วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

คิดบวกกับ Yingluckonomics

คำว่า Yingluckonomics  อาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า  "การบริหารเศรษฐกิจสไตล์รัฐบาลยิ่งลักษณ์"  ซึ่งหลายคนอาจคิดว่า  ไม่เห็นมีอะไรเป็นพิเศษกว่า "ทักษิโณมิกส์"    มันก็นโยบายแบบประชานิยมธรรมดาๆ นี่เอง  แต่ความจริงแล้ว  นี่ไม่ใช่แค่นโยบายประชานิยมแบบพื้นๆ   แต่ยังแถมการ "บิดเบือนกลไกตลาด" เข้าไปอีกด้วย

หากมองในแง่บวก  ประเทศไทยสามารถเติบโตได้อย่างดี  สร้างรายได้เพิ่มให้กับคนจนจำนวนมาก  ส่วนหนี้สินภาครัฐไม่เพิ่มเท่าใดนัก   นี่อาจนับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของโลกเลยทีเดียว  เพราะว่า  บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม อดัม สมิธ  แนะว่า "ใช้มือที่มองไม่เห็น  ปล่อยให้กลไกลตลาดทำงาน  สร้างดุลยภาพระยะยาว"   แต่  Yingluckonomics  กลับ "ใช้มือที่มองกันเห็นๆ  บิดเบือนกลไกตลาด  แล้วสร้างภาวะไร้สมดุล" ต่างหากที่จะเป็นผลดีต่อประเทศชาติ   เป็นนโยบาย "งัดข้อ" กับบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์กันเลย  แม้ผมได้สร้าง 4 ทฤษฎีใหม่ด้านเศรษฐศาสตร์กลายเป็น "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก"  ยังไม่บ้าบิ่นพอจะไป "งัดข้อ" กับ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม (อดัม สมิธ) และ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค (เคนส์)  โดยเพียงแค่สร้างทฤษฎีใหม่เพื่อเสริมจุดอ่อนของสิ่งเดิมๆ เท่านั้น

เรามาลองดูในรายละเอียดกันบ้าง  Yingluckonomics  มีนโยบายเด่นๆ ก็คือ "2 ต่ำ 2 สูง"  โดย  ทำให้ราคาดีเซลต่ำ (แทบไม่เก็บภาษีสรรพสามิตลิตรละ 5 บาท)    ทำให้ราคารถยนต์ต่ำ  (คันแรกไม่เก็บภาษีสรรพสามิต ราคาสุทธิลดเกือบ 20%)   ทำให้ราคาข้าวสูง  (จำนำข้าวทุกเมล็ดราคาสูงกว่าตลาดมาก)  และ ทำให้ค่าแรงสูง  (สูงกว่าระดับตลาดที่ควรจะเป็นอยู่มาก)

ดังนั้นสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นหลานศิษย์เหลนศิษย์ของ อดัม สมิธ  จึงอดจะคิดลบกับนโยบายเศรษฐกิจที่เสี่ยงแบบนี้ไม่ได้  ผมจึงได้เขียนออกมาเป็น  "จากนโยบาย 2 ต่ำ 2 สูง สู่ หายนะ 10 สูง"  โดยหายนะที่อาจเกิดขึ้น  มีดังนี้้
1. ว่างงานสูง : โดยเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อมีการเพิ่มค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ  จะมีการปลดคนงานออกบางส่วน  มีการใช้เครื่องจักรทดแทน  ย้านฐานการผลิต  และ ปิดกิจการ   ซึ่งไมว่าเลือกทางไหน  การว่างงานก็จะเพิ่มสูงขึ้นทั้งนั้น
2. เงินเฟ้อสูง  : จากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากค่าแรง  โดยเฉพาะ SMEs ก็อาจจำเป็นต้องเพิ่มราคาสินค้าเพิ่มเข้าไปซึ่งนั่นก็คือ เงินเฟ้อที่สูงขึ้น
3.ดอกเบี้ยสูง :  เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น  ธปท.คงจะไม่รีรอแน่  ที่จะรีบๆ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพือสกัดเงินเฟ้อ  แต่การทำเช่นนั้นจะยิ่งเพิ่มต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น  และ อัตราเงินเฟ้ออาจวิ่งสูงขึ้นไปอีก
4.ขาดดุลการค้าสูง : เพราะ ข้าวส่งออกได้น้อยลงมาก  ขณะที่มีการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ และ น้ำมันดิบเพิ่มเข้ามามาก  ทำให้ 11 เดือนของปี 55 ไทยขาดดุลการค้าไปแล้วถึง 5.7 แสล้านบาท
5. เงินบาทสูง : หมายถึง ค่าเงินบาทอ่อน  โดยประเทศที่เงินเฟ้อสูง และ ขาดุลการค้ามาก  ก็มีแนวโน้มว่าค่าเงินจะอ่อนลง  และ ยิ่งเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อเข้าไปอีก
6. ขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะสูง :  เรื่องนี้ก็ชัดเจนว่า  การคลังไทยได้รับผลกระทบจาก จำนำข้าวอาจเสียหายถึง 1.5 แสนล้าน   เสียรายได้ภาษีสรรพสามิตรถยนต์  9 หมื่นล้าน  และ ภาษีสรรพสามิตของน้ำมันดีเซลราว 1 แสนล้าน   หนี้สาธารณะวิ่งแตะ 5 ล้านล้านบาท
7. ปัญหาจราจรสูง :  การมีรถยนต์มากขึ้น และ ดีเซล NGV ราคาต่ำ  ย่อมส่งผลให้ใช้จ่ายกันฟุ่มเฟือย การจราจรติดขัด  แถมด้วยมลพิษอีกมาก
8. เหลื่อมล้ำสูง :  ชาวนาจนๆ กลับไม่ได้ประโยชน์จากการจำนำข้าวเท่าไหร่  ขณะที่ชาวนารวยรับไปเต็มๆ และ ลูกหลานของคนระดับเศรษฐีได้ซื้อรถยนต์ราคาถูกๆ  
9. อาชญากรรมสูง :  เมื่อมีการว่างงานมากขึ้นจากค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ  ก็อาจคาดได้ว่าจะมีการปล้นจี้กันสูงขึ้น  รวมทั้งการค้ายาบ้าที่เพิ่มมากด้วย
10. ทุจริตสูง :  นโยบายเปิดช่องให้มีการทำทุจริตได้มากทั้งฝ่ายภาครัฐ (คอรัปชั่น) และ ฝ่ายเอกชน

