วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556

ฟองสบู่สู่วิกฤติ

บทความนี้คือ ภาค 2 ต่อจาก "สัญญาณเตือนภัย วิกฤติเศรษฐกิจ"  โดยหลังจากที่ผมได้คิดค้น Ruang Alarm ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยวิกฤติดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว  ผมพบว่ายังมีอีก 1 วิกฤติเศรษฐกิจที่ฟองสบู่ไม่ได้แตกด้วยเงินกู้จากต่างประเทศ  เหมือนกับ วิกฤติส่วนใหญ่ แต่แตกด้วยเงินในประเทศ  ไม่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด  จึงไม่มีการเตือนจาก Ruang Alarm แต่อย่างใด  วิกฤตินั้นก็คือ  "วิกฤติวาซาบิ" ในญี่ปุ่นปี 1990 นั่นเอง

ผมจึงได้คิดค้นตัวชี้วัด (indicator) ใหม่ขึ้นมา  โดยให้ชื่อว่า  "ฟองสบู่เรืองศิริกูลชัย"  (Ruang Bubble)  ซึ่งเป็นตัวชี้วัดระดับฟองสบู่ซึ่งหากแตกตัวลงจะนำมาซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด   โดยมีแนวคิดดังนี้ คือ  เมื่อนำเอาอัตราการเพิ่มของปริมาณเงิน (M2 growth)   มาหารด้วย  อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรวมเงินเฟ้อ (Nominal GDP Growth)  ก็จะได้ออกมาค่าหนึ่ง  ซึ่งระดับปกติค่านี้ควรจะยืนประมาณ 1 จึงจะสมดุล คือ เพิ่มปริมาณเงินในระดับเหมาะสมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ   นำค่าที่ได้นี้มาคำนวณรวมกัน 3 ปีก็จะได้ค่า Ruang Bublle   เพื่อดูว่ามีการสูบลมเข้าลูกโป่งเศรษฐกิจมากเกินไปจนเสี่ยงจะแตกหรือไม่  
ค่าปกติจะยืนที่ 3  ค่ายิ่งสูงยิ่งหมายถึงว่า  สูบลมเข้าไปมากจนเสี่ยงที่จะฟองสบู่จะแตกนั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ  

Ruang Bubble  ที่  4  หมายถึง  ความเสี่ยงที่ฟองสบู่จะแตกอยู่ในระดับสูง
Ruang Bubble  ที่  5  หมายถึง  ความเสี่ยงที่ฟองสบู่จะแตกอยู่ในระดับสูงมาก
และ หากค่านี้ยืนสูงกว่า 6  หมายถึง  ความเสี่ยงที่ฟองสบู่จะแตกอยู่ระดับสูงสุดยอด  หมายถึง  การเพิ่มของปริมาณเงินสูงกว่า ระดับที่เศรษฐกิจจริงต้องการถึง 2 เท่าตัวโดยเฉลี่ยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมานั่นเอง

เมื่อย้อนหลังกลับไปดูที่ "วิกฤติวาซาบิ" ก็พบว่า ญี่ปุ่นมีการเพิ่ม M2 สูงถึงระดับ 9-11% ต่อปีซึ่งสูงมาก  และ ทำให้ค่า Ruang Bubble ในตอนนั้นสูงระดับ  4.9   เมื่อไปดู "วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์" ดูบ้าง ก็พบว่าในตอนนั้น  อเมริกามีค่า Ruang Bubble สูงถึงระดับ 5.2  และ เมื่อไปดูประเทศกลุ่มอ่อนแอในยูโรโซนก็ยิ่งตกใจ  เมื่อพบว่า  กรีซเคยมีค่า Ruang Bubble  ระดับ 6.2 และ สเปนที่ระดับ 9.9 เลยทีเดียว  ซึ่งเป็นระดับเสี่ยงสุดยอดนั่นเอง 

ดังนั้น อาจสรุปได้ว่าตอนนี้เรามี Ruang Index  เพื่อชี้วัดความเสี่ยงของหนี้สินภาครัฐโดยนำเอาดอกเบี้ยพันธบัตรมาร่วมคำนวณด้วย  เพื่อบ่งชี้ข้อบกพร่องของนโยบายการคลัง
เรามี Ruang Alarm  เพื่อชี้วัดความเสี่ยงของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด  ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ข้อบกพร่องของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน
เรามี Ruang Bubble  เพื่อชี้วัดคามเสี่ยงของการอัดฉีดปริมาณเงินที่มากเกินไปจนเป็นฟองสบู่  ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ข้อบกพร่องของนโยบายการเงิน  

โดยค่าชี้วัดทั้ง 3 ตัวนั้นล้วนอยู่ในกรอบของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ทั้งสิ้น  
หากดำเนิน "นโยบายการคลังพอเพียง"  ไม่ก่อหนี้สินภาครัฐมากเกินไป   ไม่พึ่งพิงหนี้จากต่างประเทศมากเกินไป  Ruang Index  จะไม่ถึงระดับอันตรายอย่างแน่นอน
หากดำเนิน "นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนพอเพียง"  เลือกระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม  ไม่เติบโตเกินตัว  ไม่บริโภคเกินตัว  ไม่ลงทุนเกินตัว  ก็จะไม่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักและต่อเนื่องจน  Ruang Alarm  ส่งสัญญาณเตือนอย่างแน่นอน
และ หากดำเนิน "นโยบายการเงินพอเพียง"  โดยเพิ่มปริมาณเงินให้อยู่ระดับเหมาะสมกับเศรษฐกิจจริง  ก็จะไม่มีการปั่นฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ  อย่าง  สินค้าโภคภัณฑ์  ทองคำ  หุ้น และ อสังหาฯ  จนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจจน  Ruang Bubble  ส่งสัญญาณเตือนอย่างแน่นอน  

ประเทศทั่วโลก (รวมไทยด้วย)  แม้ปากจะท่อง "เศรษฐกิจพอเพียง"  แต่ความจริงแล้วการกระทำอาจเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงก็ได้   ค่าชี้วัดทั้ง 3 ตัวนี้ จึงเหมือนเป็นการช่วยนำเอา "กรอบเศรษฐกิจพอเพียง"  ที่เป็นรูปธรรมเพื่อกำกับดูแลความโลภอย่างมากของเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม  ช่วยเตือนภัยและป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่ให้เกิดขึ้นอีก   ซึ่งนั่นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการเศรษฐศาสตร์ไม่น้อยเลยละครับ  
  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น