วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

3 ปัญหาเศรษฐกิจ 3 วลีฮอต และ 3 ยอดคน

3 ปัญหาเศรษฐกิจ 3 วลีฮอต และ 3 ยอดคน

ปัญหาเศรษฐกิจทั้ง 3 นั้น มี 1 ประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากตอนนี้ก็คือ เรื่องของค่าเงินบาทแข็ง เราควรจัดการแก้ไขอย่างไรในแนวทางของเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) มาดูกันทีละเรื่องได้เลย

1.ปัญหาวิกฤติการคลัง : เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาหนักสำหรับประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมาก แต่สำหรับไทยเรายังคงพอรับมือได้ “รัดเข็มขัดการคลังอย่างไรให้เศรษฐกิจดีขึ้น” เป็นบทความนี้ผมได้นำเสนอไปแล้ว โดยเน้นที่ประเด็นการยืมพลังจากแหล่งต่างๆ ทั้ง กองทุนบำนาญ ตลาดสินทรัพย์ คนต่างด้าวเกษียณ มาเพื่อช่วยรัฐบาลในการสร้างอุปสงค์รวมให้สูงขึ้น แทนการใช้งบประมาณตรงๆ

2.ปัญหาเงินบาทแข็ง..... เรื่องนี้น่าสนใจทีเดียว หากเป็นปัจจุบันก็คือใช้พลังของ ธปท.ล้วนๆ ด้วยการดูแลอัตราดอกเบี้ยไม่ให้เกิดส่วนต่างกับอเมริกามากเกินไป และ เข้าแทรกแซงด้วยการซื้อดอลลาร์และดูดซับสภาพคล่องด้วยการออกพันธบัตร ธปท. และ กู้เงินจากแบงก์พาณิชย์เป็นบาท ซึ่งดร.โกร่งได้เสนอไว้นั้น แนวคิดแรก็สมควรทำอยู่นะครับ แต่แนวคิดหลังนั้นทำไม ธปท.ไม่ยิ้มรับ คำตอบนั้นง่ายๆ ก็คือ ธปท.เคยสู้มาแล้ว เคยแพ้มาแล้ว เคยเจ็บมาแล้ว ขาดทุนแล้วหลายแสนล้านบาท นี่คือ แนวคิดแบบ “มวยเส้าหลิน” คือ สู้กันตรงๆ วัดที่ความแข็งแกร่ง และ ธปท.ก็รู้ว่าเอาชนะสารพัดกองทุนระดับโลกไม่ได้ สู้แพ้มาตลอด สินทรัพย์เป็นเงินต่างประเทศก็ด้อยค่าลง หนี้สินที่เป็นเงินบาทกลับแข็งค่า มีหนี้สินกับแบงก์พาณิชย์นั้นสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท เฉพาะดอกเบี้ยธปท.ก็ต้องจ่ายเป็นเงินถึงปีละ 5 หมื่นล้าน สูงกว่าดอกเบี้ยรับอย่างต่อเนื่อง และ ส่วนทุนของแบงก์ชาติก็ติดลบไปเสียแล้ว ถ้าเป็นบริษัทก็เรียกได้ว่า เกือบๆ ล้มละลาย ถ้าเป็นคนก็เข้าขั้นบาดเจ็บสาหัสอาการปางตาย ดังนั้น การต่อสู้ในสมรภูมิเงินบาทครั้งนี้ ไม่เพียงช่วยผู้ส่งออก และ เกษตรกรเท่านั้น ยังช่วยชีวิต ธปท.ไว้ด้วย หากเงินบาทอ่อนลง 3% ก็จะทำให้ส่วนทุนของ ธปท.สูงขึ้นถึง 1 แสนล้านบาท และแนวคิดแบบไท้เก๊กอาจจะช่วยเรื่องนี้ได้

ด้วยหลักการของเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก ก็คือ การยืมพลังสะท้อนพลัง ในเมื่อกองทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาซื้อตราสารหนี้โดยเฉพาะของภาครัฐเป็นจำนวนมาก ธปท.ควรจะยืมพลังจากภาครัฐบาล ภาคเอกชน กองทุนบำนาญ และ แบงก์พาณิชย์ รวม 5 นิ้วเป็น 1 ฝ่ามือเพื่อสะท้อนพลังกองทุนต่างชาติกลับไป เมื่อดู 5 มาตรการที่ประกาศออกมานั้น คือ ยืมพลังภาคเอกชนแบบขอร้องให้ช่วยๆ ธปท.หน่อย แต่ดูเหมือนว่าไม่น่าจะได้ผลดีนัก ธปท.ควรต้องยืมพลังของอีก 3 ฝ่ายมาให้ได้

1. ให้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ คืนเงินกู้ต่างประทศ หรือ ป้องกันความเสี่ยง อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของหนี้สินต่างประเทศทั้งหมดก่อนสิ้นปี 54 เงิน 2 แสนล้านก็พร้อมไหลออกมาสู้

2. ให้กำหนดสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศของกองทุนบำนาญไปเลย ว่าต้องไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับนานาชาติ ก่อนสิ้นปี 54 และ ต้องไม่มีการเฮดจ์ใดๆ ทั้งสิ้น จะทำให้เงินราว 3 แสนล้านบาทพร้อมไหลออกมาสู้

3. ยืมพลังแบงก์พาณิชย์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของ ธปท.มาช่วย โดยกำหนดให้ต้องลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศโดยไม่มีการเฮดจ์ เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 5% ของสินทรัพย์รวม ดังนั้น เราจะได้เงินไหลออกอีก 5 แสนล้านก่อนสิ้นปีหน้า

