วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558

กำเนิด Rueng Alert และ Fragile Nineteen

ก่อนหน้านี้ ชาวตะวันตกได้สร้างคำ "Fragile Five" ซึ่งหมายถึง ประเทศที่อ่อนแอ 5 ประเทศมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง และ เสี่ยงต่อการไหลออกของเงินทุน  ซึงได้แก่ ประเทศ บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี และ แอฟริกาใต้นั้น  ประเทศเหล่านี้ล้วนมีอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเพื่อพยายามดึงดูดเงินทุนเอาไว้  อย่างไรก็ดี  ราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงอย่างเร็ว  ได้ขยายวงกว้างออกไปให้ประเทศในตลาดเกิดใหม่อีกหลายประเทศที่เสี่ยงต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และ ขาดดุลการคลังสูงอีกด้วย

อาจจัดอันดับประเทศที่เสี่ยงจากเงินทุนไหลออกได้ทั้งหมด 19 ประเทศ  ผมเรียกเป็น Fragile Nineteen  นับได้ว่าเป็นคำคล้องจองอย่างดี  โดยใช้เกณฑ์ 50 ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ของโลกที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ 3% ขึ้นไป (ไม่รวมจีน) จะจัดได้ตามลำดับของอัตราดอกเบี้ยสูงไปต่ำได้ดังนี้คือ  อาร์เจนติน่า (19.99%) เวเนซุเอลา (19.3%)  รัสเซีย (17%)  อิหร่าน ไนจีเรีย บราซิล ปากีสถาน อียิปต์  อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี อิรัก  แอฟริกาใต้  คาซักสถาน โคลัมเบีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย  เม็กซิโก และ ชิลี   จะเห็นได้ว่าหลักๆ แล้วก็คือ ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่กระจายอยู่ทั่วโลกนั่นเอง

ประเทศเหล่านี้้มีความเสี่ยงของเงินทุนไหลออก จึงต้องทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ระดับสูงเข้าไว้ บางประเทศแทนที่จะลดอัตราดอกเบี้ย กลับไปปรับขึ้น  ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่่น่าจะผิดทิศผิดทาง เช่น รัสเซีย บราซิล  ปัญหาก็คือ นั่นอาจทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ลงได้อีก  ยิ่งทำให้ความเชือมั่นของนักลงทุนต่างชาติลดน้อยถอยลงไปอีก  ต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นยิ่งจะไปทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นตามและ อาจส่งผลในมุมกลับไปเร่งการไหลออกของเงินทุนก็เป็นได้

เรื่องต่อมา ผมมีความยินดีจะเสนอดัชนีใหม่ Rueng Alert  ที่จะวัดค่าโดยใช้  เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เทียบสัดส่วนกับ GDP  แทนที่จะนำไปเทียบกับการนำเข้า  โดยวิธีนี้น่าจะวัดความเสี่ยงของกระแสเงินทุนไหลออกได้ดีกว่า  แนวคิดนี้จะเป็นพี่น้องกับ Rueng Alarm ที่ทำการวัดค่าโดยประเมินจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ต่อ GDP ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดวิกฤติกระแสเงินทุนไหลออกได้เช่นกัน

พบว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีค่าของ เงินทุนสำรองฯ ต่ำๆ เมื่อเทียบกับ GDP จะยิ่งมีความเสี่ยงมาก โดยอาจกล่าวได้ว่าค่าที่ต่ำกว่า 10% ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก  ระหว่าง 10-15% ความเสี่ยงสูง   15-20%  ความเสี่ยงปานกลาง  และถ้าสูงกว่า 20% ถือว่าอยู่เสี่ยงระดับต่ำ และ หากสูงกว่า 25% ขึ้นไปก็จัดว่าปลอดภัย

ประเทศที่มีค่า Rueng Alert  ต่ำๆ เช่น  อาร์เจนติน่า เวเนซุเอลา ไนจีเรีย  อียิปต์ และ ปากีสถานนั้นมีค่านี้อยู่ระหว่าง 4-6% เท่านั้น ซึ่งจัดค่าเสี่ยงสูงมาก   หากใช้เกณฑ์นี้ก็ถือว่าเสี่ยงกว่าประเทศใน Fragile Five เสียอีก โดย อินโดนีเซีย  และ แอฟริกาใต้ที่ 13% ถือว่าเสี่ยงสูง ขณะที่ บราซิล 16%  อินเดีย 17%  ตุรกี และ รัสเซียที่ 18% ซึ่งถือว่าเสี่ยงระดับปานกลาง และเมื่อดูอันดับเครดิตก็พบว่า 5 ประเทศนั้นเสี่ยงกว่าเพราะมีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า Fragile Five ด้วย

ส่วนประเทศไทย ยังสบายปลอดภัยมากๆ เพราะ ค่านี้อยู่สูงถึง 41%  อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการแพร่เชื้อของวิกฤติเงินทุนไหลออกของประเทศกลุ่ม Fragile Nineteen  ที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทจัดอันดับโดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตน้ำมันและพลังงาน  ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูกันต่อไป




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น