หากถามว่า "หนี้ภาครัฐไทย ไม่เป็นไรใช่ไหม" รัฐบาลก็คงตอบว่า "สบายมาก ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง" แต่ถ้าถามฝ่ายค้านละก็ "เรื่องใหญ่เลย การเพิ่มหนี้ภาครัฐอย่างเร็ว น่าจะสร้างวิกฤติการคลังได้" นี่เป็นมุมมอง 2 ด้านที่แตกต่างกัน
เคยสงสัยกันบ้างไหมครับว่าทำไม กรีซ ซึ่งมีหนี้สาธารณะต่อ จีดีพี ที่ 165% หรือ อิตาลีที่ 120% กลับพบกับวิกฤติการคลังแบบเป็นเรื่องเป็นราว หนักหนาสาหัสกว่า ญี่ปุ่น ซึ่งมีตัวเลขนี้อยู่ที่ 212% คำตอบนั้นอาจเป็นได้ว่า กรีซ และ อิตาลี ต้องมีการไฟแนนซ์เงินจากต่างประเทศ ทำให้ต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ขณะที่ญี่ปุ่นนั้นพึ่งพิงเงินออมในประเทศเป็นหลัก โดยผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีนั้น กรีซยืนที่ 20.7% อิตาลีที่ 5% ขณะที่ญี่ปุ่นยืนราว 0.8% เท่านั้นเอง
ผมจึงมีความยินดีที่จะนำเสนอดัชนีวัดความเสี่ยงการคลังที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยใช้ "นามสกุล" ของผมเอง “ดัชนีเรืองศิริกูลชัย” (Ruangsirikulchai Index เรียกสั้นๆว่า Ruang Index) เพื่อชี้ความเสี่ยงการคลังของประเทศต่างๆ โดยนำเอา ค่าหนี้สาธารณะ ต่อ GDP คูณด้วย ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี โดยมีแนวคิดว่า ประเทศเหล่านี้หากรีไฟแนนซ์เป็นหนี้ระยะยาว 10 ปีทั้งหมด ณ ปัจจุบันแล้ว จะต้องเสียเฉพาะค่าดอกเบี้ยจ่าย คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของ GDP โดยส่วนใหญ่แล้วเงินตรงนี้จะจ่ายไปยัง นักลงทุนสถาบันทั้งใน และ ต่างประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาล และ เงินนี้ก็จะจมไปกับกองทุนไม่ออกมาหมุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเป็นการสูญเสียทางการคลังแบบเปล่าประโยชน์ ค่าเหล่านี้หาได้ง่ายและมีการเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน ทำให้ update ต่อสถานการณ์การคลัง
Ruangsirikulchai Index = Pulbic Debt/GDP * 10 Yr Gov.Bond Yield
เราอาจแบ่งความเสี่ยงเป็น 5 ระดับ คล้ายกับระดับความรุนแรงของพายุไต้ฝุ่น ดังนี้
ความเสี่ยงระดับ 1 (ค่าดัชนีอยู่ต่ำกว่า 1.5%) หมายถึง รัฐบาลไม่มีภาระหนักหนานักในการจ่ายดอกเบี้ย ความเสี่ยงการคลังยังอยู่ในระดับต่ำ ยังไม่ต้องรีบร้อนที่นำเอา "การคลังไท้เก๊ก" มาใช้ สามารถใช้นโยบายการคลังเดิมๆ ของเคนส์ได้ต่อไป เช่น เยอรมนีมีค่าดัชนี "เรืองศิริกูลชัย" ที่ 1.3% (หนี้ภาครัฐต่อ GDP 81% และ ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีที่ 1.63%)
ความเสี่ยงระดับ 2 (ค่าดัชนีอยู่ระหว่าง 1.5%-3%) หมายถึง มีความเสี่ยงของการคลังอยู่ในระดับปานกลาง ประเทศเหล่านี้ควรเร่งรีบศึกษา "การคลังไท้เก๊ก" ซึ่งใช้หลักการยืมพลังแทนการนโยบายการคลังแบบเดิมๆ ประเทศพัฒนาแล้วขนาดใหญ่มีความเสี่ยงระดับนี้ เช่น อังกฤษ 1.6% (85.7% และ 1.87%) ญี่ปุ่น 1.7% (212% และ 0.81% ) อเมริกา 1.85% (103% และ 1.80%) และ ประเทศไทยค่าดัชนียืนที่ 1.6% (41.7% และ 3.85% ตามลำดับ)