ด้วยหลักการยืมพลังแบบไท้เก๊กเช่นนี้เอง กำหนดให้ก่อนสิ้นปีนี้ดำเนินมาตรการไปอย่างน้อยครึ่งทาง ก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณไปยังนักเก็งกำไรว่า เงินบาทไม่จำเป็นต้องมีแนวโน้มแข็งค่าอยู่ทางเดียว อาจจะอ่อนค่าลงก็ได้ เพราะ มีเงินไหลออกแน่นอน 5 แสนล้านก่อนสิ้นปีนี้ และ 1 ล้านล้านบาทก่อนสิ้นปีหน้า ซึ่งก็เป็นเงินที่มากพอจะทำให้นักเก็งกำไรต้องหยุดคิดหลายตลบอยู่เหมือนกัน

3.ปัญหากองทุนประกันสังคมมีเงินทุนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วจะมีปัญหาแน่ในอีก 10 ปี ขณะที่ไทยคงมีปัญหาอีก 30 ปีข้างหน้า ก็อาจใช้แนวคิดที่ “สุดขั้ว” ไปบ้าง แต่ความจริงแล้ว “สุดขั้ว” ก็คือ คำแปลของ “ไท้เก๊ก” (Taiji) เป็นภาษาไทยนั่นเอง จากมีแนวคิดปัจจุบันที่เสนอให้เพิ่มอัตราเงินสมทบ ลดเงินบำนาญจ่าย หรือ ยืดอายุการเกษียณออกไปนั้น ผู้ประกันตนจะไม่พอใจได้......ทางแก้ไขก็คือ แนวคิดให้กองทุนประกันสังคมยืมเงินจากแบงก์รัฐ สร้างหนี้สินต่อทุนได้ไม่เกิน 1 เท่า จากสภาพ “เจ้าหนี้” ณ ตอนนี้ก็ยอมให้เป็น “ลูกหนี้” ได้ สปส.อาจกู้เงินได้ถึง 7 แสนล้าน ด้วยวิธีเช่นนี้จะเป็นการเพิ่ม flow ให้เกิดขึ้น เพื่อมาจ่ายเงินบำนาญให้ผู้เกษียณอายุได้โดยที่เงินทุนยังเพียงพอ นอกจากนี้ยังนำเงินไปเพิ่มสินทรัพย์ เพิ่มผลตอบแทนได้อีกด้วย แม้ในช่วงแรกภาระในการจ่ายเงินบำนาญจะสูงขึ้น แต่ในที่สุดแล้วโครงสร้างประชากรจะทรงตัว และ ภาระเงินบำนาญจะลดลงในที่สุด ดังนั้น สปส.น่าจะสามารถคืนเงินกู้ได้อย่างไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ผมขอยอมรับว่าทึ่งในความลึกล้ำเคล็ดไท้เก๊กมากๆ เพราะแนวคิดแก้ปัญหาข้อ 2-3 นั้นซึ่งติดค้างอยู่หลายปีนั้น ได้มาจากเคล็ดวิชาไท้เก๊กในภาพยนตร์จีน 18 ปีก่อน “มังกรไท้เก๊ก” (Tai Chi Master) ที่มีโอกาสมาดูอีกครั้ง จางซันฟง (แสดงโดย Jet Li) ปรมาจารย์ไท้เก๊ก ได้พูดกับตัวเองว่า “รักษาสมดุล” “ยืมแรงผลักดัน” และ “นิ่งคือขยับ ขยับคือนิ่ง” นี่แหละคือ 3 วลีสำคัญยิ่ง ท่านผู้อ่านลองไปดูผ่าน youtube แล้วอาจค้นพบสิ่งดีๆ และพูดแบบพระเอกในเรื่องก็ได้ว่า “รู้สึกว่าข้าคิดอะไรขึ้นมาได้นะ...” และ “อะไร” นั่นก็คือ “มวยไท้เก๊ก” อันโด่งดังที่คิดขึ้นมาได้เพื่อโค่นศัตรู ซึ่งเป็นอดีตเพื่อนซี้ที่ถูกขับออกจากสำนักเส้าหลินด้วยกัน แต่ผู้ร้ายเห็นแก่ลาภยศจึงทรยศหักหลังเพื่อน ก่อนที่จะค้นพบมวยไท้เก๊ก จางซันฟงเคยใช้มวยเส้าหลินสู้...แต่ก็เอาชนะไม่ได้

หากแนวคิดเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) ถูกนำไปต่อยอดและนำไปใช้ปฏิบัติแก้ไขปัญหาได้ผลดีจริง บางทีพวกเราควรจะต้องคารวะขอบคุณ 3 ยอดคนนี้ ท่านแรกคือ เล่าจื๊อ ปรมาจารย์แห่งปรัชญาเต๋า ท่านที่ 2 คือ จางซันฟง ปรมาจาย์แห่งมวยไท้เก๊ก และ ท่านที่ 3 ก็คือ.... สุดยอดจอมยุทธนักแสดง... Jet Li ไงละครับ

วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

จุดอ่อนเศรษฐศาสตร์

จุดอ่อนเศรษฐศาสตร์ : ขาดเชื่อมโยง stock และ flow

จุดอ่อนของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกมีปัญหามาจนถึงปัจจุบันก็เพราะว่า เศรษฐศาสตร์นั้นเป็นวิชาที่เน้นหลักเฉพาะในเรื่องของ flow เท่านั้น คือ Y=C+I+G+(X-M) ซึ่งเป็นสมการของ GDP นั้น ตัวแปรแต่ละตัวล้วนเป็น flow ทั้งสิ้น และ การขาดการเชื่อมโยงนี้เองทำให้เป็นปัญหาได้

เช่น รัฐบาลยามใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ประชาชนบริโภคและลงทุนเพิ่มขึ้น (เพิ่ม C และ I) อย่างไรก็ดี บางครั้งก็อาจมองข้ามฟองสบู่ของราคาหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ (Stock) ไปได้หลายครั้ง เหมือนกรณีฟองสบู่อสังหาฯ และ หุ้นแตกในญี่ปุ่น และ อเมริกา

จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ อาจเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกๆ ที่ได้ทำการเชื่อมโยง stock เข้ากับ flow โดยเสนอให้รัฐบาลออกพันธบัตร (Stock) กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภาครัฐ (G) ไม่เพียงเท่านั้น นโยบายกึ่งการคลังที่เน้นพึ่งแบงก์รัฐ ก็เชื่อมโยงการเพิ่มสินเชื่อ (Stock) เพื่อให้เงินเหล่านั้นแปลงสภาพไปเป็นการใช้สอยของภาคเอกชน (C และ I)

นอกจากนั้นก็มีการพูดถึง wealth effect อยู่บ้าง โดยเชื่อมโยงราคาสินทรัพย์ (stock) ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง เชื่อมโยงกับการบริโภค (flow) ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี การเชื่อมโยงระหว่าง กองทุนบำนาญ กับ GDP ยังมีอยู่น้อยมาก เช่น การลดการสมทบเข้ากองทุนบำนาญ การให้กองทุนบำนาญจ่ายผลประโยชน์เร็วขึ้นมากขึ้น การให้สินเชื่อโดยอิงกับกองทุนบำนาญเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้น เป็นการยืมพลังของ Stock เพื่อไปเพิ่ม flow ของการบริโภคและลงทุน ยังมีการวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องแบบนี้อยู่น้อยมาก ไม่เพียงเท่านั้น การเชื่อมโยงระหว่าง stock ด้วยกันเอง ก็มักถูกมองข้าในศาสตร์นี้ด้วยเช่นกัน เช่น การที่พันธบัตรรัฐบาลเพิ่มมากนั้น มองมุมหนึ่งเกิดจากภาครัฐใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณ แต่มองอีกมุมหนึ่ง คือ สินทรัพย์ของกองทุนบำนาญนั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็ลงทุนในพันธบัตรภาครัฐ ... นั่นคือ สินทรัพย์ของภาคเอกชน เป็นตัวเพิ่มหนี้สินให้กับภาครัฐบาล และ เป็นตัวดูดทำให้กำลังซื้อ (flow) ของภาคเอกชนนั้นลดลง

ในด้านของปัจเจกบุคคล ความรวยความจน ประเมินจากรายได้ หรือ ความมั่งคั่งกันแน่ ตัวแรกคือ flow ส่วนตัวหลังคือ stock ยังมีความสับสนในเรื่องนี้อยู่มากว่า ประชาชนที่ติดหนี้สินอยู่มาก แต่มีรายได้อยู่ในเกณฑ์สูง เช่นนี้จะถือว่าร่ำรวยหรือยากจน ???

เมื่อเทียบกับศาสตร์ด้านการบัญชี จะมีการเชื่อมโยงของ 2 สิ่งนี้ได้ดีกว่า เช่น หากอยากจะกำไรเพิ่ม (flow) ก็ขายสินทรัพย์ (stock) ออกบางส่วนเป็นกำไรพิเศษ หรือ หาทางเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ (stock) เพื่อให้หนี้สินลดลง ก็จะได้กำไรพิเศษเพิ่มขึ้นมาได้

สำหรับการลงทุนหุ้นนั้น การอธิบายราคาหุ้น (stock) ก็ใช้ทางจากส่วนที่เป็น stock ในลักษณะของ Book Value (BV) และ Net Asset Value (NAV) มาอธิบายราคาหุ้นได้ ในเวลาเดียวกันก็ใช้ส่วนที่เป็น flow เช่น กำไรต่อหุ้น การเติบโตของยอดขายและกำไร มาช่วยอธิบายด้วยเช่นกัน

เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) ถูกคิดขึ้น เพื่อปิดจุดอ่อนของเศรษฐศาสตร์ในส่วนนี้ จะมีการยืมพลังของ stock มาช่วย flow เพื่อพลังให้กับ GDP ได้หลายร้อยเท่าตัว เช่น หากเก็บเงินฝากไว้ในแบงก์ดอกเบี้ย 1%จะได้ GDP 1 บาทจากเงิน 100 บาท แต่หากนำเงินนั้นมาใช้จ่ายหมุนได้ 3 รอบ ก็อาจสร้าง GDP ได้ถึง 300 บาท จะเห็นว่าแตกต่างกันถึง 300 เท่าตัว เมื่อ GDP เพิ่มประชาชนรายได้สูงขึ้น เริ่มเก็บออมได้มากขึ้น ก็ค่อยนำเงินนั้นกลับเป็น stock เพื่อสะสมเพิ่มได้อีก

