ก้าวข้าม “ธนาธิปไตย” สู่ “ประชาธิปไตย” ที่แท้จริง
ในยามที่บ้านเมืองมีปัญหาของการเมืองสุมเข้ามาเช่นนี้ ผมขออนุญาตการเปลี่ยนหัวเรื่องจากด้าน “เศรษฐกิจ” มาเสนอความเห็นด้าน “การเมือง” บ้าง
อย่างที่พวกเราล้วนรู้ดีกันอยู่ว่าระบบการเลือกตั้งในปัจจุบันนั้น ต้องมีการใช้เงินทุนเพื่อหาเสียงกันเป็นจำนวนมากหลายล้านบาท ทั้งแบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การทำแผ่นพับ โฆษณาผ่านสื่อ หรือ ป้ายหาเสียง รวมทั้งที่แบบผิดกฎหมาย (แต่แอบทำ) อีกเป็นจำนวนมาก เราจึงมักได้ผู้แทนราษฎร (สส.) ที่เป็นเจ้าที่ดิน หรือนายทุน ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนา และ คนงาน
เมื่อนายทุนได้เข้ามาเป็น สส. ก็มุ่งหวังผลประโยชน์เพื่อถอนทุนคืน จึงอาจเชื่อมโยงไปถึงการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ง่ายๆ เรื่องแบบนี้พวกเรารู้ดีกันมาหลายสิบปีแล้ว ว่าโดยรูปแบบปัจจุบันนั้นคล้าย “ประชาธิปไตย” แต่โดยเนื้อแท้แล้ว คือ “ธนาธิปไตย” ที่มุ่งการใช้เงินทุนเป็นหลักเพื่อเข้ามาในสภา เพื่อแสงหาผลกำไรเป็นเงินทุนทางการเมืองกลับไปนั่นเอง
ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะเสนอ แนวทางการเลือกตั้งแบบใหม่ เพื่อให้ประเทศก้าวข้าม “ธนาธิปไตย” ไปให้ได้ โดยยังคงอยู่ในกรอบแห่ง “ประชาธิปไตย” อยู่ดี นั่นคือ “ระบบตัวแทนหมู่บ้าน”
ด้วยระบบนี้ก็คือ การจัดให้หมู่บ้าน 7.8 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศได้เลือกตัวแทนหมู่บ้าน 1 คน ซึ่งเป็นคนดีและพร้อมทำงานเพื่อสังคม จากนั้นก็สุ่มเลือกแบบจับสลากขึ้นมาราว 80 คน จังหวัดละ 1 คนยกเว้นจังหวัดใหญ่ๆ ได้ 2 คน ด้วยวิธีการนี้จึงเป็นการเลือกด้วย “ประชาชน” ชั้นหนึ่ง แล้วจึงให้ “สวรรค์” เป็นคนเลือกอีกขั้นหนึ่ง โดยรูปแบบแล้วคล้ายการ “เสี่ยงโชค” แต่เนื้อแท้แล้วเป็น “ประชาธิปไตย” อย่างมาก เพราะ ชาวบ้านมีโอกาสเข้ามาเป็น สส. ได้ ทั้งๆที่ระบบปัจจุบันนั้นโอกาสนั้นไม่มีเอาเสียเลย
ด้วยระบบแบบนี้ แรงจูงใจในการซื้อเสียงแทบไม่มีเลย เพราะ แม้จะได้เป็นตัวแทนของหมู่บ้านก็มีโอกาสเพียง 1 ในพัน เท่านั้นที่จะได้เป็น สส.ตัวจริง เมื่อไม่มีการลงทุนในการหาเสียง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องถอนทุนทางการเมือง จะลดปัญหาของการทุจริตคอรัปชั่นไปในตัว ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยระบบแบบนี้เราจะได้ตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง ไม่ใช่ว่า ชาวนาเลือกตัวแทนทีไร จะได้นายทุน อยู่ร่ำไป
ผมเชื่อว่าวิธีการแบบนี้จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายทั้ง “เสื้อเหลือง” ที่เน้นความบริสุทธิ์ซื่อตรง “เสื้อแดง” ที่เน้นเรื่องขอประชาธิปไตย รวมไปถึง “เสื้อขาว” ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย มีคนกลุ่มเดียวที่อาจเสียประโยชน์จากตรงนี้ก็คือ สส.ในระบบปัจจุบันนั่นเอง
เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะ คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ชี้ชะตาหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องการเลือกตั้ง หากขัดผลประโยชน์ของพวกเขาก็อาจไม่ผ่านได้ง่ายๆ อย่างไรก็ดี เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่และประเทศชาติ ดังนั้น พรรคการเมืองใดที่ไม่สนับสนุนแนวคิดนี้ก็อาจหมายถึง การสูญเสียฐานเสียงของประชาชนจำนวนมากได้ง่ายๆ
สิ่งที่ควรจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีอยู่ 2 เรื่อง คือ
1. คุณสมบัติของ สส. ที่กำหนดให้ต้องจบปริญญาตรี นั้นไม่เหมาะสมเลย เป็นการตัดสิทธิของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้มีสิทธิในการสมัครเป็นตัวแทนชาวบ้าน เราต้องการคนที่มาเป็นปากเสียงของประชาชนนะครับ ไม่ใช่ มาเป็นนักวิชาการเพื่อแก้โจทย์คณิตศาสตร์ชั้นสูง แคลคูลัส แบบนั้น
ผมคิดว่าแค่ระดับ อ่านออกเขียนได้บวกลบเลขเป็น ก็น่าจะพอแล้ว จบชั้นประถมศึกษาก็น่าจะเพียงพอแล้ว เราต้องการคนดีที่พร้อมทำเพื่อสังคม ควรเปิดสิทธินั้นให้กับคนดีๆ ไม่ใช่ไปตัดสิทธิของประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศไม่ให้เป็น สส.ได้
2. เพิ่มแบบของการเลือกตั้ง จากแค่ 2 แบบคือ ระบบแบ่งเขต และ ระบบสัดส่วน ก็เพิ่ม “ระบบตัวแทนหมู่บ้าน” เข้าไปด้วย โดย 2 แบบเดิมจะเหลือ 400 คน ส่วนระบบใหม่นี้ก็ราว 80 คน เพื่อทดลองนำร่องดูก่อน สส.ที่ได้อาจมีระดับการศึกษาที่ต่ำลง แต่เป็นคนดี พร้อมทำเพื่อสังคมมากขึ้น ไม่ทุจริตโกงกิน ซึ่งก็คือ คุณภาพที่ดีขึ้นของ สส.นั่นเอง
จากการชุมนุมของ “คนเสื้อแดง” ในเดือนมีนาคมนี้ ผมกลับพบว่าแม้เสียงสนับสนุนต่อรัฐบาลจะดีขึ้นเนื่องจากสามารถฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างสวยงาม แต่ เงื่อนไขในการ “ไม่ยุบสภา” กลับลดลง เพราะ เศรษฐกิจก็ดีขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว และ พรรคประชาธิปัตย์ก็ออกเสียงชัดเจนว่าจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หาก “ยุบสภา” ณ เวลานี้ การเมืองไทยก็จะกลับไปสู่วังวนเดิมๆ ของ “ธนาธิปไตย” และ การเมืองน้ำเน่าต่อไป
ผมจึงคิดว่า ความคิดนี้อาจเป็นจุดเล็กๆ ที่ใช้เป็นเงื่อนไขเพื่อการอยู่ต่อไปของสภา เพื่อดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของการเลือกตั้งให้เสร็จ เพื่อปฏิรูปการเมืองให้สร้างสรรค์เป็น “ประชาธิปไตย” อย่างแท้จริง เราต้องเปิดโอกาสให้ชาวบ้านธรรมดาๆ มีโอกาสเข้ามาเป็น สส.ในสภาได้ และ บางทีเรื่องนี้อาจเป็นจุดเล็กๆ เพื่อเริ่มต้นในการสร้างความสมานฉันท์ของประชาชนสีต่างๆ ในประเทศไทยของเราครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น