วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

สัญญาณเตือนภัยวิกฤติเศรษฐกิจ

ปัจจุบันโลกมีสัญญาณเตือนภัยทั้ง กันขโมยรถยนต์ และ บ้าน   สัญญาณเตือนภัยไฟไหม้  สัญญาณเตือนภัยสึนามิ  และอื่นๆ อีกมากมาย  ซึ่งอาจใช้ป้องกันทรัพย์สินระดับหลักแสนบาท  แต่ดูเหมือนโลกยังขาดสัญญาณเตือนภัยวิกฤติเศรษฐกิจ  ที่เป็นรูปธรรมซึ่งอาจสร้างความเสียหายได้ถึงระดับล้านล้านดอลลาร์

นับตั้งแต่วิกฤติเตกีล่าในเม็กซิโก ปี 1984 เป็นต้นมาถึงเกือบ 30 ปี  IMF และ World Bank กลับไม่ได้ใส่ใจในสาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจนัก  จึงไม่ได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อป้องกันภัยแต่อย่างใด  ปล่อยให้วิกฤติเกิดต่อเนื่อง  จนเป็น วิกฤติต้มยำกุ้งในไทยปี 1997     วิกฤติอาร์เจนติน่าปี 2000  และ ไปถึง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปี2008

ในบทความนี้  ผมมีความยินดีที่จะเสนอสิ่งใหม่ให้กับโลก  นั่นก็คือ  สัญญาณเตือนภัย "เรืองศิริกูลชัย"  (Ruang Alarm)   เพื่อใช้ป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศต่างๆ    เนื่องจากการ "ป้องกัน" ย่อมสูญเสียและเจ็บปวดน้อยกว่า การ "แก้ไข" วิกฤติเศรษฐกิจมากนัก

แนวคิดของ Ruang Alarm ก็คือ  การนำเอาดุลบัญชีเดินสะพัด ต่อ GDP  มาบวกเข้าด้วยกัน 3 ปีล่าสุด เราก็จะได้ตัวเลขออกมา   โดยอาจแบ่งความเสี่ยงของวิกฤติเศรษฐกิจได้เป็น 3 ขั้น คือ
1. ความเสี่ยงสูง :  ค่า Ruang Alarm  อยู่ที่ระดับแย่กว่า -10% GDP
2. ความเสี่ยงสูงมาก : ค่า Ruang Alarm จะอยู่ที่ระดับแย่กว่า -20% GDP
3. ความเสี่ยงสูงสุดยอด : ค่า Ruang Alarm อยู่ที่ระดับแย่กว่า  -30% GDP

เรามาลองดูตัวเลขเก่าๆ ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจดูบ้าง    เตกีล่าของเม็กซิโก ค่า Ruang Alarm อยู่ที่ -13% GDP   ขณะที่  ต้มยำกุ้งของไทยนั้น  Ruang Alarm อยู่ที่ -21.2%    และ  วิกฤติอาร์เจนติน่าปี 2000 ค่านี้อยู่ที่  -13.1%

เมื่อมาดูที่ก่อนเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และ วิกฤติยูโรโซนดูบ้าง  ก็พบว่า  อเมริกานั้นมีค่า Ruang Alarm ที่  -17% GDP  และเมื่อไปดูที่ประเทศอ่อนแอในยูโรโซนกลับยิ่งตกใจ  เมื่อพบว่า  กรีซมีค่านี้สูงถึง  -44% GDP  ไซปรัสที่  -34%     โปรตุเกสที่ -33.4% GDP   และ  สเปนที่ -28.6% GDP  

เป็นที่น่าเสียดายว่า  หาก IMF  ใช้แนวคิดของ Ruang Alarm  มาก่อนแล้ว  โลกอาจป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจเหล่านี้ได้ทั้งหมด  การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักและต่อเนื่อง  หมายถึง การใช้จ่ายทั้งบริโภคและลงทุนเกินตัว  โดยพึ่งพิงเงินทุนจากต่างชาติ  สร้างแรงเก็งกำไรเป็นฟองสบู่ในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์   ซึ่งในที่สุดก็ต้องแตกตัวลง

แล้ว ณ จุดนี้มีประเทศที่เสี่ยงๆ อยู่บ้างไหม  ผมได้สแกนประเทศขนาดใหญ่พอสมควร  ก็พบอยู่ 3 ประเทศ   มี 2 ประเทศใน BRICS นั่นก็คือ  อินเดีย  ที่ประมาณ -11.4% GDP   และ แอฟริกาใต้ ที่ -12.5%  ซึ่งถือว่าความเสี่ยงระดับสูง    ขณะที่มีอีกประเทศที่สัญญาณเตือนภัยในระดับสูงมาก  ก็คือ  "ตุรกี" ซึ่งเป็นประเทศที่มีอาณาเขตใกล้กับ กรีซ และ ไซปรัส เสียด้วย  ประเทศนี้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 18 ของโลกมีค่า Ruang Alarm สูงระดับ  -22.5% เลยทีเดียว  