ประเทศพัฒนาแล้ว กำลังติดกับดักเคนส์ จนหนี้สาธารณะท่วมหัว ไม่สามารถใช้นโยบายการคลังไปเรื่อยๆ ได้นานนัก จำเป็นต้องหาวิธีการใหม่ ด้วยการยืมพลัง stock มาช่วย flow ก็จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ครับ

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

โครงการเศรษฐีไทยผู้ใจบุญ

โครงการเศรษฐีไทยผู้ใจบุญ และ คนไทยใจอาทร

หลังจากได้อ่านข่าวเรื่องของมหาเศรษฐีโลก นำโดยวอเรน บัฟเฟต์จะพยายามระดมทุนจากมหาเศรษฐี 40 คนเพื่อบริจาคให้กับสาธารณกุศลเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ ยังมีข่าวของการยึดทรัพย์อดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นเงินถึง 4.9 หมื่นล้าน ทำให้รายรับการคลังของไทยดีกว่าคาดไปมาก รวมไปถึงข่าวการประกาศชื่อของมหาเศรษฐีไทย 40 อันดับแรกโดยฟอร์บส์อีกด้วย ทำให้เกิดความคิดหนึ่ง

มันเป็นไปได้ไหมที่ประเทศไทยจะจัดโครงการที่ทำให้โลกต้องสนใจตื่นเต้นบ้าง เป็นโครงการที่แสดงความเอื้ออาทรต่อกันของคนไทยด้วยกัน และแสดงถึงความเป็นห่วงต่อลูกหลานในอนาคตอีกด้วย

1. “เศรษฐีไทยผู้ใจบุญ” ด้วยการชักชวนให้คนระดับเศรษฐีของไทยบริจาคเงินไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท รัฐบาลจะจัดทำเหรียญทองคำสลักชื่อให้ พร้อมกับมอบสิทธิประโยชน์ของภาครัฐเล็กๆ น้อยๆ ด้วยบัตร VIP ไม่ต้องรอคิวเมื่อไปทำธุระที่สถานที่ราชการ สามารถพักห้องพิเศษเมื่อรักษาในโรงพยาบาลของรัฐได้ฟรี รวมไปถึงการได้อัพเกรดตั๋วโดยสารการบินไทยฟรี เหล่านี้เป็นต้น เชื่อว่าอาจมีคนระดับเศรษฐีถึง 300 คนมาร่วมบริจาคได้เงินถึง 3 หมื่นล้านซึ่งก็อาจจะดูดีกว่า การยึดเงินจากคนเพียงหนึ่งคนที่เขาไม่ยินดีจะมอบให้แก่ประเทศไทย

2.”คนไทยใจอาทร” เป็นการมอบเหรียญเงินสลักชื่อให้กับคนไทยที่บริจาคเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป โดยสิทธิประโยชน์ก็อาจเหลือเพียงประกาศชื่อใน นสพ. พร้อมแจกบัตรเงิน VIP ไม่ต้องรอคิวในสถานที่ราชการเท่านั้น อาจระดมเงินได้จากโครงการนี้ราว 2.5 หมื่นล้าน

เมื่อรวม 2 โครงการนี้ก็อาจได้เงิน 5.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเทียบเคียงกับสวัสดิการรัฐ 3 เรื่อง ที่ให้เบี้ยยังชีพคนชรา เบี้ยยังชีพคนพิการ และ เรียนฟรี 15 ปี ซึ่งดูแลช่วยเหลือประชาชนรวมกันถึง 18 ล้านคน เทียบได้กับการเป็นมูลนิธิขนาดยักษ์ใหญ่บริหารโดยรัฐบาลได้เช่นกัน

หากมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย ท่านเจ้าสัวซีพี จับมือกับท่านรมว.คลัง ประกาศว่าจะเข้าร่วมโครงการ “เศรษฐีไทยผู้ใจบุญ” แน่นอน พร้อมสนับสนุนโครงการแบบนี้เต็มที่ ก็น่าจะสร้างความตื่นเต้นยินดีต่อโครงการนี้ของคนไทยดังไประดับโลกได้เป็นแน่แท้ อาจเห็นผลดีของโครงการได้ถึง 9 ประการดังนี้

1. เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ : คนรวยบริจาคเงินออกมาก็รวยน้อยลงนิด ให้คนจนรวยขึ้นหน่อย
2. เป็นการสร้างความสามัคคีและเอื้ออาทร : เกิดความรักสามัคคีในหมู่ประชาชนคนไทย
3. สร้างภาพพจน์ที่ดีของประเทศไทย : ให้ปรากฏต่อสายตาชาวโลก เพื่อแก้ไขภาพพจน์เสียๆที่ผ่านมา จะแสดงถึงว่าคนไทยนั้นรักสามัคคีกัน และมีความเอื้ออาทรต่อกันเพียงใด
4. ภาพพจน์ของนายทุนดีขึ้น : จากการเอาเปรียบพยายามสูบเอาแต่ผลประโยชน์จากสังคม ก็คืนกำไรส่วนนั้นกลับสู่สังคมไปบ้าง
5. โฆษณาบริษัทฟรีๆ : กิจกรรมแบบนี้เป็นกิจกรรมเพื่อสังคม CSR หากเจ้าสัวซีพี เข้าร่วมโครงการ ก็จะส่งผลดีต่อบริษัทในกลุ่มซีพีไปด้วยเช่นกัน ที่มีภาพพจน์การเอื้อเฟื้อต่อคนไทยด้วยกัน และโครงการแบบนี้รับนิติบุคคลด้วยเช่นกัน บริษัทขนาดยักษ์ใหญ่นอกจากเสียภาษีตามกฎหมายแล้ว ยังสามารถเข้าร่วมโครงการนี้เพื่อประชาสัมพันธ์บริษัทแบบ CSR เช่นนี้ได้ด้วย
6. ภาพพจน์ของนักการเมืองดีขึ้น : นักการเมืองที่เข้าร่วมโครงการ จะมีภาพพจน์ที่ดีขึ้น แทนที่จะเอาประโยชน์จากงบประมาณเท่านั้น โครงการเช่นนี้นักการเมืองยังมีโอกาสได้ใส่เงินคืนกลับรัฐบาล หาเสียงกันได้อย่างถูกกฎหมาย และ ดูดีมากๆ ในสายตาประชาชน ท่านรมว.คลังกรณ์ แทนที่จะมีฉายา “นักสู้กู้สิบทิศ” ก็อาจกลายเป็น “ขุนคลังไทยผู้ใจบุญ” แทนก็ได้
7. ประสิทธิภาพการบริจาคสูง : รัฐสวัสดิการนั้นมองอีกมุมก็คือ มูลนิธิขนาดยักษ์ใหญ่ที่บริหารโดยภาครัฐ เมื่อมีขนาดใหญ่ต้นทุนการบริหารจัดการคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดเงินช่วยเหลือก็จะต่ำ แค่โอนเงินเข้าบัญชี....เงินถึงมือผู้รับเต็มเม็ดเต็มหน่วย เรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก
8. ลดภาระหนี้การคลัง : แน่นอนการได้เงินระดับ 5.5 หมื่นล้านซึ่งเป็นเป้าหมายของการระดมเงินบริจาคครั้งนี้ จะช่วยลดภาระหนี้สาธารณะได้ เพราะ ช่วยให้รัฐบาลขาดดุลการคลังลดลงไปไม่น้อยเลย
9. กระตุ้นเศรษฐกิจได้ : เงิน 100 บาทหากอยู่ในมือเศรษฐีเงินนี้คือ stock จะไปฝากกับแบงก์ได้ GDP ซึ่งคือดอกเบี้ย 1 บาท ขณะที่เงินนี้หากเปลี่ยนมือไปอยู่ในมือคนจน stock จะเปลี่ยนเป็น flow เกิดการใช้จ่าย GDP อาจเพิ่มได้ถึง 300 บาท หรือเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 300 เท่าตัว นี่ก็คือเคล็ดวิชาของไท้เก๊ก หรือ “สี่ตำลึงปาดพันชั่ง” นั่นเอง

ก็ขอฝากให้รัฐบาลได้รีบเร่งดำเนินโครงการคล้ายๆ แบบนี้โดยด่วน เพราะเป็นโครงการที่ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกถึง 9 ตัว แถมด้วยบทสัมภาษณ์ของคนแก่ “ยายขอบใจเศรษฐีไทยผู้ใจบุญทุกคนที่ช่วยสนับสนุนให้ยายมีเงินใช้ทุกเดือน” บทสัมภาษณ์ของเด็ก “หนูขอขอบคุณเศรษฐีไทยผู้ใจบุญทุกท่าน ที่ช่วยสนับสนุนการศึกษา แถมยังช่วยลดภาระหนี้ในอนาคตให้อีกด้วยคะ” บทสัมภาษณ์ของคนพิการ “ดิฉันขอขอบคุณเศรษฐีไทยผู้ใจบุญทุกท่าน ที่ช่วยสนับสนุนให้มีเงินใช้จ่ายได้ มีกำลังใจต่อสู้ชีวิตต่อไปคะ” หากประสบความสำเร็จได้ดีตามคาด ผมจะได้นำเอาไปบรรจุไว้เป็น 1 ใน 18 กระบวนท่าเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) ต่อไป ผมรอดูผลอยู่นะครับ

วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

จาก ทุนนิยมและเชิงพุทธ รุดสู่ ไท้เก๊ก

จากทุนนิยมและเชิงพุทธ…รุดสู่ไทเก๊ก

บทความนี้จะเป็นการชี้ให้เห็นถึงแนวคิดปรัชญา เป้าหมาย และ เงินบำนาญ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบของเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ และ เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก ว่าแตกต่างกันอย่างไรบ้าง สำหรับผมแล้ววิชาการต่างๆที่เรียนในระดับปริญญาตรี คือ เรื่องของ “เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม” แต่ผมได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ “เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ” และล่าสุด 2 ปีที่ผ่านมานี้ได้คิดค้น “เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก” (Taiji-Econ.) ทั้ง 3 เรื่องมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ดังนี้

1. ปรัชญาที่สนับสนุนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์
เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม นั้น ยึดหลักจากปรัชญาตะวันตก อิงกับศาสนาคริสต์เป็นหลัก ต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ หากผู้คนศรัทธาในพระเจ้า ตั้งใจเป็นคนดี ตั้งใจทำงาน ตั้งใจเก็บออมเงินแล้ว มีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว พระเจ้าย่อมดลบันดาลให้ร่ำรวยและมีความสุขได้อย่างแน่นอน

เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ นั้นชัดเจนว่ายึดหลักปรัชญาขั้นสูงสุดของอินเดีย คือ พุทธศาสนา เน้นการลดละเลิก ความสมถะไม่สะสมเงินทอง เน้นการไม่ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก ยึดหลักปรัชญาขั้นสูงของจีน คือลัทธิเต๋า รักษาสมดุลแห่งหยิน-หยาง การยืมพลังสะท้อนพลัง

