วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553

เลิกรับจำนำ เลิกประกันรายได้ ไต่สู่ทางเลือกใหม่

รัฐบาลได้พยายามชี้แจงให้เห็นว่าระบบการประกันรายได้เกษตรกรนั้น ได้ประโยชน์ต่อคนถึง 3 ล้านครัวเรือน โดยใช้งบประมาณน้อยลงเหลือเพียง 3 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับระบบรับจำนำข้าว ซึ่งมีประโยชน์ต่อชาวนาเพียง 3 แสนครอบครัว แต่ต้องใช้เงินงบประมาณถึง 7 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 วิธีนี้ก็ไม่ได้สร้างความพอใจกับชาวนามากนัก ยังมีการเรียกร้องเพื่อให้ช่วยเหลือมากไปกว่านี้อีก เพราะเงินชดเชยที่ได้มันน้อยนิดเหลือเกิน แถมไม่รู้ว่าไปเข้ากระเป๋าใครเสียอีก
มันจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับสูงอย่างยั่งยืน โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเลยแม้แต่น้อย..... ทางเลือกใหม่นั้นมีหรือไม่ ดูเหมือนเรื่องนี้จะเป็นไปไม่ได้ แต่ “เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก” (Taiji-Econ.) อาจมีคำตอบสำหรับเรื่องที่ยากลำบากอย่างยิ่งนี้

รัฐบาลต้องมีการจัดตั้ง “กองทุนรวมสินค้าเกษตรไทย” หรือ Thai-Agri Fund ซึ่งเป็นการรวมแบบถ่วงน้ำหนักของสินค้าเกษตรประเภทต่างๆ เข้าไปเป็นกองทุนรวม เพื่อแปลงสภาพจาก “สินค้า” ให้เป็น “สินทรัพย์” ในลักษณะนี้ ข้าว ยาง กุ้ง มัน ข้าวโพด ฯลฯ จะถูกเปลี่ยนสภาพจาก “สินค้า” เพื่อการบริโภค กลายเป็น “สินทรัพย์” เพื่อการรักษาความมั่งคั่งและเพื่อการลงทุน มีสภาพคล้ายกับ “น้ำมัน” และ “ทองคำ” ซึ่งมีราคาที่สูงขึ้นมากในปัจจุบัน ก็เพราะ มีการลงทุนในตลาดล่วงหน้า และ มีการลงทุนในกองทุนรวมน้ำมัน แล กองทุนรวมทองคำ อยู่ทั่วโลกในปริมาณมากมายนั่นเอง หากกองทุนบำนาญทั่วโลกมีความสนใจลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารก็จะเพิ่มดีมานด์ให้กับสินค้าเกษตรไทยอย่างมากมาย

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลยังต้องกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง คือ ให้กองทุนบำนาญไทย ซึ่งรวมเงินกองทุนประกันสังคม (สปส.) กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสล.) และ ประกันชีวิต ซึ่งจะมียอดสินทรัพย์รวมกันถึง 3 ล้านล้านบาท ณ ปลายปีนี้นั้น “ต้อง” ลงทุนใน กองทุนรวมสินค้าเกษตรไทย หรือ สัญญาซื้อล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) ตั้งแต่ 2.5% ขึ้นไป ณ กลางปีนี้ และ 5% ณ ปลายปีนี้ เรื่องง่าย ๆเท่านี้ก็เหมือนกับการเพิ่มกำลังซื้อถึง 1.5 แสนล้านบาท ที่จะเข้าทยอยซื้อสินค้าเกษตรไทย เป็นสต๊อกอย่างยั่งยืน โดยอนาคตขนาดของกองทุนบำนาญจะใหญ่ขึ้นราวปีละ 4 แสนล้านบาท นั่นหมายถึง สินค้าเกษตรจะถูกเก็บเป็นสต๊อกเพิ่มขึ้นอีกปีละ 2 หมื่นล้านบาทอย่างต่อเนื่องยาวนาน ราคาข้าวจะไม่ถูกกดราคาออกมาเพียงแค่มีข่าวลือว่ารัฐบาลจะระบายสต๊อก 5 แสนตันหรือ 2 ล้านตัน

