทบไปทั่วโลกได้ มาดูรายละเอียดกันครับ
ไซปรัส มีโอกาสสูงที่จะออกจากระบบเป็นประเทศแรกในยูโรโซน หลังจากเริ่มขอความช่วยเหลือจากทรอยก้า (EC, ECB และ IMF) เป็นประเทศที่ 5 ตั้งแต่กลางปี 2012 โดยธนาคารในประเทศเกิดความเสียหายจากการลงทุนในพันธบัตรกรีซจำนวนมาก มีเหตุผล 4 ประการที่สนับสนุน ดังนี้
1. ไซปรัสมีความผูกพันอยู่กับ "ยูโร" ระยะเวลาสั้น เพียงแค่ 5 ปีเท่่านั้น เพราะ เริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2008 และ หลังจากใช้เงินสกุลนี้ก็ดูเหมือนเศรษฐกิจจะย่ำแย่มาโดยตลอด ภาพพจน์ของเงินยูโรในสายตาประชาชนดูเลวร้าย
2. แม้ไซปรัสจะมีหนี้ภาครัฐต่อ GDP อยู่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศในยูโรโซนโดยอยู่ระดับ 71% เท่านั้น แต่การใช้เงินยูโรกลับทำให้ประเทศเกาะแห่งนี้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และ เสียสมดุลมากที่สุด โดยดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบอย่างหนักถึง -10.4% GDP ในปี 2011 เมื่อเทียบกับ กรีซที่ -9.8% โปรตุเกส -6.4% สเปน -3.5% และ อิตาลี -3.2% ตามลำดับ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปัญหาที่แท้จริงของยูโรโซนนั้นไม่ได้อยู่ที่หนี้สินภาครัฐ แต่อยู่ที่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่างหาก โดยประเทศที่ขาดดุลมากหมายถึง ใช้ค่าเงินที่แข็งเกินไปมาก จะทำให้ติดหนี้สินต่างประเทศมาก จำเป็นต้องไฟแนนซ์เงินด้วนต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และ ดูเหมือนว่าความรุนแรงของปัญหาใน PIIGS จะหนักหน่วงผันแปรตามการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนี้เสียด้วย คือ ไซปรัสและกรีซมีปัญหาหนัก ขณะที่สเปน อิตาลียังอยู่ระดับมีปัญหาพอสมควร
3.ผู้นำของไซปรัสไม่เกรงใจทรอยก้า ซึ่งจะต่างจากกรณีของกรีซ โดยจะไม่ยอมรับเงื่อนไขการรัดเข็มขัดการคลัง รวมไปถึงการถูกบังคับขายรัฐวิสาหกิจ เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือ ซึ่งเรื่องนี้ถือได้ว่าสำคัญมากทีเดียว ในเดือน กพ.นี้ก็จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ ซึ่งจะต้องหาเสียงกันแบบไม่ยอมรับนโยบายรัดเข็มขัดเป็นแน่ เพราะ ปัจจุบันเศรษฐกิจก็ถดถอยอยู่แบบ -2% ต่อปี และ มีการว่างงานสูงขึ้นเรื่อยๆ แตะระดับ 14% ไปแล้วนอกจากนี้ ไซปรัสยังหวังจะหาเงินช่วยเหลือซึ่งก็เป็นวงเงินไม่สูงนัก จากประเทศรัสเซียได้ด้วย
4.ทรอยก้า คงเห็นประเทศนี้เล็กมากๆ ไม่มีผลอะไรนักที่จะยอมปล่อยให้ออกจาก "ระบบยูโร" ไปได้
สิ่งสำคัญก็คือภาวะหลังจากการออกจาก "ระบบยูโร" ซึ่งผมคิดว่าระบบยูโรนี้คือ ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของระบบการเงินโลกเลยทีเดียว เพราะ ประเทศที่อ่อนแอจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่า เป็นลูกหนี้หนักขึ้นเรื่อยๆ แถมถูกบังคับให้รัดเข็มขัดการคลัง ผู้คนถูกลดเงินเดือนแถม อัตราว่างงานสูงอีกด้วย จึงสูญเสียอิสรภาพทั้งการเงินการคลังโดยสิ้นเชิง