2. ความโลภ
เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม มองความโลภเป็นสิ่งที่ไม่ได้เลวร้ายนัก จะช่วยให้คนได้ตั้งใจพยายามทำงาน ตั้งใจเก็บออมลงทุน เพื่อสะสมสินทรัพย์สร้างความมั่งคั่ง นอกจากนี้ยังเชื่อว่ามนุษย์มีความโลภไม่จำกัด แต่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดเราจึงต้องหาวิธีจัดสรรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในบางครั้งความโลภที่มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดการเก็งกำไรเกินควรจนก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้

เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ มองความโลภเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็น 1 ในกิเลส 3 ประการที่สำคัญ การควบคุมดูแลความโลภจึงเป็นเรื่องที่ควรจะต้องกระทำอันดับแรก เมื่อความโลภน้อยก็จะบริโภคน้อยแต่มีความสุขได้

เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก มองโลกตามความเป็นจริงว่า ประชาชนไม่ใช่พระโสดาบัน ความโลภในหมู่ประชาชนนั้นมีอยู่จริง ต้องหาวิธีการดูแลผ่านนโยบายต่างๆ เพื่อให้ “ความโลภ” อยู่ในระดับเหมาะสม

3. เป้าหมาย
เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม เน้นเป้าหมายที่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ การบริโภคมากๆ คือความสุข ความมั่งคั่งคึกคักร้อนแรง คือ เป้าหมายแบบพลัง “หยาง”

เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ เน้นเป้าหมายที่การบริโภคน้อย แต่ดำรงชีพอย่างมีความสุข เบียดเบียนโลกให้น้อย เน้นการลดละเลิก นิ่งสงบเย็น แม้ว่าอาจส่งผลลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ได้ เหล่านี้ล้วนเป็น เป้าหมายแบบพลัง “หยิน”

เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก คือ มีเป้าหมายเพื่อรักษาสมดุลแห่ง “หยิน-หยาง” นั้น

4. เงินกู้และเงินบำนาญ
เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม จะให้การลดหย่อนภาษีกับการออมของเศรษฐี ขณะเดียวกันจะบังคับออมกับคนยากจนในระบบประกันสังคม ด้วยวิธีนี้ คนจนจะเงินขาดมือ และ นายทุนจะได้ประโยชน์มากเพราะ จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากเพียง 1% ต่อปี แต่ได้รับดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 28% ต่อปี การมีหนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะ การมีสินเชื่อเพิ่มจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น หลักการนี้เชื่อว่าคุณภาพชีวิตหลังเกษียณที่ดีต้องมีเงินรายได้ 70% ของช่วงที่ทำงาน ผู้สูงวัยพึ่งเงินออมตนเองไม่พึ่งลูกหลาน

เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ เน้นให้ความสำคัญของปัจจุบันยิ่งกว่าอนาคต การออมเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่สำคัญเท่ากับการไม่ก่อหนี้ พระท่านสอนว่า “การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” และ “พุทธศาสนิกชนที่ดีแทบไม่ต้องใช้เงิน” ผู้สูงวัยเข้าวัด ศึกษาธรรมะ จึงแทบไม่ต้องใช้เงิน พึ่งพาเงินส่วนที่จำเป็นจากลูกหลานเพียงเล็กน้อยถือเป็นการทดแทนพระคุณ จะใช้เงินน้อยแต่มีความสุขมาก

เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก พยายามรักษาสมดุลของแนวคิดทั้ง 2 เงินบำนาญควรเลือกเก็บมากหรือน้อยได้ตามสภาพเศรษฐกิจ ยืดหยุ่นให้สามารถยืมเงินออมบำนาญได้หากมีความจำเป็น และ ผู้สูงวัยจะพึ่งเงินออมตนเอง เงินภาครัฐ และ เงินลูกหลานด้วยเป็น 3 ขา อย่างไรก็ดีจะใช้เงินน้อยกว่าแนวคิดแบบทุนนิยม

5. นโยบายเศรษฐกิจ
เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม เมื่อความโลภและการเก็งกำไรมากเกินไป ฟองสบู่แตก การใช้นโยบายต่างๆ ก็เหมือนดั่ง “ยาแผนตะวันตก” ที่เน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะจุด จึงเกิดผลข้างเคียงได้มาก มักได้ผลในระยะสั้นแต่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงิน หรือ การคลัง

เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ เหมือนดั่ง “วัคซีน” ที่ใช้ป้องกันความโลภที่มากเกินไป จึงใช้ป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจได้ผลดี แต่ใช้รักษาผลของมันไม่ได้ เศรษฐกิจชะลอตัวลงต้องการพลัง “หยาง” มาช่วย แต่เนื้อหาในส่วนของเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธทั้งหมดนั้น มีแต่พลัง “หยิน”

เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก เหมือนดั่ง “ยาแห่งดุลยภาพ” ใช้การยืมพลังจากแหล่งอื่นๆ มาช่วยรัฐบาลได้ จึงไม่ต้องสร้างหนี้สาธารณะมากเกินไป พยายามรักษาสมดุลของหนี้สินภาครัฐ และ สินทรัพย์กองทุนบำนาญ รักษาสมดุลการค้าของโลก สร้างสมดุลของการสมทบเงินออมบำนาญตามสภาพเศรษฐกิจ สร้างสมดุลของผลตอบแทนทุนและแรงงาน รวมไปถึง สร้างสมดุลของเงินออมและหนี้สินของประชาชน

