วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

เลิกทาสอีกครั้งเถอะ...ประเทศไทย

เลิกทาสอีกครั้งเถอะ..ประเทศไทย

ประเทศไทยได้มีเลิกทาสมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยตอนนั้นมีทาสถึง 1 ใน 3 ของประชากร โดยลูกทาสในเรือนเบี้ย ยังคงเป็นทาสต่อเนื่องกันเรื่อยมา และ พระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่งนี้เอง พระองค์ท่านทรงได้รับพระสมัญญาว่า “พระปิยมหาราช”

อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และ การเมืองอย่างเห็นได้ชัด มีประชากรที่แบ่งเป็นกลุ่มชนชั้นสูง และ ชนชั้นล่าง อย่างเห็นได้ชัด ลองมาดูในรายละเอียด

ทาสทางเศรษฐกิจ : ประชาชนไทยจำนวนมากที่ต้องติดหนี้สินนอกระบบ ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึงกว่า 10% ต่อเดือน หากติดหนี้ราว 3 หมื่นบาท ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยถึง 3 พันบาทต่อเดือน โดยเขาอาจมีรายได้ต่อเดือนเพียง 6 พันบาทต่อเดือน จึงเหลือเงินติดกระเป๋าเพียง 3 บาทเท่านั้นเพื่อกินอยู่ นั่นหมายถึง รายได้ราวครึ่งหนึ่งต้องจ่ายให้กับ “นายทุนเงินกู้” เหลือรายได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่ใช้เพื่อยังชีพ และ หนี้สินก็ยังมีอยู่ต่อไป ไม่สามารถจะลดเงินต้นลงได้เลย เพราะ ลำพังแค่การจ่ายดอกเบี้ยอย่างเดียวก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว ประชาชนกลุ่นนี้จึงดูเหมือนเป็นทาสทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมนั่นเอง แทบไม่มีโอกาสเป็นไทแก่ตัวได้เลย

วิธีเลิกทาสเศรษฐกิจก็คือ ต้องยอมให้ผู้ทำงานในระบบทั้งประกันสังคม และ ข้าราชการนั้น สามารถยืมเงินตนเองออกมาเพื่อรีไฟแนนซ์สินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยโหดได้ โดยให้ สปส. และ กบข. ทำการค้ำประกันเงินกู้ให้ 9 ส่วน และ ดอกเบี้ย 9% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 9 ปี ผมเรียกว่า “สินเชื่อ99” คาดว่าจะมีเงินไหลเข้าระบบได้สูงถึง 9 แสนล้านบาท ใหญ่กว่า กองทุนหมู่บ้านสมัยรัฐบาลทักษิณ 11 เท่าตัว และ ใหญ่กว่าโครงการเช็คช่วยชาติถึง 45 เท่าตัว

วิธีนี้จะทำให้คนไทยเป็น “ไท” แก่ตัว ถึงแม้ว่าจะเป็นสินเชื่อแต่ก็เป็นสินเชื่อที่อิงอยู่กับเงินออมของแต่ละบุคคล การผ่อนรายงวดอาจลดจากระดับ 5-10% ของเงินกู้ เหลือเพียง 1.3% เท่านั้น ทำให้ลดภาระการผ่อนต่อเดือนลงไปได้อย่างมาก ทำให้เหลือเงินติดกระเป๋าเพื่อจับจ่ายใช้สอยได้มากยิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น สำหรับคนที่มีเงินเหลือ ยังสามารถนำไปปล่อยกู้ให้กับญาติสนิทมิตรสหาย เพื่อทำกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ยได้อีกด้วย กู้เงินออมตนเองมา 9% ต่อปี แต่ปล่อยกู้ไป 2% ต่อเดือน ก็อาจได้ส่วนต่างดอกเบี้ยถึง 15% ต่อปี ของยอดเงินปล่อยกู้ นี่เป็นการยกระดับจาก “ชนชั้นกรรมาชีพ” สู่ “ชนชั้นนายทุน” ได้ภายในเวลาไม่กี่วันเท่านั้น แทนที่จะจะต้องใช้เวลาหลายสิบปี

