ปฏิทรรศน์ของ QE (Paradox of QE) คำว่า paradox นั้นในภาษาจีนคือ "เหมาตุ้น" และ ในภาษาญี่ปุ่นคือ "มุจุง" ตามนิทานโล่และหอกวิเศษ โดยพ่อค้าบอกว่า โล่วิเศษสามารถป้องกันหอกแหลมได้ทุกชนิด ขณะที่หอกวิเศษนั้นเล่าสามารถทิ่มแทงโล่ได้ทะลุหมด นั้นจึงเป็นการ "ย้อนแย้ง" กันเอง หรือศัพท์ทางวิชาการก็คือ "ปฏิทรรศน์" สำหรับ QE นั้นอาจมี "ปฏิทรรศน์" ได้ถึง 3 เรื่อง โดยแม้จะมีเหตุมีผลทั้ง 2 ข้างแต่ย้อนแย้งกันเองดังนี้
1. ความเชื่อเดิม : มาตรการ QE จะทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าไปซื้อพันธบัตรน่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวนั้นลดลง
ความเชื่อใหม่ : แต่ผลลัพธ์ความจริงก็คือ ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น และ เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัว จึงเกิดแรงสะท้อนกลับ เคลื่อนย้ายเงินออกจากตลาดพันธบัตร เข้าสู่ ตลาดหุ้นแทน ผลลัพธ์ก็คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของอเมริกาน้้นได้วิ่งจาก 1.6% ไปเป็น 2.1% ขณะที่ของญี่ปุ่นนั้นก็กลับวิ่งจาก 0.5% ไปแตะที่ระดับ 1.0%
QE จึงทั้งทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวทั้งต่ำลง และ สูงขึ้นด้วย นี่คือ ปฏิทรรศน์
2. ความเชื่อเดิม : มาตรการ QE จะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ตามสมการการเงิน MV = PQ หากเพิ่มปริมาณเงิน (M) เข้าไปแล้วน่าจะมีผลต่อราคาสินค้า (P) อยู่บ้าง
ความเชื่อใหม่ : แต่ผลลัพธ์จริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น อัตราเงินเฟ้อของอเมริกาได้ลดลงจากระดับกว่า 2% เหลือล่าสุดเพียง 1.1% เท่านั้นเอง และญี่ปุ่นนั้นความจริงก็ใช้ QE มากว่า 10 ปีแล้วกลับมีอัตราเงินเฟ้อระดับ ติดลบ 0.7% ไม่ได้ใกล้เคียงกับระดับ 2% ตามที่วาดฝันไว้เลย เหตุผลก็อาจเป็นเพราะปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นมานั้นไหลเข้าในส่วนของ stock ซึ่งเป็นตลาดเงิน ตลาดทุน และ อสังหาริมทรัพย์ และ แทบไม่ได้ไหลเข้าไปในส่วนที่เป็น flow หรือ GDP เลย หรืออาจเกิดจากการที่ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้นจากสภาพคล่องล้นระบบ ขณะที่กำลังการผลิตทั้งเครื่องจักร และ กำลังคนก็เหลือเฟือ เมื่อมีการผลิตเพิ่มจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยนั้นลดต่ำลง ซึ่งมีผลให้เงินเฟ้อลดลงแทนที่จะเพิ่มขึ้น
QE จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งสูงขึ้น และ ต่ำลง นี่คือ "ปฏิทรรศน์" เช่นกัน
3. ความเชื่อเดิม : มาตรการ QE จะช่วยให้ดอกเบี้ยต่ำลง ตลาดหุ้นวิ่งดี กระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น
ความเชื่อใหม่ : แต่จะเห็นจาก 2 ข้อแรก คือ ผลลัพธ์จริงที่ว่า อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อกลับต่ำลง และจากการเปลี่ยนแปลง 2 ค่านี้จึงได้ผลลัพธ์ว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real interest rate) จะมีค่าสูงขึ้นมาก โดยญี่ปุ่นนั้นอยู่ระดับ 1.6% (ดอกเบี้ยระยะยาว 0.9% อัตราเงินเฟ้อ -0.7%) ซึ่งนับได้ว่าสูงสุดของประเทศพัฒนาแล้ว ยกเว้น PIIGS ขณะที่อเมริกาก็เพิ่มขึ้นจากระดับติดลบกลายมาเป็น 1% แล้ว (ดอกเบี้ยระยะยาว 2.1% อัตราเงินเฟ้อ 1.1%) และ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่สูงขึ้นมากนี้ิย่อมส่งผลลบต่อเศรษฐกิจแทนที่จะส่งผลบวกในระยะยาว
ดังนั้น QE จึงทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และ แย่ลง ซึ่งก็คือ ปฏิทรรศน์ อีกเช่นกัน
ผมได้เรียกชื่อใหม่ของ QE ว่าเป็น "สเตียรอยด์การเงิน" (Financial Steroid) ซึ่งหมายถึงว่าเป็นยาที่ให้ผลดีในระยะสั้นๆ แต่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาว และ การหยุดยาหรือลดยาอย่างเร็วนั้น ก็จะส่งกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย
หากคนของธนาคารกลางอเมริกา และ ญี่ปุ่นได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้อาจจะตื่นเต้นตกใจเป็นอันมาก จนถึงกับต้องเรียกประชุมด่วน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจาณาถึงผลลัพธ์ของมาตรการ QE ว่าจะยังเป็นไปตามความเชื่อเดิมของทฤษฎีการเงินเดิมๆ อยู่ หรือว่าจะได้ผลลัพธ์ออกมาตามความเชื่อใหม่ ของ "ทฤษฎีการเงินไท้เก๊ก" ซึ่งใช้แนวคิดแบบ "ย้อนแย้งสะท้อนแรง" กันแน่ ซึ่งเรื่องนี้อาจมีความสำคัญมากต่อมุมมองของมาตรการ QE และการปรับเปลี่ยนมาตรการ QE ในอนาคตกันเลยทีเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น