นอกจากนี้ผมได้ค้นพบว่า  วิกฤติการคลังนั้น  ไม่ใช่ "สาเหตุ" ของวิกฤติเศรษฐกิจ  แต่เป็น "ผลลัพธ์" ของวิกฤติเศรษฐกิจต่างหาก   โดยประเทศไทย  หนี้ภาครัฐต่อ GDP  วิ่งจาก 15.2% ไป  57.8% GDP  ภายในเวลา 4 ปีเพราะ ผลพวงของวิกฤติต้นมยำกุ้ง    ไอร์แลนด์นั้นก็มีตัวเลขเดียวกันใช้เวลา 5 ปีวิ่งจาก  25% ไป 117% GDP ณปี 2012   นั่นเป็นเพราะ  ขณะที่รัฐบาลมีรายได้ลดลงจากเศรษฐกิจถดถอย  ในเวลาเดียวกัน  รัฐบาลต้องเข้าไปอุ้มภาคธนาคาร   ช่วยเหลือประชาชนด้านประกันสังคม  และ ยังต้องมีภาระดอกเบี้ยจ่ายในระดับสูงอีกด้วย  

ดังนั้น หากจะเรียงลำดับเหตุการณ์ ก็อาจเป็นดังนี้   วิกฤติดุลบัญชีเดินสะพัด -------> วิกฤติเศรษฐกิจ ------>  วิกฤติการคลัง   หมายถึงว่า  วิกฤติดุลบัญชีเดินสะพัด คือ "ต้นเหตุ" ของวิกฤติเศรษฐกิจ  ขณะที่  วิกฤติการคลัง  เป็น "ผลลัพธ์"  ของวิกฤติเศรษฐกิจไม่ใช่ "สาเหตุ"

และก็มาถึงตอนจบ....แล้วประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้างละ  สำหรับ พรบ.กุ้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทนั้น  ผมไม่ได้กังวลเรื่องของวิกฤติการคลังสักเท่าใดนัก  เพราะ การลงทุุนในสาธาณูปโภคขนาดนั้นน่าจะกระตุ้นให้ภาคเอกชนแห่ลงทุนตามมาด้วยแน่ ตามแนวคิดค่าตัวทวี (multiplier)  และ รัฐบาลก็น่าจะเก็บภาษีต่างๆ ได้ดีขึ้นเพราะเศรษฐกิจเติบโตดี   แต่หากการเติบโตวิ่งไปที่ระดับ 7-8% จริงๆ สิ่งที่น่ากังวลก็คือ การโตเกินตัว  การบริโภคเกินตัว  การลงทุนเกินตัว  จะทำให้เกิดขาดดุลการค้า  ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงและต่อเนื่องหลายปีต่างหาก   ซึ่งนั่นคือ "ต้นเหตุ" ของวิกฤติต้นมยำกุ้งนั่นเอง

เมื่อดูตัวเลขขาดดุลการค้าในเดือน มกราคมที่ผ่านมาคือ 1.7 แสนล้านบาท  สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และ เมื่อรวมกับเดือนกุมภาพันธ์  ไทยขาดดุลเฉลี่ยดือนละ 1แสนล้านหรือปีละ 1.2 ล้านล้าน ซึ่งเป็นระดับสูงถึง 10% GDP   ไม่ต้องสงสัยเลยว่า  การลงทุนรถไฟระบบรางต่างๆ จะทำให้ประเทสไทยขาดดุลเพิ่มขึ้นไปอีกมหาศาลเพียงใด   เครื่อต้มยำ 3 ชนิดของ "ต้มยำกุ้ง"  คือ 1.ใช้ค่าเงินบาทที่แข็งเกินกว่าระดับเหมาะสม  2. ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดหนักหน่วงและต่อเนื่อง (Ruang Alam แย่กว่า -10%)  3.มีการเก็งกำไรในตลาดหุ้น และ อสังหาริมทรัพย์สูงมาก   เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว

อาจกล่าวได้ว่าเร็วไปที่จะพูดถึง "ต้มยำปู"  เพราะปัจจุบัน Ruang Alarm ไม่ได้ส่งสัญญาณเตือนแต่อย่างใด  แต่หาก พรบ.2.2 ล้านล้านผ่านไปได้   เอกชนแห่ลงทุนกันตามภาครัฐจนเกิดฟองสบู่   ไทยต้องใช้ค่า "บาทแข็ง" อย่างต่อเนื่อง   ขาดดุลการค้าและขาดดุลเดินสะพัดอย่างหนักหน่วงต่อเนื่อง  อีก 3 ปีข้างหน้าเมื่อค่า Ruang Alarm  ส่งสัญญาณเตือน   ผมจะมาเขียนบอกอีกครั้งนะครับ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น