ความเสี่ยงระดับ 3 (ค่าดัชนีอยู่ระหว่าง 3-5%) หมายถึง ความเสี่ยงทางการคลังอยู่ในระดับสูง ต้องรีบนำ "การคลังไท้เก๊ก" เพื่อรัดเข็มขัดพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจโดยด่วน เช่น ประเทศสเปนมีค่าดัชนีนี้ที่ 4.0% (68.5% และ 5.84% )
ความเสี่ยงระดับ 4 (ดัชนีอยู่ระหว่าง 5-10% )หมายถึง ความเสี่ยงทางการคลังอยู่ในระดับสูงมากๆ ต้องรีบนำ "การคลังไท้เก๊ก" เพื่อรัดเข็มขัดพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจโดยด่วนที่สุด รอช้าไม่ได้เลย เช่น ประเทศอิตาลียืนที่ 6.0% (120% และ 5.0%) ไอร์แลนด์ 8.4% (108% และ 7.7%) และ โปรตุเกส 9.3% (108% และ 8.65%)
ความเสี่ยงระดับ 5 (ดัชนียืนสูงกว่า 10% ) หมายถึง ความเสี่ยงทางการคลังอยู่ในระดับวิกฤติที่สุด ประเทศเข้าข่าย "ล้มละลายทางการคลัง" จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากภายนอกและปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐ เช่น กรีซมีค่าดัชนีสูงถึง 34.2% (165% และ 20.7% ตามลำดับ) จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าประเทศนี้จึงเข้าขั้น “ล้มละลาย” ไปแล้ว โดยที่แม้รัฐบาลพยายามจะลดการขาดดุลการคลังลง ตามแผนก็คือการลดได้จาก 12.7% GDP เหลือ 8.7% GDP ซึ่งก็ยังเป็นระดับสูงอยู่ดี และ GDP ยังมีแนวโน้มจะลดลงจากมาตรการรัดเข็มขัดการคลัง จึงพบกับการประท้วงไปทั่วประเทศ
ดัชนีนี้สำหรับประเทศ อังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วขนาดใหญ่นั้น ก็อยู่ในระดับต่ำกว่า “3” ซึ่งเป็นความเสี่ยงระดับ 2 แม้จะยังไม่เข้าขั้นวิกฤติ ควรมีการศึกษาเรื่องของ "การคลังไท้เก๊ก” ซึ่งผนวกเอาเคล็ดวิชาของ "มวยไท้เก๊ก" คือ "ยืมแรงสะท้อนแรง" และ "ในนิ่งมีเคลื่อน" มารวมเข้ากับทฤษฎีการคลังเดิมๆ ไม่เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนกรอบแนวคิด (paradigm shift) ทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น แต่นี่อาจเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์สำหรับประเทศ PIIGS ที่จำเป็นต้องรัดเข็มขัดการคลัง แต่ก็ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กันด้วย
โดยหากเป็นกรอบแนวคิดของสำนักเคนส์ การรัดเข็มขัดการคลังจะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงมาก (เพราะค่าตัวทวีสูงกว่า 1) และ หากเป็นกรอบแนวคิดของสำนักการเงินนิยม นั่นจะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงเล็กน้อย (เพราะค่าตัวทวีอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1) แต่ในกรอบแนวคิดของ "การคลังไท้เก๊ก" นั้น รัฐบาลจะสามารถรัดเข็มขัดการคลังในโครงการที่ตัวทวีติดลบ รวมถึงการยืมพลังจากกองทุนบำนาญ จึงสามารถทำเรื่องยากๆ นี้โดยเศรษฐกิจไม่แย่ลงแต่กลับดีขึ้นได้
หากท่านผู้นำประเทศ PIIGS ได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้ก็น่าจะดีใจเป็นอันมาก สามารถนำไปบอกประชาชนได้เลยว่า "เราได้พบทฤษฎีใหม่แล้วที่สามารถรัดเข็มขัดการคลัง พร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วยกันได้ ประชาชนจะมีว่างงานลดลงและมีรายได้สูงขึ้น" เท่านี้ก็จะลดแรงต้านลดการประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดการคลังไปได้มาก