การเลิกใช้ "ยูโร" จึงน่าจะกลับส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไซปรัสอย่างเร็ว โดยเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ และ อัตราว่างงานลดลง เพราะ สามารถกลับไปใช้ค่าเงินที่เหมาะสมและมีดุลยภาพ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ การส่งออก และ การท่องเที่ยวได้ แต่ผลดีของประเทศไซปรัสนั้นอาจเป็นผลเสียหายต่อยูโรโซน
เพราะเมื่อประชาชนของประเทศ PIIGS เห็นเหตุการณ์แบบนั้น ก็คงคิดว่า "พวกเราจะมาทนอยู่อย่างยากลำบาก ถูกตีโซ่ตรวนด้วยระบบเงินยูโร จนกลายเป็นทาสของประเทศเยอรมนีเพื่ออะไรกัน การประกาศอิสรภาพอย่าง ไซปรัส จะมิดีกว่าหรอกหรือ" และ นี่เองอาจเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะล่มสลายของ "ระบบยูโร"
หลายคนอาจคิดว่าสิ่งเลวร้ายที่สุดของยูโรโซนได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ความเป็นจริงก็คือ "เงินยูโร" ระบบปัจจุบันคือ ต้นตอปัญหาใหญ่ซึ่งยังไม่ได้แก้ไขเลยแม้แต่น้อย สิ่งนี้จะเชื่อมระหว่างประเทศแข็งแรง (เยอรมนี เนเธอร์แลนด์) โดยจะเป็นประเทศเจ้าหนี้ และ ประเทศอ่อนแอ (PIIGS) เป็นประเทศลูกหนี้ ซึ่งต้องติดหนี้เพิ่มเรื่อยๆ และ จ่ายดอกเบี้ยสูงอีกด้วย ความสัมพันธ์ผ่าน "ระบบเงินยูโร" จึงคล้าย นายทาสกับทาส หรือ จักรวรรดิกับอาณานิคม เมื่อมีประเทศต่างๆ ต้องการออกจากระบบนี้กลับมามีอิสรภาพ สามารถกลับไปใช้ค่าเงินที่เหมาะสมกับประเทศตนเอง โดยเริ่มจาก "ไซปรัส" ก็น่าจะสร้างความปั่นป่วนต่อเสถียรภาพเงินยูโร และตลาดการเงินของโลกอยู่ไม่น้อยเลย
C-Y-P-R-U-S จึงเป็นรหัสที่อันตรายอย่างยิ่งยวด แม้จะเป็นผลประโยชน์ของชาติที่ผู้นำควรตัดสินใจทำเพื่อประชาชนของประเทศตนเอง ให้หลุดพ้นจากโซ่ตรวน "เงินยูโร" สู่อิสรภาพ และ นำพาเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ มีการจ้างงานเพิ่ม อย่างไรก็ดี การทำเพื่อชาตินี้อาจจะกระทบต่อเสถียรภาพของ "ระบบเงินยูโร" และ "ยูโรโซน" ไปด้วย ซึ่งนั่นหมายถึง ความยุ่งเหยิงของการเงินโลกอีกครั้งจะกลับมาเยือน เพราะ ประเทศ PIIGS บางประเทศจะหาทางเดินหน้าสู่อิสรภาพจากโซ่ตรวน "เงินยูโร" เพื่อฟื้นเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
"CYPRUS" จึงเป็นรหัสลับตัวอักษร 6 ตัวที่อันตรายยิ่งแต่ก็มีน้อยคนนักจะล่วงรู้และสังเกตเห็น แรงสั่่นสะเทือนบนเกาะเล็กๆ แห่งนี้ซึ่งมีประชากรไม่ถึง 1 ล้านคน อาจก่อให้เกิดสึนามิทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกกระทบผู้คนถึง 7 พันล้านคนได้เลย และหากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงก็อาจมีทฤษฎี "ไซปรัสไท้เก๊ก" (Taiji Cyprus Theory) ตามมาด้วย ซึ่งหมายความว่า "การที่ประเทศเล็กๆ แม้จะดำเนินนโยบายที่ถูกต้องเป็นผลบวกต่อประเทศตนเองก็ตาม แต่สิ่งนั้นกลับส่งแรงสะท้อนกลับเป็นผลลบต่อโลกได้ในระดับที่ยิ่งใหญ่ขึ้นหลายพันเท่า"
อย่างไรก็ดี หากจะคิดในแง่บวกก็คือ ประเทศที่อ่อนแอในยูโรโซน (PIIGS และ ไซปรัส) จะสามารถประกาศอิสรภาพจากโซ่ตรวนยูโรได้ จึงสามารถดำเนินนโยบายการเงินการคลังเพื่อฟื้้นเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ หากเกิดวิกฤติโลกขึ้นจริง โลกก็ได้มีแผนสำรองที่จะรับมือไว้แล้ว.... "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) ไงละครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น