หากใช้คำว่า Stagflation เชื่อว่าคนเรียนเศรษฐศาสตร์มาจะรู้จักเป็นอย่างดี เพราะเป็นคำที่รวมเอา Stagnation+Inflation เข้าด้วยกัน โดยปกติแล้วอัตราเงินเฟ้อจะสูงก็เมื่อเศรษฐกิจดีมากกำลังซื้อมากกว่าอุปทาน จะไปในทิศทางเดียวกัน แต่ Stagflation เป็นสภาพเศรษฐกิจทีชะงักงัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อวิ่งไปอยู่ระดับสูง
โดยทั่วไปแล้วตามทฤษฎีการเงิน และ การคลัง การเติบโตทางเศรษฐิจ (Growth) จะไปในทิศทางเดียวกันกับ อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) โดยที่
- ทฤษฎีการคลังของเคนส์ กล่าวไว้ว่า หากรัฐทุ่มงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น และ อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น โดยอุปสงค์อาจสูงกว่าอุปทาน และหากรัดเข็มขัดการคลังก็จะได้ผลตรงกันข้าม
- ทฤษฎีการเงินของฟิชเชอร์ MV=PQ หมายถึง หากลดอัตราดอกเบี้ย และ/หรือ เพิ่มปริมาณเงิน จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และ อัตราเงินเฟ้อสูงชึ้นด้วย P (ระดับราคา) และ Q (GDP) จะสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน และ หากรัดเข็มขัดการคลัง ก็จะทำให้ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ อัตราเงินเฟ้อลดลง หมายถึง P และ Q จะลดลงไปในทางเดียวกัน
อย่างไรก็ดี เมื่อมาถึงตอนนี้หลังจากผมดูข้อมูลต่างๆ ในปัจจุบันของหลายประเทศ ผมมีความภูมิใจที่จะนำเสนอ 2 ศัพท์ใหม่ของวงการเศรษฐศาสตร์ที่ผมบัญญัติขึ้นเองล่าสุด นั่นก็คือ Receflation และ Deflagrowth
โดย Stagflation นั่น ถูกสร้างขึ้นมาด้วยความเกรงอกเกรงใจ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์การคลังและการเงิน (เคนส์และฟิชเชอร์) โดยไม่คิดจะแย้งกับทฤษฎีโดยตรง คือการเติบโตทรงตัวระดับใกล้ศูนย์ แต่เงินเฟ้อสูงขึ้นมาก แม้จะไม่ไปในทิศทางเดียวกันแต่ก็ไม่ถึงกับสวนทาง ซึ่งจะงัดข้อกับปรมรจารย์แบบตรงๆ อย่างไรก็ดี ผมคิดว่า หากทฤษฎีผิดก็ควรว่ากันไปตามผิด.... หากไทยมีโอกาสหักล้างทฤษฎีได้ ก็ควรรีบกระทำ เพราะ โอกาสแบบนี้มีไม่มากนักที่ประเทศไทยจะสามารถหักล้างทฤษฎีของตะวันตกลงได้
2 คำศัพท์ใหม่ที่ผมบัญญัติขึ้นนั้น เพื่อการหักล้างทฤษฎีแบบตรงๆเลยดังนี้้
Receflation ก็คือ Recession + Inflation หมายถึง เศรษฐกิจถดถอย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูง
Deflagrowth ก็คือ Deflation + Growth หมายถึง เศรษฐกิจที่เติบโตได้ ภายใต้ภาวะเงินฝืด
โดยทั่วไปเหตุการณ์แบบนี้จะถือว่าไม่ปกติ เพราะ P และ Q เคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้าม แต่ผมอยากจะบอกว่ามันเป็นเรื่องที่ปกติมากๆ เพราะ ทฤษฎีเดิมๆ มันผิดนั่นเอง
หากมองที่ Receflation อาจกล่าวได้ว่าเกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างเร็ว โดยอาจแยกเป็น 4 เรื่อง
1. ต้นทุนพลังงานและค่าขนส่งสูงขึ้น : จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ เช่นกรณี Oil Shock ในอดีตโดยอาจเกิดจากภาวะสงคราม
2. ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น : โดยเฉพาะการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของค่าเงิน ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ที่กำลังเกิดในรัสเซีย เวเนซุเอล่า รวมไปถึง ประเทศไทยยุควิกฤติต้มยำกุ้ง
3. ต้นทุนการเงิน : โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและ/หรือรวดเร็ว รวมไปถึง การกู้ยืมเงินสกุล
ต่างประเทศ เช่น เหตุการณ์ที่เกิดกับรัสเซียในปัจจุบัน
4.ต้นทุนสูงจากภาวะฉุกเฉิน : ภัยพิบัติต่างๆ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ หรือ มหาอุทกภัย ที่อาจทำให้เกิดภาวะอุปทานขาดแคลน ซึ่งรวมนี้รวมไปถึงภาวะสงคราม เช่น ยูเครนด้วย
ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น 4 ประการข้างต้นนี่เอง จะมีผลกดดันทางลบต่อเศรษฐกิจโดย รัสเซียนั้น ประเมินได้ว่า เศรษฐกิจจะถดถอยถึง 5% ในปี 2558 นี้และ อัตราเงินเฟ้อก็สูงไปถึง 15% ต่อปีแล้วและน่าจะสูงขึ้นได้อีก สำหรับตัวเลขล่าสุด รัสเซียจึงไม่ใช่แค่ Stagflation แต่เป็นถึงระดับ Receflation กันเลย และ เหตุการณ์แบบเดียวกันก็เกิดกับ เวเนซุเอลา และ ยูเครนในปัจจุบันด้วย และ ยังอาจเกิดกับประเทศอย่าง บราซิล ในอนาคตอันใกล้อีกด้วย ส่วนประเทศไทยนั้น หากใครยังจำเหตุการณ์วิกฤติต้นยำกุ้งได้ นั่นก็จัดว่าเป็น Receflation เหมือนกัน
แต่สำหรับยูโรโซน และ ประเทศไทยในปัจจุบันนั้น ต้องถือว่าเข้าเกณฑ์ของ "Deflagrowth" ซึ่งเป็นคำที่ผมบัญญัติขึ้นมาใหม่ล่าสุดเลย ซึ่งแสดงถึงสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ Receflation คือ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อติดลบ แต่เศรษฐกิจก็ยังโตได้ระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่อดีตเชื่อกันว่าผิดปกติมาก แต่ด้วยทฤษฎี "การเงินไท้เก๊ก" พบว่ามันเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ด้วยต้นทุนการผลิต 4 เรื่องข้างต้นที่ลดลงอย่างเร็ว เช่น ราคาน้ำมันดิบดิ่งเหว ค่าเงินแข็งเร็วมาก และ อัตราดอกเบี้ยถึงขั้นติดลบ จึงน่าจะเชื่อได้ว่าไม่เพียง "ยูโรโซน" โดยเฉพาะประเทศ PIIGS เท่านั้น แต่ประเทศอย่าง สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ก็น่าจะเข้าข่ายไปด้วย รวมไปถึงสยามประเทศของพวกเราก็คล้ายๆ กัน
โดยสเปน ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก โดยอัตราเงินเฟ้อ -1.4% ถือว่าเงินฝืด ขณะที่ GDP เติบโตได้ 2% ถือว่าเติบโตในระดับที่ใช้ได้ เช่นเดียวกันกับ กรีซ และ โปรตุเกส ก็มีลักษณะของ Deflagrowth เช่นเดียวกัน แล้วประเทศไทยละ ?? ประเทศไทยเข้าเขตแดนเงินฝืด (Deflation) ไปแล้วแต่ไม่ใช่เศรษฐกิจถดถอย (Recession) 2 เรื่องนี้ต้องแยกกันอย่างชัดเจนอย่าได้สับสน โดยอัตราเงินเฟ้อ -0.4% ถือว่าเงินฝืด ราคาสินค้าโดยเฉลี่ยลดลง (โดยเฉพาะผลจากราคาน้ำมันดิบร่วง) แต่เศรษฐกิจก็ดูเหมือนว่าฟื้นตัวได้ระดับหนึ่ง
นี่เป็นการหักล้างทฤษฎีการเงินของฟิชเชอร์ ที่มักอธิบายเสมอว่า อัตราการเติบโต และ อัตราเงินเฟ้อ มักจะไปด้วยกัน คือ ลดอัตราดอกเบี้ย ก็จะทำให้ทั้ง 2 สิ่งนี้วิ่งสูงขึ้นคือ กระตุ้นทั้งการเติบโตและเงินเฟ้อขณะที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็จะชะลอการเติบโต และ สกัดเงินเฟ้อ ..... ได้เวลาหักล้าง นักเศรษฐศาสตร์เบอร์ 2 ของศตวรรษก่อน ซึ่งเป็นบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์การเงิน (เออร์วิ่ง ฟิชเชอร์) แล้วละครับพี่น้อง
เรื่องนี้สำคัญมากๆ ที่จะกระทบต่อกรอบแนวคิดของทฤษฎีการเงินทั้งโลก คือ ทั้ง Recefflation และ Deflagrowth ไม่ใช่สิ่งผิดปกติตามแนวคิดของทฤษฎีเดิมอย่างใด แต่เป็นสถานการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยๆ โดยหากผู้กำหนดนโยบายการเงินหลงผิดกับทฤษฎีของฟิชเชอร์ดั่งปัจจุบัน รัสเซีย บราซิล และยูเครนก็จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ และ ผลลัพธ์คือประเทศเหล่านั้นจะเข้าสู่ภาวะ Receflation จะไม่สามารถสกัดเงินเฟ้อได้ แต่ทำให้เงินเฟ้อสูงและเศรษฐกิจถดถอย
ตรงกันข้ามประเทศในยูโรโซน และ สวิตเซอร์แลนด์ ก็จะลดอัตราดอกเบี้ยเรื่อยๆ ถึงระดับติดลบ นั่นจะไม่กระตุ้นเงินเฟ้อให้สูงขึ้น แต่กลับทำให้เกิดเงินฝืดและประเทศเข้าสู่ภาวะ Deflagrowth ได้ไม่ยาก
บางทีด้วย 2 คำศัพท์ใหม่นี้โลกอาจจะต้องเขียนตำราเศรษฐศาสตร์มหภาคกันใหม่เลยด้วยซ้ำ และมีโอกาสสูงเลยที่ 2 คำศัพท์ใหม่คือ Receflation และ Deflagrowth น่าจะอยู่ในตำราเล่มใหม่นั้นด้วย คิดแบบนั้นเหมือนกับผมเลยใช่ไหมครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น