อาจเป็นไปได้เหมือนกันว่าในอนาคตอาจมีเรื่องราวของ “เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก” (Taiji-Econ.) ตามหนังสือเศรษฐศาสตร์มหภาคบ้างก็เป็นได้......แนวคิดซึ่งเป็นทางสายกลาง ระหว่างทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทั้ง 2 ขั้วข้างต้น นั่นหมายถึงท่านผู้อ่านได้เรียนรู้เรื่องนี้ก่อนจะมีในตำราเสียอีกนะครับ

วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

5 กับดักเศรษฐกิจ .. พิษร้ายแรง

5 กับดักเศรษฐกิจ..พิษร้ายแรง

ถ้าพูดถึง “กับดักเศรษฐกิจ” คือ ระบบที่ดูเหมือนจะดี แต่ที่จริงแล้วกลับไม่ใช่สิ่งที่ดี และ สร้างความเสียหายได้อย่างมากมายตามมา อาจหยิบยกสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันที่กำลังประสบอยู่เป็น 5 เรื่องดังต่อไปนี้

1. กับดักเงินหยวน คือ การที่ประเทศจีนได้กำหนดค่าเงินหยวนให้ผูกกับเงินดอลลาร์ ส่งผลให้สมดุลการค้าของโลกสูญเสียไป ประเทศจีนได้ดุลการค้ามากที่สุดในโลก ขณะที่อเมริกาก็ขาดดุลการค้าอย่างมหาศาลที่สุดในโลกเช่นกัน โดยที่ 2 ประเทศกลับผูกค่าเงินด้วยกันซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติมากๆ ระบบเงินหยวนนี้เคยสร้างปัญหามาแล้ว โดยได้เคยลดค่าถึง 33% และเป็นตัวจุดชนวนให้การส่งออกของไทยสูญเสียการแข่งขัน เมื่อรวมกับปัญหาเงินบาทและ BIBF จึงนำไปสู่ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ในที่สุด
วิธีปลดล็อค : จีนต้องมองให้กว้างออกไป ดำเนินนโยบายไม่ใช่เพื่อประเทศตนเอง แต่เป็นเพื่อโลก ในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การยอมให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% ภายในเวลา 1 ปี จะช่วยให้สมดุลการค้าของโลกคืนมาได้ สินค้าและสินทรัพย์ของอเมริกาจะมีมูลค่าถูกลงในสายตาคนเอเชียที่มีค่าเงินแข็งขึ้น ซึ่งจะช่วยประเทศอเมริกาได้เป็นอย่างดี ขณะที่คนจีนก็จะมีกำลังซื้อมากขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้นจากค่าเงินที่แข็งค่า

2. กับดักเงินยูโร คือ การที่กำหนดค่าเงินสกุลเดียว แต่ผูกประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างมากให้อยู่ในยูโรโซนเดียวกัน เยอรมันมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ได้ดุลการค้าอย่างมาก ในเวลาเดียวกันพบว่า ไอร์แลนด์ สเปนและกรีซ มีเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ขาดดุลการค้าอย่างหนัก โดยปกติแล้วค่าเงินจะสะท้อนสภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ แต่ด้วยระบบเงินยูโร มันจึงเกิดขึ้นไม่ได้ จึงสร้างปัญหาอย่างมากต่อประเทศที่อ่อนแอ
วิธีปลดล็อค : จะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปใช้เงิน 2 สกุล โดยเยอรมันและฝรั่งเศสที่แข็งแกร่งเป็นแกนกลางนั้น ควรจะเปลี่ยนมาใช้เงินสกุลใหม่ Eura แทน ส่วนประเทศที่อ่อนแอริมขอบยูโรโซน ก็ใช้เงิน Euro กันต่อไป ยอมให้ Euro อ่อนค่าลง เพื่อช่วยเหลือการส่งออก และ การชำระหนี้สิน
ของประเทศริมขอบยูโรโซน

3. กับดักสภาพคล่อง เรื่องนี้อยู่ในตำราอยู่แล้ว คือ การลดอัตราดอกเบี้ยลงมาต่ำมาก แต่เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้นตัวอย่างแข็งแรง สิ่งนี้กำลังเกิดอยู่ในประเทศญี่ปุ่น อเมริกา และ อังกฤษ
วิธีปลดล็อค : เคนส์แนะนำให้รัฐบาลทำงบประมาณขาดดุล เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

