วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

ลองคิดใหม่กับไฮสปีดเทรน

สำหรับเฟสแรก 4 เส้นทางของรถไฟความเร็วสูงของไทย 7.8 แสนล้านบาท ซึ่งต่ำกว่า 7% GDP เล็กน้อยนั้น  เป็นตัวเลขที่ไม่ได้สูงมากมายอะไรนัก   หากเราลองมาดูประเทศเพื่อนบ้านที่มุ่งมั่นกับ รถไฟความเร็วสูงอย่างจริงจังแล้วจะตกใจกว่ามาก

นั่นก็คือ ประเทศลาว  ที่อนุมัติไปแล้ว 2 โครงการ คือ เส้นเหนือ-ใต้  จากชายแดนจีนถึงเวียงจันทน์   และ เส้นตะวันออก-ตก  จากสะหวันนะเขต ถึง ลาวบาว ชายแดนเวียดนาม   โครงการแรก 7 พันล้านเหรียญ  โครงการหลัง 4 พันล้านเหรียญ  รวมกันแล้วสูงถึง 11 พันล้านเหรียญ สรอ.  ซึ่งจะสูงถึง 140% GDP  ของลาว  หากมองตัวเลขนี้เทียบกับไทยที่ 7% GDP แล้ว   รถไฟความเร็วสูงของไทยจะกลายเป็น "รถไฟเด็กเล่น" ไปเลยทีเดียว

ทำไมลาวจึงได้พนันความเสี่ยงการคลังของประเทศกับรถไฟความเร็วสูงแบบหมดหน้าตักเช่นนั้น   อาจเป็นเพราะ ลาวคงมองแล้วว่าอนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับสิ่งนี้นั่นเอง  นอกเหนือไปจาก การสร้างประเทศให้เป็น Battery of AEC  ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหิน  และ รวมไปถึงการให้บริการเทคโนโลยี 4G   การเชื่อมประเทศจีน และ เวียดนามเข้ากับลาว จะช่วยในการค้าและการท่องเที่ยวประเทศเป็นอย่างมาก   จีนมีประชากร 1.3 พันล้าน  เวียดนามมีราว 90 ล้านคนจัดได้ว่าเป็น 2 ประเทศที่มีพลเมืองสูงสุดในภูมิภาคอินโดจีนนี้   และแน่นอนว่า ลาวก็อยากจะเชื่อมเข้ากับประเทศไทยด้วย

ในมุมมองของไทย  ไทยเองก็อยากจะเชื่อมกับ จีน และ เวียดนาม ด้วยเหตุผลเดียวกัน  แต่หากจะต้องลงทุนมากๆ ก็ไม่ไหว   ขณะที่ลาวได้ตัดสินใจช่วยสร้างให้ 2 เส้นทางไปแล้วครึ่งทาง ทั้งแนว เหนือ-ใต้ และ ตะวันออก-ตก  โดยใช้ความกล้าหาญทางการคลังระดับบ้าบิ่นกันเลย   ไทยเองสามารถจะลงทุนน้อยกว่าแต่ได้ประโยชน์มากกว่าเพื่อสานฝันของลาวให้เป็นจริง   โดยเชื่อมเส้นทางทั้ง 2 มาบรรจบกันที่เมืองหนึ่ง  เพื่อเป็น ฮับของไฮสปีดเทรน  ก็พบว่าคำตอบคือ "มหานครขอนแก่น" นั่นเอง

การสร้างเส้นทางจาก  ทวาย-กทม. -ขอนแก่น- หนองคาย จึงจัดได้ว่ามีความสำคัญเป็นลำดับแรก และ  เส้นทาง  ขอนแก่นไปถึง สะหวันนะเขต  ก็เป็นสำคัญลำดับถัดไป   การได้ ขอนแก่น เป็นศูนย์กลางของรถไฟความเร็วสูง จะทำให้ภาคอีสานของไทยได้ประโยชน์อย่างมหาศาล  ไม่เพียงแต่ ผู้คนและสินค้าไทยจะเดินทางไปจีน และ เวียดนามได้อย่างสะดวกเท่านั้น   การขนส่งระหว่าง จีน และ เวียดนามตอนกลางก็ยังใช้ประโยชน์จากเส้นทางที่ผ่าน "ขอนแก่น" นี้ได้ด้วย

สำหรับเวียดนาม  ก็คงจะมองเห็นประโยชน์ของเส้นทางนี้เช่นกัน  แทนที่จะสร้างเส้นทางยาวตลอดทั้งประเทศ   การสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงแค่จาก "ลาวบาว" ไปยัง  "ดานัง"  จะช่วยให้การส่งออกสินค้าของลาว  เมียนมาร์  และ ผลผลิตของภาคอีสานไทย  ไปยังเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้)  เป็นไปอย่างทางตรง ประหยัดเวลาและเชื้อเพลิงได้มาก  นี่คือ ผลประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดขึ้นร่วมกัน

