แม้ว่ากรีซ ยังคงอยูในยูโรโซน แม้จะมีปัญหาทางเศรษฐกิจรุมเร้าอย่างหนักหน่วงก็ตามเปรียบเหมือนเพลิงที่กำลังลุกไหม้ ผู้นำในยูโรโซน กังวลว่า กรีซอาจจะออกจากยูโรโซน แต่ผมอยากจะบอกว่า สิ่งที่ควรกังวลกว่านั้นก็คือ การที่กรีซไม่ออกจากยูโรโซนเสียมากกว่า กรีซนั้นได้แปลกแยกออกจากสมาชิกในกลุ่มนี้นานแล้ว โดยอาจยกได้ 3 เรื่อง
1. ECB ดำเนินมาตรการ QE โดยเข้าซื้อพันธบัตรของประเทศในยูโรโซน 6 หมื่นล้านยูโรทุกเดือน ยกเว้น "กรีซ"
2. ประเทศในยูโรโซนปรับปรุงการคลังดีขึ้นมาระดับหนึ่ง การขาดดุลลดลงมาได้บ้าง ยกเว้น "กรีซ" ที่ยังการขาดดุลการคลังถึง 12.2% ของ GDP ในปี 2013
3. ประเทศสมาชิกยูโรโซน ล้วนมีบอนด์ยีลระยะยาว (10ปี) ลดลงระดับหนึ่งเมื่อมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า ECB จะใช้มาตรการ QE ยกเว้นเฉพาะ "กรีซ" ที่บอนด์ยีลด์กลับวิ่งขึ้นไป จนตอนนี้สูงถึง 11.4% ไปแล้ว
ดังนั้น สรุปได้ว่า ตลาดเงินตลาดทุนนั้นได้ประเมินมานานแล้วว่า กรีซ ไม่ได้อยู่ในยูโรโซนแล้ว จะไม่สามารถชำระคืนเงินต้นเป็น "ยูโร" ได้เต็มจำนวนเป็นแน่
เรื่องนี้ขอให้นึกถึง สมรภูมิผาแดงในสมัยสามก๊ก โดยกองเรืองยูโรนั้นมีอยู่ 19 ลำ โดยมีอยู่ลำหนึ่งคือ "เรื่อกรีซ" ที่ไฟกำลังลุกโชน มีหนทางเลือกอยู่ 3 ทาง
1. พยายามดับไฟให้ได้ : ซึ่งได้พยายามทำมาแล้วถึง 5 ปี กลับพบว่า กรีซขาดความสามารถในการแข่งขันอยู่ดีภายใต้ระบบเงินยูโร การว่างงานในกรีซยังสูงถึง 25.8% นับว่าสาหัสมาก และ หนี้สินภาครัฐต่อ GDP ก็สูงสุดในยูโรโซน โดยสูงถึง 175% เมื่อทางเลือกที่ 1 ไม่สำเร็จก็เหลือ 2 และ 3
2. ปล่อยให้ไฟลุกโชนต่อไป : เรื่องนี้จะเป็นปัญหาแน่ เพราะ เรือลำที่อยู่ใกล้ๆ กับ กรีซ อย่างกลุ่มประเทศ PIIGS อาจติดไฟไปด้วยก็เป็นได้ หากบอนด์ยีลด์ของกรีซ วิ่งจาก 11% ไป 20% มันจะไม่กระทบต่อบอนด์ยีลด์ของประเทศ PIIGS เลยหรือ?? โดยเฉพาะประเทศที่เสี่ยงเป็นอันดับถัดมา คือ ไซปรัส และ โปรตุเกส ที่บอนด์ยีลด์อาจวิ่งไปได้สูงกว่าระดับ 5% นั่นหมายถึง แผนการ QE ของ ECB ที่หวังจะกดดอกเบี้ยระยะยาวของยูโรโซนให้ลดลงเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นเสียด้วยซ้ำ
3. ตัดกรีซออกจากกองเรือ : ผมคิดว่าวิธีนี้น่าจะดีที่สุด ก็คือ Grexit เพื่อรักษาส่วนรวมเอาไว้ จำเป็นต้องรีบตัดเนื้อร้ายออกไปโดยเร็ว โดยต้องตัดโซ่ตรวนคือ "เงินยูโร" ออกจากกรีซ ในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้ ไม่เพียงเป็นผลดีต่อยูโรโซน แต่ยังเป็นผลดีต่อกรีซเองด้วยเพราะ กรีซจะสามารถฟื้นตัวได้จากการบูมส่งออกและท่องเที่ยว ประเด็นสำคัญที่สุดนั้นก็คือ แต่ละประเทศจะต้องใช้ค่าเงินที่เหมาะสมกับระดับความสามารถในการแข่งขันนั่นเอง จากทฤษฎี "ปริวรรตไท้เก๊ก" ก็จะพบว่า หาก 2 ประเทศมีค่าบอนด์ยีลด์ห่างกันเกินกว่า 3% แล้วละก็ 2 ประเทศนั้นไม่ควรผูกค่าเงินไว้ด้วยกันหรือใช้เงินสกุลเดียวกัน
โจโฉได้พ่ายแพ้ยับเยินสมรภูมิผาแดง ได้รำพึงกว่า "หากกุยแกยังอยู่ด้วยเรา เราคงมิต้องเสียหายยับเยินเช่นนี้" ก็ได้แต่หวังว่าในยามนี้ ท่านผู้นำของยูโรโซนจะมียอดกุนซืออย่าง "กุยแก" อยู่ข้างกาย โดยไม่เชื่อกลลวงของ "บังทอง" ที่ได้สร้างอุบายเอาไว้ ให้ผูกเรืออย่างแน่นหนาเป็นปึกแผ่นรักษาระบบยูโรเอาไว้แบบนี้ต่อไป (แนะนำโดยนักวิชาการจากอเมริกาและเอเชีย รวมถึง ยุโรปด้วย)
หากเป็นเช่นนั้น กองเรืองยูโรโซนจะได้ไม่ต้องเสียหายยับเยินเหมือนในอดีต ดั่งโจโฉในยุคสามก๊กที่สูญทัพเรือไปในกองเพลิงแทบจะหมดสิ้น.....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น