ทาสทางการเมือง : ประชาชนเกือบทั้งประเทศที่มีอายุถึงเกณฑ์มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี มีประชากรเพียงหยิบมือเท่านั้นที่สามารถสมัครชิง สส. ได้ เนื่องด้วยข้อจำกัดทางการศึกษา และ เงินทุน .... ชาวไร่ชาวนา เลือก ตัวแทน ได้มาแต่นายทุน ประชาชนยังคงเป็นทาสของ นายทุนการเมือง และ เสนาอำมาตย์ต่อไป

นายทุนใหญ่ อุปถัมภ์ นายทุนเล็ก เพื่อให้เป็น สส. ส่วนตัวเองก็อาจได้ถึงระดับรัฐมนตรี เพราะ มี สส.ในสังกัดอยู่หลายคน ส่วนนายทุนเบิ้มก็อาจได้เป็นถึงนายกฯ เรื่องแบบนี้เราเคยได้เห็นกันมาแล้ว ระบบแบบนี้ คือ “ธนาธิปไตย” การใช้ “เงิน” เป็นหลัก เพราะ การเลือกตั้งในปัจจุบันต้องใช้เงินทุนทั้งถูกและผิดกฎหมายจำนวนมากมาย หลีกไม่พ้นที่นายทุนนักการเมือง จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในในการเลือกตั้งทุกครั้ง

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐมนตรีหลายๆ คน ก็สามารถทำการทุจริตคอรัปชั่น โดยที่ประชาชนไม่สามารถจะโต้แย้งอะไรได้เลย เพราะ ใครกันละครับจะโกงแบบมีใบเสร็จให้เห็นๆ กันได้ชัดเจน และยามเมื่อทหารต้องการผลประโยชน์บ้าง ก็พร้อมฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเสีย โดยที่ประชาชนไม่มีโอกาสโต้แย้งอะไรได้เลยเช่นกัน นี่คือ ระบบ “อมาตยาธิปไตย” หรือการใช้ “เส้น” เป็นหลัก

ประชาชนจึงตกอยู่ท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่าง “เงิน” กับ “เส้น” โดยไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรเลย คนธรรมดาไม่สามารถเป็น สส.ได้ ด้วยข้อจำกัดทั้งการศึกษา และ เงินทุน จะมีก็แต่นายทุน หรือ นอมินีของนายทุนเท่านั้น จึงจะเข้ามาในระบบแบบนี้ได้ การไม่มีโอกาสเข้าไปเป็นตัวแทนทางการเมืองของชุมชนนี่แหละ คือ “ทาสทางการเมือง” นั่นเอง

วิธีเลิกทาส คือ การใช้ระบบตัวแทนหมู่บ้าน ที่เป็นคนดี พร้อมทำงานเพื่อส่วนรวม โดยให้หมู่บ้าน 7.6 หมื่นแห่งเลือกตัวแทนของตนเองออกมา แล้วจับสลากให้สวรรค์เป็นคนกำหนดอีกทีว่าใครจะได้เป็น สส. โดยระบบนี้จะมาทดแทนสส.ระบบเขต ส่วนระบบสัดส่วนยังคงไว้ตามเดิม

ด้วยวิธีนี้ การใช้เงินเพื่อจูงใจในการซื้อสิทธิขายเสียง แทบจะไม่มี เพราะ แม้จะได้เป็นตัวแทนหมู่บ้านก็มีโอกาสเพียง 1 ในพัน เท่านั้น ที่จะได้เป็น สส.จริง เราจะได้คนที่เป็นตัวแทนของชาวบ้านจริงๆ ไม่ใช่เลือกกี่ครั้งได้แต่นายทุนนักการเมืองมาตลอด

เมื่อมีการเลิกทาสทั้ง 2 กรณีนี้ ประเทศไทยจะน่าอยู่ขึ้นอีกมาก และ ความแตกแยกอาจลดลงมากเลยก็ได้ในสังคมไทยนี้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น