วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ สวรรค์บนดิน

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ สวรรค์บนดิน

รัฐบาลพยายามจะยกเอา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ด้วยการนำเอาความรู้ วัฒนธรรม และ ประวัติศาสตร์มาสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้า และ บริการ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้เป็นสัดส่วนสูงถึง 20% GDP ฟังดูแล้วก็สวยหรูดี แต่ชาวบ้าน ซึ่งรวมผมด้วย ก็ยังสงสัยอยู่ว่า สิ่งนี้จะช่วยให้เงินในกระเป๋าของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเพิ่มขึ้น อยู่ดีกินดีขึ้น ได้จริงละหรือ ??

นอกจากนี้ต่างชาติก็ออกจะรู้สึกกังวลอยู่ไม่น้อยกับ แนวคิดสร้างสรรค์แบบไทยๆ ในยุคปัจจุบัน เริ่มมาตั้งแต่ “อีลิทการ์ด” ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ด้วยการสร้างสรรค์เอาบัตรพลาสติกไปขายใบละ 1 ล้านบาทเพื่อหวังฟันกำไร แต่สุดท้ายรัฐบาลไทยกลับขาดทุนอย่างมากมายล้มเหลวไม่เป็นท่า การฟ้องร้องอย่างสร้างสรรค์ของ NGO ผ่านทางศาลปกครองเพื่อให้หยุดโครงการก่อสร้างต่างๆ ในมาบตาพุด ได้สร้างความเสียหายต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักของพวกเขาหลายแสนล้านบาท

ไม่เพียงเท่านั้น การประท้วงอย่างสร้างสรรค์ของคนเสื้อเหลือง ด้วยการปิดสนามบิน รวมไปถึง การประท้วงอย่างสร้างสรรค์ของคนเสื้อแดง ด้วยการปิดถนนเผาเมือง ก็ทำให้คนทั่วโลกต้องตะลึงถึงกับ ปากอ้าตาค้างมาแล้ว ถึงแนวคิดสร้างสรรค์อย่างเหลือเชื่อจะรับได้ของคนไทยในยุคนี้

ผมคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลควรรีบทำ คือ “การเลิกทาสระบบทุนนิยม” ต่างหาก ด้วย “สินเชื่อ99” ซึ่งเคยได้นำเสนอหลายครั้งแล้วนั้น โดยการให้ สปส. กบข. และ บลจ. มาค้ำประกันเงินกู้ให้กับผู้ประกันตน และ สมาชิก ของตนเอง ไม่เกิน 9 ส่วนของเงินออมแต่ละคน ในอัตราดอกเบี้ย 9% ต่อปี (แบงก์รัฐได้ 6% สถาบันค้ำประกันได้ 1.5% และ รัฐบาลได้ 1.5% ) ระยะเวลาผ่อนไม่เกิน 9 ปี ได้รับเงินใน 9 วันเท่านั้น คาดว่าจะมีกระแสเงินสดไหลเข้าระบบได้ถึง 9 แสนล้านบาท โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเบี้ยวหนี้เลย เพราะหากใครไม่จ่าย 3 เดือนติดกันก็ยึดเงินออมนั้นมาหักลบกลบหนี้พร้อมเบี้ยปรับได้เลย

ด้วยวิธีเช่นนี้ แทนที่ชนชั้นแรงงานจะตกเป็น “ทาส” ของนายทุนเงินกู้ดอกเบี้ยโหด พวกเขาสามารถเป็น “อิสรภาพ” ด้วยเงินออมของตนเอง ไม่เพียงเท่านั้นสำหรับบางคนที่มีหนี้สินน้อย หรือ ไม่มีเลย สามารถยกระดับตนเองขึ้นเป็น “นายทุน” ได้อีกด้วย เช่น สามารถปล่อยกู้ให้ญาติสนิทมิตรสหาย ได้หลายหมื่นบาทหรืออาจเป็นหลักแสน ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และ พวกเขาก็ได้กำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ยนี้ไป ด้วยกลไกนี้จึงสร้างระบบที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างง่ายดาย เพราะ ได้สร้างนายทุนรุ่นใหม่เป็นล้านคน สำหรับลูกหนี้ภาระผ่อนหนี้ต่อเดือนจะลดลงไปกว่าครึ่ง

นี่จึงเป็นวิธีการในการ “เลิกทาสครั้งที่ 2” นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นการเลิกทาสครั้งแรก เป็นการยกระดับของชนชั้นอย่างรวดเร็วภายในเวลา 1 เดือน จากชนชั้นแรงงาน ก้าวข้ามสู่ชนชั้นนายทุนได้เลย ด้วยวิธีนี้ ประเทศไทยจึงกลายเป็น สวรรค์บนดินของคนไทยส่วนใหญ่ที่ปลดแอกจาก นายทุนดอกเบี้ยโหด