ปัจจุบันจะพบว่าตัวแปรทั้ง 3 ตัว คือ ตัวเลขหนี้สาธารณะนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นอาจสูงขึ้นไปอีกจากการขาดดุลการคลังในระดับสูงต่อไป สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว ตัว GDP นั้นมีแนวโน้มยืนๆ หรืออาจลดลงได้หากประเมินว่ามีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอยและ การรัดเข็มขัดการคลัง รวมถึงตัวแปรผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีนั้นก็อาจสูงขึ้นได้จากความเสี่ยงทางการคลังที่เพิ่มสูงขึ้นและการไหลออกของเงินทุน คล้ายกรณีของประเทศ PIIGS ดังนั้นจะพบว่าทั้งโลก พบกับแรงกดดันจากตัวแปรทั้ง 3 ที่อาจทำให้ “ดัชนีเรืองศิริกูลชัย” เพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับอันตรายได้ในอนาคต
สำหรับประเทศไทยของเรา หากดูจากค่าดัชนีนี้จะพบว่าความเสี่ยงอยู่ระดับใกล้เคียงกับ อังกฤษ ญี่ปุ่นและอเมริกาเลยทีเดียว เพราะ อัตราดอกเบี้ยของไทยสูงกว่าเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วขนาดใหญ่ ยิ่งมีแผนจะก่อหนี้ภาครัฐสูงถึง 2 ล้านล้านบาทก็ยิ่งน่ากังวล แม้ความเสี่ยงของไทยยังห่างชั้นกับประเทศ PIIGS อยู่มาก แต่ก็อยู่ระดับเดียวกับญี่ปุ่น หากใช้ค่า "ดัชนีเรืองศิริกูลชัย" เป็นตัววัด
ดังนั้น สิ่งที่ไทยควรทำก็คือ แทนที่จะเดินหน้าทำ "สมดุลการคลัง" ให้รายรับและรายจ่ายของรัฐบาลสมดุลนั้น คงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะทำได้ หรือหากจะทำจริงๆ น่าจะส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจได้ไม่น้อย ควรมุ่งสู่ "สมดุลการคลังไท้เก๊ก" คือ การทำให้ "ดัชนีเรืองศิริกูลชัย" อยู่ในระดับทรงตัวนั่นเอง หมายถึง หากจะสร้างหนี้ภาครัฐเพิ่ม ก็ต้องมี GDP เติบโตเพิ่มตามในสัดส่วนเดียวกัน หากประเมินว่า GDP จะเติบโต 5% เงินเฟ้อ 3% ต่อปี การที่รัฐบาลทำขาดดุลการคลังราว 4 แสนล้านบาทต่อปี (เพิ่มหนี้ภาครัฐราว 8% ต่อปี) ก็น่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมเพราะจะทำให้หนี้ภาครัฐ ต่อ GDP อยู่ในระดับทรงตัว และ ดูแลให้หนี้ภาครัฐพึ่งพิงเงินออมในประเทศเป็นหลัก เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาเงินทุนไหลออกจนอัตราดอกเบี้ยระยะยาวพุ่งสูงแบบประเทศ PIIGS
เชื่อได้ว่า วิกฤติการคลัง จะเริ่มรุนแรงมากขึ้นภายใน 2-3 ปีนี้ โดยเริ่มมาจากประเทศเขตยูโรโซนที่อ่อนแอก่อน จากนั้นก็จะเริ่มขยายวงกว้างออกไป ในเขตยุโรปทั้งหมด รวมไปถึงอเมริกา และญี่ปุ่น กรอบแนวคิดใหม่ที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมๆ ไปกับแก้ไขวิกฤติการคลังด้วยนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้นี้ และ “การคลังไท้เก๊ก” (Taiji Fiscal Theory) อาจเป็นคำตอบนั้นครับ
ข้อมูล : www.tradingeconomics.com และ www.bloomberg.com วันที่ 19 กันยายน 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น