หากครึ่งหนึ่งของเงินนั้นลงทุนใน “ข้าว” ก็เป็นเงินถึง 7.5 หมื่นล้าน หรืออาจตกราว 7.5 ล้านตัน (ตันละ 1 หมื่นบาท) ซึ่งเป็นปริมาณที่มหาศาลและจะสนับสนุนราคาข้าวได้เป็นอย่างดี โดยกระบวนการทั้งหมดนี้ จากราคาที่สูงขึ้นในตลาดล่วงหน้า ก็จะสะท้อนมาที่ราคาตลาดปัจจุบันให้สูงขึ้นเอง โดยพ่อค้าจะเป็นคนเก็บ สต๊อกเหล่านี้แทนรัฐบาล เรื่องราวทั้งหมดนี้ รัฐบาลไม่ต้องเสียเงินงบประมาณใดๆ เลย ขณะที่เชื่อได้ว่า ราคาข้าวจะมีราคาที่สูงกว่าตลาด ณ ปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 20-30% ได้สบายๆ

สินทรัพย์ของ “เกษตรกร” ก็คือ ผลผลิตทางการเกษตร ซึ่ง สปส. และ กบข. รวมไปถึง เงินออมประกันชีวิต ต้องพยายามช่วยกันสนับสนุนราคาให้อยู่ในระดับที่สูงพอ เกษตรกร ก็คือ พ่อแม่พี่น้อง ของผู้ประกันตน เรื่องนี้จะส่งผลดีทั้งในด้านของการเมือง สังคม และ เศรษฐกิจในทุกด้าน อย่างไรก็ดี ตัวเลขสัดส่วนการลงทุนของเงินกองทุนบำนาญนี้ รัฐบาลอาจปรับให้สูงขึ้นเป็น 7.5% หรือ 10% ก็ได้ หากเห็นว่าราคายังสูงขึ้นไม่เป็นที่พอใจ หรืออาจปรับลดเหลือไม่เกิน 3% ก็ได้ หากเห็นว่าราคาสินค้าเกษตรไทยเริ่มสูงเกินไปจนเป็นภาระหนักให้ชนชั้นแรงงาน นี่จึงเป็นเครื่องมือกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งอีกชิ้นหนึ่งของรัฐบาล เพื่อช่วยดูแลราคาข้าวไทยให้อยู่ในระดับที่ประชาชนส่วนใหญ่พึงพอใจ

มองในด้านของกองทุนบำนาญ ที่อาจกังวลเรื่องของความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่กองทุนเหล่านี้ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนชนะอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี สินค้าเกษตรก็เป็นสัดส่วนที่สูงราว 40% ในการคำนวณอัตราเงินเฟ้ออยู่แล้ว ดังนั้น มันก็สะท้อนผลตอบแทนอยู่ในตัวเอง นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของกองทุนบำนาญเพื่อเพิ่มราคาสินค้าเกษตรในระดับที่น่าพอใจได้อีกด้วย ดังนั้นโอกาสขาดทุนจึงแทบไม่มี

วิธีนี้อาจดีกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนเพียง 1% ต่อปีเสียอีก หากเกิดการขาดทุนขึ้นจริง รัฐบาลก็อาจชดเชยส่วนขาดทุนให้บ้าง แต่ก็คงอยู่ในระดับไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยเกษตรกรทั้งประเทศได้ประโยชน์ ขณะที่ปัจจุบันต้องใช้เงินถึง 4 หมื่นล้านบาท เพื่อชดเชยเงินให้กับเจ้าของที่ดิน ซึ่งอาจไม่ใช่เกษตรกรจริง เพราะ ชาวนาราว 80% นั้นได้สูญเสียที่ดินไปแล้ว และทำนาโดยเช่านาจากเจ้าที่ดิน การประกันรายได้ ณ ปัจจุบันจึงเป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า เงินเข้ากระเป๋าเกษตรกรรายย่อย หรือ เข้ากระเป๋าของเจ้าที่ดินกันแน่

เพียงแค่ 2 ใน 18 กระบวนท่า เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) ก็สามารถช่วยเกษตรกรได้ทั้งประเทศ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเลยแม้แต่บาทเดียว ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นในระดับที่น่าพอใจอย่างยั่งยืนเสียด้วย จะไม่มีม็อบเกษตรกรอีกแล้ว เกษตรกรไทยอยู่ดีกินดีกันถ้วนหน้า หากประเทศไทยเริ่มต้นทำเรื่องแบบนี้ ก็เป็นไปได้ว่าอีกหลายประเทศเพื่อนบ้านที่มีผลผลิตด้านการเกษตรเหลือส่งออกก็คงนำมาใช้ตามไปด้วย จะยิ่งส่งผลดีเป็นทวีคุณขึ้นไปอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น