ในเมื่อทางฝั่งอีสาน  เรา "ยืมพลัง "ลาวไปเรียบร้อยแล้ว   ทางด้านทิศใต้  ไทยก็ควร "ยืมพลัง" มาเลเซียด้วยเช่นกัน   ไทยจะลงทุนเพียงแค่ 50 กม.ราว 2.5 หมื่นล้านบาท  จาก หาดใหญ่ ไป ปาดังเบซาร์   และ เสนอแนะให้มาเลเซีย สร้างรถไฟความเร็วสูง จาก กัวลาลัมเปอร์ มาถึง ปาดังเบซาร์    เพียงเท่านี้ภาคใต้ไทยก็จะเชื่อมโยงกับ มาเลเซียและสิงคโปร์   ซึ่งมีประชากรราวครึ่งหนึ่งของประเทศไทย (34 ล้านคน)  แต่กลับมีขนาดของ GDP ถึง 1.5 เท่าของประเทศไทย   ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศแถบนั้นอย่างมาก   โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติของมาเลเซียซึ่งมีถึงปีละ 25 ล้านคน (มากที่สุดในภูมิภาค)  รวมกับ คนมาเลเซียเองที่เป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 2 ของไทยก็น่าจะมาเที่ยวเมืองไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น   เมื่อช่วยให้ผู้คนอยู่ดีกินดีผู้คนก็ไม่น่าจะมาคิดก่อการร้ายอะไร  ดังนั้น  ยังน่าจะช่วยให้สถานการณ์ความรุนแรงของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงไปด้วย   เส้นทางนี้น่าจะขยายไปถึง กระบี่และภูเก็ต ในเฟส 2

การ "ยืมพลัง" ของทั้งลาว และ มาเลเซียให้ลงทุนเป็นส่วนใหญ่  ไทยแค่เป็นการเชื่อมรถไฟความเร็วสูงเข้ากับเพื่อนบ้านเท่านั้น  แต่จะสร้างรายได้จำนวนมากจากการลงทุนไม่มาก  โดยเส้นทางในอาณาเขตไทยราว 1 พันกม. หรือราว 5 แสนล้านบาทต่ำกว่าวงเงินเดิมเสียอีก  แต่สามารถเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านได้ถึง 6 ประเทศ คือ จีน เวียดนาม ลาว เมียนมาร์  มาเลเซีย และ สิงคโปร์

โดยผู้คนน่าจะใช้บริการกันมากเพราะ ไม่ต้องเสียภาษีสนามบินระหว่างประเทศ (700 บาทที่สุวรรณภูมิ)  และ ค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิง  รวมไปถึง ไม่ต้องเสียเวลารอเครื่องบินรอกระเป๋าด้วย   รถไฟความเร็วสูง จึงไม่เพียงเป็นการทดแทนรถตู้รถบัส หรือ สายการบินในประเทศ   แต่เป็นสิ่งมาแข่งกับสายการบินระหว่างประเทศระยะสั้นต่างหาก  เช่น  หากจะเดินทางจาก กทม.ไป หลวงพระบาง ตอนนี้อาจต้องใช้เงินถึงขาละ 6 พันบาท (รวมภาษีสนามบินค่าประกันและค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิง)   แต่ถ้าเดินทางด้วย รถไฟความเร็วสูงระยะทางราว 800 กม.ๆ ละ 2 บาท ก็ตกแค่ 1.6 พันบาทเท่านั้นเอง  ประหยัดเงินไปได้กว่าครึ่ง ระยะเวลาที่ใช้ 3 ชม.ก็น่าจะพอๆ กัน

ด้วยการยืมพลังเพื่อนบ้าน  เราจึงสร้างน้อยลงแต่ได้รับผลกำไรมากขึ้น  เพียงแค่เชื่อมเข้ากับ หาดใหญ่ และ ขอนแก่น  ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของ ภาคใต้และอีสานเท่านั้นเอง  ผลประโยชน์ที่จะตกกับประเทศไทยและภูมิภาคนั้นมากมาย   นี่อาจเป็นกลยุทธใหม่แบบ "ป่าล้อมเมือง"  ซึ่งจะสานฝันการเติบโตแบบมีสมดุลลดความเหลื่อมล้ำของภูมิภาคตาม "ทฤษฎีสามนคราพัฒนาชาติ" ได้อีกด้วย  คือ แทนที่ กทม.จะโตเดี่ยว  เราจะได้มาอีก 2 มหานคร คือ  มหานครขอนแก่น และ สงขลามหานคร   เติบโตแบบ 3 เมืองพร้อมกัน  และ แน่นอนด้วยเส้นทางรถไฟความเร็วสูงแบบนี้จะสร้างเมืองสำคัญของเวียดนามจาก ฮานอย และ โฮจิมินห์  เพิ่มมาอีกเมืองคือ "ดานัง" เป็น "สามนครา" เช่นกัน   รวมถึง  ลาวซึ่งจะมี  เวียงจันทน์  หลวงพระบาง และ สะหวันเขต

หลังจากสร้างแล้วดูดีมีกำไรสูง  การทำเฟส 2 เพื่อเชื่อมโยงจากทุกทิศทาง  เพื่อเข้าสู่ เมืองหลวง กทม. ก็น่าจะทำได้อย่างดีได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายเป็นแน่แท้นะครับ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น