4. กับดักเคนส์ คือ สภาพที่ประเทศได้สร้างหนี้สาธารณะเพิ่มตลอดจากการใช้นโยบายการคลังขาดดุล โดยที่เศรษฐกิจไม่ได้มีการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจซบเซาและมีภาวะเงินฝืด ญี่ปุ่นได้ติดกับดักนี้มา 18 ปีแล้ว ส่วนประเทศอเมริกา และ ยุโรป เริ่มติดกับดักนี้มาได้ราว 2 ปี
วิธีปลดล็อค : ใช้เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) มาเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยไม่เป็นภาระการคลังเลยแม้แต่น้อย แต่ใช้หลักการยืมพลังจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนบำนาญแทน สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้น อาจใช้ “โครงการสินเชื่อ777” หรือ “Lucky Seven Loan” ซึ่งมีแนวคิดคล้ายกัน “สินเชื่อ999” โดยให้องค์กรที่บริหารเงินบำนาญ ทำการค้ำประกันสินเชื่อให้กับคนญี่ปุ่นไม่เกิน 7 ส่วนของเงินออมในอัตราดอกเบี้ย 7% ผ่อนได้ 7 ปี ส่วนของดอกเบี้ยนั้นบางส่วนจะถูกจัดสรรเข้าองค์กรบริหารเงินบำนาญ และรัฐบาลเป็นค่าธรรมเนียมค้ำประกันเงินกู้ด้วย ด้วยวิธีง่ายๆ เงินเศษเสี้ยวของกองทุนบำนาญเพียง 1% เมื่อถูกนำมาใช้จ่าย จะส่งผลให้ยกเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้ โดยรัฐบาลแทบไม่ต้องใส่เงินงบประมาณลงไปตรงๆ เลยแม้แต่น้อย
ผมคิดว่าหากท่านนายกฯ ของญี่ปุ่นได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้ อาจจะตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างมาก เพราะหลังจากประชุมทีมเศรษฐกิจ และ เปิดตำราเศรษฐศาสตร์ดูทุกหน้าแล้ว คงไม่เห็นทางออกที่จะฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ เพราะนโยบายทั้ง 3 ด้าน คือ การเงิน การคลัง และ อัตราแลกเปลี่ยนนั้น ได้ทำมาอย่างเต็มที่แต่ไม่ได้ผลเลย หากแนวคิดใหม่นี้สามารถฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้พร้อมๆ กับแก้ไขวิกฤติการคลังไปด้วยได้ จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงให้กับรัฐบาลชุดนี้ และ พรรค DPJ อีกด้วย
นโยบายการคลังเปรียบไปก็เหมือนกับ “มวยเส้าหลิน” ที่ใช้พลังแข็งกร้าวเพื่อปะทะคู่ต่อสู้โดยตรง แต่สังคมญี่ปุ่นนั้นเริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุแล้ว โดยประชากรมีอายุเฉลี่ยถึง 43 ปีสูงที่สุดในโลก พลังก็เริ่มลดน้อยถดถอยลงไป การใช้ “มวยไท้เก๊ก” ซึ่งเป็นหลักการอ่อนสยบแข็ง ใช้การยืมพลังสะท้อนพลัง ตามเคล็ดวิชา “สี่ตำลึงปาดพันชั่ง” จะมีโอกาสพิชิตวิกฤติเศรษฐกิจได้ดีกว่า
ที่จริงแล้วทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊กที่ผมสร้างสรรค์ขึ้นมานี้ มีจุดเริ่มต้นจากคำถามของผมเมื่อ 10 ปีก่อน “ในเมื่อญี่ปุ่นดำเนินนโยบายเศรษฐกิจทั้ง 3 ด้านอย่างเต็มที่แล้ว เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้น ญี่ปุ่นควรทำอย่างไรต่อไป” คนญี่ปุ่นตอบว่า “ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน คุณช่วยไปคิดต่อหน่อย” เรื่องแบบนี้ไม่เคยมีในตำราเศรษฐศาสตร์ โดยผมต้องใช้เวลาถึง 8 ปีกว่าจะค้นพบทฤษฎีใหม่นี้ได้

5. กับดักการออม : คือ สภาพที่รัฐบาลสนับสนุนเอาเงินภาษีไปช่วยเพิ่มผลตอบแทนการออมให้กับคนระดับเศรษฐี ขณะเดียวกัน บังคับออมกับคนจนซึ่งทำให้พวกเขาติดหนี้สินกันมากทางอ้อม ซึ่งเป็นระบบที่ทำกันอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ ด้วยระบบเช่นนี้ จะทำให้คนรวย ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานสูง ได้รับผลตอบแทนการลงทุนสูงอีกด้วย ทำให้คนรวยนั้นรวยขึ้น ขณะที่ทำให้คนจนซึ่งมีค่าแรงต่ำ ยังถูกบังคับทางอ้อมไปติดหนี้ดอกเบี้ยโหดเพราะ การถูกบังคับออมเงินทำให้เงินขาดมือ จึงมีผลตอบแทนส่วนทุนติดลบไปมาก สรุปแล้วคือทำให้คนจนนั้นจนลงไปอีก เห็นได้ชัดว่าระบบแบบนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมขยายกว้างขึ้น
วิธีปลดล็อค : ลดวงเงินการหักลดหย่อนภาษี RMF,LTF ลงมา เลิกอุ้มคนรวยได้แล้ว ขณะเดียวกันต้องให้มีการยืดหยุ่นเงินออมของประกันสังคม และ กบข. โดยให้ผู้ประกันตนและสมาชิก สามารถเข้าถึงเงินออมของตนเองได้ ตามแนวคิดของ “สินเชื่อ999” รวมถึงหยุดแนวคิดจัดตั้ง กองทุนการออมแห่งชาติไปเสีย

หากผู้นำประเทศต่างๆ เห็นถึงกับดักเหล่านี้ และเดินหน้าปลดล็อคได้เร็ว โลกก็อาจรอดพ้นจากวิกฤติรอบ 2 ไปได้ แต่ผมคิดว่ามีโอกาสถึง 80% ที่โลกกำลังเดินหน้าสู่วิกฤติรอบ 2 เสียก่อนแล้วผู้นำของประเทศต่างๆ จึงจะตาสว่าง เห็นถึงข้อเสียของกับดักเศรษฐกิจในปัจจุบันแล้วตัดสินใจเดินหน้าปลดล็อคกับดักเหล่านั้น จึงจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจโลกได้ในที่สุด