นี่เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลกำลังจะแจกหนังสือ "ยุทธศาสตร์ประเทศไทย" 1.5 แสนเล่ม ผมกำลังจะบอกว่าไม่เพียงแต่ ยุทธศาสตร์รัฐบาลยิ่งลักษณ์เท่านั้นที่ผิดพลาด รัฐบาลอภิสิทธิ์ รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสุรยุทธ์ และ แม้แต่รัฐบาลทักษิณ รวมไปถึงทุกรัฐบาลที่ประเทศไทยเคยมีมาก็น่าจะมียุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดด้วยเช่นกัน ความผิดพลาดนี้สะสมมานานนับศตวรรษแล้ว บทความนี้ผมจะบอกว่าสิ่งผิดพลาดนั้นคืออะไร และ เราจะแก้ไขให้ไปในทิศทางถูกต้องได้ด้วยวิธีใด
ยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดนั้นก็คือ การใช้กรอบยุทธศาสตร์ "เอกนครา" เพื่อพัฒนาประเทศนั่นเอง นั่นหมายถึง การพัฒนาแบบมีศูนย์กลางความเจริญเพียงเมืองเดียวหรือการโตเดียว โดยมุ่งเน้นไปที่เมืองหลวงหรือ กรุงเทพมหานคร อาจมีผู้แย้งว่า เราได้พยายามพัฒนาภูมิภาคขึ้นมามากแล้ว หลายเมืองมีห้างสรรพสินค้าหรูหรา แต่หากมองไปดูด้านคมนาคมก็จะเห็นว่า
กรุงเทพฯ มีทั้ง ทางด่วนพิเศษ เฉลิมมหานคร ฉลองรัช ศรีรัช อุดรรัถยา บูรพาวิถี รวมไปถึง กาญจนาภิเษก ถามว่า มีจังหวัดอื่นใดของประเทศไทยมีแบบนี้บ้าง ??
กรุงเทพฯ มีทั้ง รถไฟลอยฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และมีแอร์พอร์ต ลิงก์ ถามว่ามีจังหวัดอื่นใดที่มีสิ่งแบบนี้บ้าง ??
นี่จึงพูดได้อย่างชัดเจนว่า ไม่มีจังหวัดใดในประเทศไทยที่มีความเจริญทัดเทียม กทม. ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดของ "โตเกียว" และ "โอซาก้า" ซึ่งมีทั้งทางด่วน รถไฟฟ้าบนดินใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง หากโตเกียวมี โอซาก้าก็มีเช่นกัน จึงนับว่าเป็นความเจริญแบบทัดเทียมกัน
ทฤษฎี "เอกนคราพาวิบัติ" นั้นอาจเชื่อมโยงไปถึง "ทฤษฎี 2 สีตีกันเดือด" และ "ทฤษฎี 3 จังหวัดชายแดนแค้นคลั่งฆ่า" อีกด้วย ปัญหามีมากมายโดยการพัฒนาค่อยๆ กระจายจาก กทม.ในรัศมี 100 กม.แรกไปยังปริมณฑล ชลบุรี อยุธยา สมุทรสาคร จากนั้นก็เริ่มตีวงไป 300 กม. ที่หัวหิน โคราช ระยอง พิษณุโลก หากจะดูว่ามีจังหวัดใดบ้างที่ห่างจาก กทม.ทางถนนเกินกว่า 1 พันกิโลเมตร คำตอบก็คือ ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส หรือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีปัญหาความรุนแรงอยู่นั่นเอง บางทีเรื่องนี้อาจไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญ
