แบงก์ยุโรป ยังคงเป็นปัญหาต่อไป จากกฎบาเซิล III ที่แบงก์จำเป็นต้องเพิ่มทุนจำนวนมาก จากเงินทุน Tier 1 ยังไม่เพียงพอ โดยเรื่องนี้ได้จุดประเด็นด้วย การที่แบงก์แซนแทนเดอร์ ซึ่งเป็นแบงก์ใหญ่สุดของสเปน ได้ประกาศเพิ่มทุนถึง 7.5 พันล้านยูโร ซึ่งจะทำให้เงินทุน Tier1 ของแบงก์ขึ้นจาก 8.5% เป็น 10% อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดว่า เงินทุนยังไม่เพียงพอ อาจต้องมีการเพิ่มทุนอีกครั้งราว 5 พันล้านยูโร จึงส่งผลให้ราคาหุ้นตกลงไปถึง 14% (9 มค.) และ ฉุดแบงก์อื่นๆ ของยุโรปลงตามไปด้วย โดยดัชนีหุ้นแบงก์ของยุโรปตกไปกว่า 3% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน
เรื่องนี้นับได้ว่าสำคัญมาก เพราะ ลดทอนผลกระทบทางบวกของ ECB ที่จะดำเนินมาตรการ QE ซื้อพันธบัตรราว 5 แสนล้านยูโรซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ด้วย ทำให้หุ้นของแบงก์ยุโรปร่วงลงไปกว่า 3%
เรื่องราวนี้ยังอีกยาวไกล เพราะ มีการคาดการณ์ว่าแบงก์ในประเทศอ่อนแออย่าง อิตาลี โปรตุเกส กรีซ ก็อาจต้องทำแบบเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น แบงก์ในประเทศอย่าง เยอรมัน ฝรั่งเศส ก็อาจจะทำด้วย จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นยุโรปได้อีกไม่น้อย
ยังไม่นับรวมถึง ปัญหาการเมืองในกรีซ ที่หากพรรคฝ่ายค้านชนะ ก็อาจทำให้มีการผิดนัดชำระหนี้ มีการคุยเรื่องการลดหนี้และการรัดเข็มขัดการคลังอีกครั้งหนึ่ง จนอาจมีผลกระทบให้กรีซต้องออกจากยุโรโซนได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีปัญหาแบบ "หนีเสือปะจระเข้" เพราะ หากกรีซยังคงอยู่ จะทำให้กรีซไม่สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง เพราะ ค่าเงินยูโรจะค้ำคอไว้ทำให้ความสามารถในการแข่งขันย่ำแย่ต่อไป การว่างงานอยู่สูงกว่าระดับ 25% แต่หากจะออกจาก "ยูโร" ก็จะทำให้ความเชื่อมั่นถดถอยได้ รวมถึงหนี้สินต่างๆ ที่เป็นเงินยูโร อาจต้องมีการปรับสูงขึ้นอีกหากคำนวณตามค่าเงินสกุล Drachma ของกรีซที่อาจจะกลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อช่วยให้การส่งออก การท่องเที่ยว และ การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น
ความไม่เชื่อมั่นในสกุลยูโรอาจปะทุขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงิน และ แบงก์ของยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เรื่องนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น