ไม่เพียงเท่านั้น ไทยยังมีศักยภาพสูงมากในการเป็น “ศูนย์กลางเกษียณโลก” หรือ Retirement Center จากคนเกษียณในประเทศพัฒนาแล้วซึ่งมีจำนวนมากถึง 200 ล้านคน เราควรตั้งเป้าหมายราว 1 ล้านคนเพื่อมาเกษียณประเทศไทยอย่างมีความสุขกาย และ สบายใจ ด้วยค่าครองชีพที่ต่ำ อาหาร การแพทย์ที่ดี รวมไปถึงภัยธรรมชาติน้อย

ตัวอย่างเช่น นายโกโบริ และ นางฮิเดโกะ ตัดสินใจเกษียณในไทย จึงขายคอนโดชานเมืองโตเกียว 20 ล้านบาท มาซื้อคอนโดชานเมืองกรุงเทพฯ หรือ หัวเมืองท่องเที่ยว 4 ล้านบาท ในขนาดพื้นที่เดียวกัน แล้วนำเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย 16 ล้านได้ดอกเบี้ยใช้อีกปีละ 6 แสนบาท เมื่อรวมกับเงินบำนาญซึ่งได้ทุกเดือนอีกราวเดือนละ 5 หมื่นหรือปีละ 6 แสนบาท พวกเขาจะได้เงินใช้จ่ายถึงปีละ 1.2 ล้าน หรือราว 1 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งนับได้ว่าสูงมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานของคนไทยทั่วไป และหากเทียบกับการเกษียณในญี่ปุ่น ด้วยเงิน 5 หมื่นบาท จะเทียบเท่ากับกำลังซื้อในไทยเพียง 1 หมื่นบาทเท่านั้น สรุปแล้ว พวกเขาจะมีกำลังซื้อสูงขึ้นถึง 10 เท่าตัวเลยทีเดียว แค่การสร้างที่อยู่อาศัยอีกราว 5 แสนยูนิตเพื่อคนเหล่านี้ก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาลแล้ว ยังไม่นับรวมถึงการจับจ่ายใช้สอย และ การดึงญาติมิตรมาเพื่อท่องเที่ยวในเมืองไทยอีกเป็นจำนวนมาก

ญี่ปุ่นได้ส่งเงินสนับสนุนด้านสุขภาพให้คนชราราวหัวละ 3.5 แสนบาทต่อปี ไทยเราสามารถขอเจียดเงินส่วนนี้มา 1 แสนบาทก็พอ ดูแลสุขภาพคนชราเหล่านี้อย่างดี 5 หมื่นบาททำประกันชั้นสุดยอดกับโรงพยาบาลเอกชน 5 ดาว ขณะที่อีก 5 หมื่นบาท สามารถเก็บเข้าคลังเป็นรายได้รัฐได้เลยสบายๆ ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่นก็ประหยัดงบประมาณไปมากโขด้วย ส่วนต่างของต้นทุนการรักษาพยาบาล และ ค่าครองชีพนี้เอง ประเทศไทยจึงกลายเป็น สวรรค์บนดินของคนเกษียณกลุ่มนี้ไปด้วย

ไม่จบเพียงเท่านี้ เมื่อมีคนแก่ 1 ล้านคนเพิ่มขึ้นมา จำเป็นที่ไทยต้องอาศัยแรงงานจากอินโดจีนเพิ่มอีกเท่าตัวจากปัจจุบันราว 2 ล้านคน ก็อาจต้องเพิ่มเป็น 4 ล้านคน จัดระบบให้ดี สร้างสรรค์สังคมแห่งความเอื้ออาทร มาช่วยกันทำงาน มาช่วยกันจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจก็จะสะพัด ประเทศไทยจึงเป็นแหล่งสวรรค์ของคนงานกลุ่มนี้ไปอีก

เพียง 3 จาก 18 กระบวนท่า “เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก” (Taiji-Econ.) ก็น่าจะใช้เป็นแผนระยะยาว 5 ปีของประเทศไทย เพื่อสร้างสรรค์ให้ประเทศไทยเจริญรุ่งเรือง ทั้งทรัพย์สินเงินทอง และ จิตวิญญาณที่หล่อหลอมวัฒนธรรมดีๆ เข้าด้วยกัน เรียกว่า เตรียมรับทั้งเงินทั้งกล่อง กันเลยทีเดียว

หยุดทะเลาะ หยุดการเผชิญหน้ากันได้แล้ว ถอยกันคนละครึ่งก้าว จับมือกันเพื่อสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เป็น “สวรรค์บนดิน” ทั้งของคนไทยทั้งปวง รวมไปถึงคนต่างชาติอีกหลายล้านคนจะดีกว่าไหมครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น