การพึ่งพาความเจริญให้ค่อยๆ ขยายวงจาก กทม.นั้น จะสร้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ทรัพย์สิน ทางการศึกษา เรียกได้ว่าเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมในแทบทุกมิติ เพราะกว่าจะพัฒนาเมืองที่อยู่ห่างไกลให้เจริญขึ้นได้นั้น กทม.ต้องยิ่งพัฒนาไปไกลมากๆ ทางด่วน รถไฟฟ้า และ ห้างสรพสินค้าใหญ่โต นอกจากนี้ ยังสร้างปัญหาความแออัดด้านชุมชนอยู่อาศัย แออัดของการจราจรใน กทม.เป็นอย่างมาก ยิ่งพัฒนาสาธารณูปโภคก็ยิ่งดึงดูดคนให้เข้ามายัง กทม.และปริมณฑล ก็ยิ่งทำให้ความแออัดยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก
จะเห็นได้ว่า พรบ.กู้เงิน 2 ล้านล้านนั้น มี 2 ก้อนใหญ่ๆ ก็คือ รถไฟความเร็วสูง 7.5 แสนล้าน และ รถไฟฟ้าสารพัดสีใน กทม. อีก 4.5 แสนล้าน รวมกันแล้วสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาทกันเลย หากเป็นไปตามแผนเดิมดูเผินๆ แล้ว รถไฟความเร็วสูงสร้างขึ้นเพื่อพัฒนาภูมิภาค แต่เมื่อดูให้ลึกซึ้งแล้วขณะที่ หัวหิน ระยอง พิษณุโลก และ โคราช มีรถไฟความเร็วสูงผ่าน 1 เส้นทาง แต่ กทม.มีผ่านถึง 4 เส้นทาง สรุปแล้วนี่ยังคงเป็นการพัฒนาแบบรวมศูนย์ความเจริญไว้ที่ กทม.หรือ "เอกนครา" อยู่นั่นเอง ยิ่งไม่ต้องพูดถึง รถไฟฟ้าสารพัดสีใน กทม. ที่ใช้เงินภาษีทั้งประเทศลงทุนเพื่อคน กทม. โดยที่มีต้นทุนต่อกิโลเมตรสูงถึง กว่า 4 พันล้านบาท (รถไฟฟ้าสีม่วงด้านใต้ โครงการ 9 หมื่นล้าน ระยะทาง 21 กม.) ขณะที่ต้นทุนของรถไฟรางคู่อยู่ที่ 250 ล้านบาทต่อ กม.เท่านั้นเอง
เอาละปัญหาแบบนี้ก็คนไทยก็พอจะรู้ๆ กันอยู่ แล้วเราจะแก้ไขได้อย่างไร ผมคิดว่าปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ รถไฟความเร็วสูงและ AEC นั่นเอง ซึ่งแนวคิดนี้อาจเรียกได้ว่า "ทฤษฎีพหุนคราพัฒนาชาติ" โดยพัฒนาเมืองใหญ่ที่มีความเจริญสูงหลายๆ เมืองพร้อมกัน โดยหากไทยวางเส้นทางให้เชื่อม AEC โดยวางเมืองใหญ่ให้เป็นเมืองหน้าด่านในการเชื่อมโยงได้ เมืองนั้นก็จะมีความสำคัญและพัฒนาขึ้นมากเทียบเคียงกับ กทม.ได้เลยโดยใช้เวลาภายใน 20 ปี
โดยหากรถไฟความเร็วสูงอาจปรับเปลี่ยนเป็น 3 เส้นทางเพื่อเชื่อมโยงประเทศในภูมิภาค
1. เส้นทางเชื่อมมหาสมทุร ทวาย-กทม.-ขอนแก่น-ดานัง : เส้นทางนี้จะสำคัญที่สุดเป็น Land Bridge ยาว 1 พันกม. ใช้ประโยชน์ในการขนส่งผู้คนเพื่อการท่องเที่ยวและทำธุรกิจในตอนกลางวัน และ เพื่อขนส่งสินค้านำเข้าส่งออกระหว่างมหาสมุทรอินเดีย (ท่าเรือทวาย) และ แปซิฟิค (ท่าเรือดานัง) ในตอนกลางคืน วิ่งกันทั้งวันทั้งคืนใช้รางแบบคุ้มมากๆ การขนส่งสินค้าเชื่อมสมุทรจะใช้เวลาแค่ 4 ชั่วโมง หากเดินเรืออ้อมคาบสมทุรอินโดจีนอาจจะใช้เวลาถึง 4 วันเต็มๆ จึงประหยัดเวลาและน้ำมันไปได้มากโข เส้นทางนี้จะผ่าน กทม. และ ภาคอีสาน ซึ่งครอบคลุมประชากรไทยราวครึ่งประเทศ