อย่างไรก็ดี  เมื่อปีนี้เป็นปีแห่งการคิดบวก  ผมได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ 2 สิ่งที่เตรียมไว้ช่วย  "ถอนพิษ" ของ Yingluckonomics  หากพิษนั้นได้ส่งผลต่อการคลังไทยให้เข้าสู่วิกฤติจริงๆ

1. เครื่องมือวัดสุขภาพการคลัง  :  ปัจจุบันทั่วโลกให้หนี้สาธารณะ ต่อ GDP  เป็นดัชนีชี้วัดสุขภาพการคลัง  แต่หากตัวเลขนี้ใช้ได้ดีจริง  หมายถึง  ญี่ปุ่น (220%) มีความเสี่ยงการคลังสูงกว่า กรีซ (170%) อิตาลี (120%) และ สเปน (70%)  เช่นนั้นหรือ   สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้บ่งชี้เช่นนั้นเลยแม้แต่น้อย

ผมจึงได้นำเอา ดอกเบี้ยระยะยาว (ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี)  เข้ามาร่วมคำนวณด้วยเรียกว่า ดัชนี "เรืองศิริกูลชัย"  ผลปรากฎว่า  การคลังไทยที่มีหนี้สาธารณะ 45% ต่อ GDP นั้น   กลับมีค่าดัชนีนี้อยู่ที่ 1.6%  ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาใหญ่ๆ อย่าง  อังกฤษ  ฝรั่งเศส  อเมริกา และ ญี่ปุ่น  ซึ่งอยู่ระดับ 1.6-1.9%  เช่นกันซึ่งเป็นระดับเฝ้าระวัง  หากค่านี้สูงกว่า 2% หมายถึง สุขภาพการคลังย่ำแย่  และ  หากสูงกว่า 3% หมายถึง ระดับวิกฤติการคลัง  โดย PIIGS เข้าข่ายนี้ทั้งหมด  สปน (3.5%)   ไอร์แลนด์ (4.8%)   อิตาลี (5.0%)  โปรตุเกส (7.0%)  และ กรีซ (19.5%)  นั้นแน่นอนว่าย่ำแย่ที่สุด   ดังนั้น  จะเห็นว่าการคลังไทยไม่ได้อยู่ระดับปลอดภัยสักเท่าใดนัก  เมื่อใดก็ตามที่ค่านี้สูงกว่า 2%  ก็ควรจะต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนแนวนโยบายได้

2. ยาถอนพิษวิกฤติการคลัง :  โดยผมเตรียมปรุงยาไว้เรียบร้อยโดยเรียกว่า "การคลังไท้เก๊ก"  ซึ่งสามารถจะทำให้รัฐบาลสามารถรัดเข็มขัดการคลังไปพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้  ด้วยการยืมพลังจากแหล่งอื่นๆ  โดย "ยาถอนพิษ" นี้จะมีประโยชน์อย่างมากต่อประเทศกลุ่ม PIIGS ในปัจจุบัน  และหากไทยเดินหน้าสู่วิกฤติการคลังจริงๆ อีก 5 ปีข้างหน้า  ยานี้ก็จะเป็นแผนสำรองที่จะใช้รับมือได้สบายๆ

ดังนั้นไม่ว่า Yingluckonomics จะสำเร็จหรือล้มเหลว  ผมคิดว่าควรประชาสัมพันธ์บรรจุศัพท์คำนี้ไว้ในตำราเศรษฐศาาสตร์มหภาค (Macro Econ.) ทั่วโลก  หาก Yingluckonomics  ประสบผลสำเร็จนี่คือสิ่งมหัศจรรย์ของวงการเศรษฐศาสตร์  แต่หากล้มเหลวนี่ก็จะเป็นบทเรียนแก่ประเทศอื่นทั่วโลกว่าอย่าได้คิดนำเอานโยบายแนวนี้มาใช้กันอีกต่อไป  อย่างไรก็ดี  หากสิ่งนี้มีพิษจนถึงขั้นทำให้เกิด "วิกฤติการคลังไทย"  พวกเราก็มีแผนสำรองข้างต้นอยู่แล้วไม่ต้องกังวลเลย   "คิดบวก" ดีไหมครับ ??



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น