2. เส้นทางเชื่อมจีนตอนใต้ ขอนแก่น-เวียงจันทน์-คุนหมิง เส้นทางนี้เรารู้ดีกันอยู่แล้ว "มหานครขอนแก่น" จึงเป็นฮับของรถไฟความเร็วสูงไปโดยปริยาย เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปยังด้านต่างๆ ทั้งจีน พม่า เวียดนาม รวมถึงการนำเข้าส่งออกผ่าน 2 มหาสมุทรด้วย สำหรับเฟส 2 อาจสร้างเส้นตะวันตก เพื่อผ่านจากขอนแก่น ไปยัง พิษณุโลก-ย่างกุ้ง และ เส้นอาคเนย์ ไป นครวัด-พนมเปญ-โฮจิมินห์ นี่จึงเป็นการวางตำแหน่งให้ขอนแก่นมีความสำคัญยิ่งกว่า กทม.เสียอีก และ เป็นฮับของรถไฟความเร็วสูงในภูมิภาคอย่างแท้จริง
3. เส้นทางเชื่อมแหลมมลายู หาดใหญ่-กัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ เส้นทางนี้จะทำให้เกิด "สงขลามหานคร" เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านเชื่อมโยง AEC ใต้ และ ยังทำให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นปริมณฑล เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ได้รับความเจริญจากทั้ง สงขลา และ มาเลเซีย มาพัฒนาให้อยู่ดีกินดี ความรุนแรงก็ลดลงไปตามลำดับ โดยไทยลงทุนเพียงแค่ 50 กิโลเมตรถึง ปาดังเบซาร์เท่านั้นเอง อนาคตก็น่าจะลากเส้นนี้ยาวเพิ่มไปถึงกระบี่-ภูเก็ต
การจะทำเส้นทางเหล่านี้ได้ ต้องยืมพลัง "เพื่อนบ้าน" มาร่วมสร้างด้วย กล่อมพม่าให้สร้างจาก ทวาย มาถึงชายแดนไทย กล่อมเวียดนามให้สร้างจากดานังมาถึง ชายแดนลาว โดยจีนและญี่ปุ่นน่าจะยินดีในการสนับสนุนเงินทุนและการรับเหมาก่อสร้าง ส่วนลาวนั้นมีแผนของเขาอยู่แล้ว ไทยจึงสร้างทางเพียงราว 1 พันกิโลเมตรใช้เงินราว 5 แสนล้านบาทน้อยกว่าแผนเดิมเสียอีก แต่เชื่อมโยงได้ทั้งหมด 6 ประเทศเพื่อนบ้าน แถมยังเชื่อมโยงการส่งออกได้ทั่วโลก 2 ด้านมหาสมุทรผ่านท่าเรือทวาย และ ดานัง แบบประหยัดเวลาและน้ำมันอีกด้วย
บุุคคลที่จะแก้ไขความผิดพลาดนานนับศตวรรษของไทยจาก "เอกนครา" มาสู่ "พหุนครา" ได้นั้น ก็คือผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟความเร็วสูง ท่าน รมว.คมนาคม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นั่นเอง หากท่านมุ่งมั่นกล้าหาญที่จะปรับเปลี่ยนกรอบยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดนานนับร้อยปีของไทย ปรับเปลี่ยนแผนการพัฒนาระบบรางเสียใหม่ หากทำได้สำเร็จงดงามอย่างดี เกียรติยศของท่านคงไม่หยุดแค่ "บิดาแห่งรถไฟความเร็วสูงของไทย" แต่น่าจะไปได้ถึง "บิดาแห่งรถไฟความเร็วสูงของ AEC" กันเลย และ ไม่น่าจะหยุดแค่ "รัฐมนตรีแห่งปี" แต่น่าจะไปได้ถึง "รัฐมนตรีแห่งศตวรรษ" กันเลยทีเดียว เชียร์ๆ เพื่อชาตินะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น