รัสเซียได้เดินหน้าเข้าสู่เขตแดนอันตรายของวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว โดยน่าจะใช้ชื่อว่า "วิกฤติวอดก้า" เนื่องจากราคาน้ำมันดิบทีร่วงลงอย่างมากถึง 50% จาก 100 เหรียญ เหลือเพียง 50 เหรียญต่อบาร์เรล ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลก็ดิ่งลงหนักด้วยถึงระดับ 50% จากความกังวลค่าเงินไหลออก และ เศรษฐกิจอาจถดถอยได้ถึงระดับ 5% ต่อปี โดยค่าเงินได้ร่วงจาก 30 ไปเป้น 60 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์ แม้จะมีการขึั้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาเป็น 17% ก็ตามก็ไม่ได้ช่วยอะไรนัก
เรื่องนี้จะส่งผลอย่างไรบ้าง ... ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น Fragile Five หรือ ประเทศที่อ่อนแอทั้ง 5 ซึ่งพึ่งพิงเงินทุนต่างชาติสูง ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง มีอัตราเงินเฟ้อที่สูง ค่าเงินแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งได้แก่ บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี และ แอฟริกาใต้นั้น ประเทศทั้ง 5 นี้อาจขยายวงโดยรวมเอา "รัสเซีย" เข้าไปด้วย ด้วยเหตุผลที่คล้ายๆ กัน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศในอเมริกากลางและใต้ อย่าง อาร์เจนติน่า ชิลี โคลัมเบีย เวเนซุเอลา และ เมกซิโก ก็มีความเสี่ยง รวมถึงอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกาอย่าง ไนจีเรีย อียิปต์ ก็ด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศในตะวันออกกลาง เช่น อิรัก อิหร่าน ก็เช่นเดียวกัน รวมๆ แล้ว จาก Fragile Five ก็อาจกลายเป็น Fragile Fifteen ไปเลย ที่จะมีปัญหาของเงินทุนไหลออก และ ค่าเงินอ่อนค่าลงอย่างเร็ว
การที่รัสเซียขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้จะถูกต้องตามตำราและทฤษฎี แต่อย่างไรก็ดีนั่นดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ผิด เพราะ อัตราดอกเบี้ยสูง-เงินเฟ้อสูง-ค่าเงินแนวโน้มอ่อนค่า 3 สิ่งนี้จะไปด้วยกันเป็นเซ็ตเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับประเทศในกลุ่ม Fragile Five อยู่ก่อนแล้วนั่นเอง ดังนั้น การที่รัสเซียพยายามผลักดันในอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น จะไม่ช่วยสกัดเงินเฟ้อ แต่กลับทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นตาม ซึงก็เป็นเช่นนั้นจริง อัตราเงินเฟ้อวิ่งไประดับ 11% ได้แล้วอย่างน่ากังวล และยังมีแนวโน้มสูงไปอีก เมื่อเงินเฟ้อสูงหมายถึง กำลังซื้อของเงินรูเบิลมีค่าต่ำลง ซึ่งจะทำให้ค่าเงินมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะยาวนั่นเอง
เฉพาะค่าเงินรูเบิลที่อ่อนลงก็ทำให้ GDP ของรัสเซียและของโลก หายไปแล้ว 1 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อรวมกับการอ่อนค่าของเงินยูโรและปอนด์ (กระทบราว 3 ล้านล้านดอลล์) ยังมีค่าเงินของประเทศใหญ่ 20 อันดับแรกอย่าง ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก บราซิล เกาหลีใต้ ตุรกี และ อินโดนีเซีย ก็ล้วนอ่อนค่าลงหนักเมื่อเทียบกับดอลลาร์เช่นกัน โดยดูจากดัชนีค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งแกร่งขึ้นมากราว 14% ก็อาจกล่าวได้ว่า GDP โลกได้หายไปแล้วถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 10% เลยทีเดียว ดังนััน การคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในปี 2558 นี้จะโตได้ถึง 4-5% จึงน่าจะเพ้อฝันอยู่มาก ประเมินจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าเช่นนี้แล้ว ส่งออกไทยมีโอกาสติดลบ 4-5% เสียมากกว่า
วิกฤติวอดก้า ยังมีอีก 3 ขั้นตอนที่ควรจะต้องกังวล เกี่ยวกับ ราคาน้ำมันดิบ และ ค่าเงินของประเทศผู้ค้าน้ำมันที่อ่อนลง ดังนี้
1. ลด : โดยน่าจะมีการปรับลดอันดับเครดิตของ บริษัทพลังงาน สถาบันการเงิน และ ประเทศผู้ค้าน้ำมันอีกหลายแห่ง ตามราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากรายได้และสินทรัพย์ลดลงมาก ภายในไตรมาสแรกและสองของปีนี้อยู่หลายบริษัทและหลายประเทศ
2. เบี้ยว : เมื่อถูกปรับลดอันดับเครดิต ทำให้การไฟแนนซ์เงินทำได้ยากขึ้นและแพงขึ้น ขณะที่รายได้ก็แย่ลงอยู่แล้วจากราคาน้ำมันดิบที่ทรุดตัวลงอย่างเร็ว หนี้สินต่างประเทศในรูปดอลลาร์ก็มีอยู่มาก ดังนั้น ก็พอคาดการณ์ได้ว่า จะมีการเบียวหนี้เพิ่มขึ้นเป็นแน่ สำหรับบริษัทพลังงานต่างๆ และ นั่นอาจรวมไปถึงรัฐบาลของบางประเทศด้วย
3. อุ้ม : รัฐบาลคงต้องอัดฉีดเงินทุนเพื่ออุ้ม บริษัทพลังงาน รวมถึง สถาบันการเงินหลายแห่งซึ่งถูกกระทบจากปัญหา NPL และ เมื่อเงินทุนภาครัฐไม่เพียงพอ สุดท้ายแล้ว IMF คงต้องส่งเงินมาอุ้มอีกหลายประเทศ แต่ IMF ก็มีเงินทุนไม่พอสำหรับการอุ้มหลายประเทศแบบนั้น ยิ่งประเทศใหญ่แบบ "รัสเซีย" แล้ว เชื่อว่าจีนน่าจะเข้ามามีบทบาทแทน IMF ในการอุ้มภาครัฐของหลายประเทศที่มีปัญหากับประเทศสหรัฐอเมริกา ข่าวล่าๆ ก็มีว่า เริ่มเข้าช่วยเหลือ รัสเซีย และ เวเนซุเอล่าแล้ว
3 ขั้นตอนนี้คงไม่จบง่ายๆ อาจจะต้องวน 3 เรื่องคือ "ลด-เบี้ยว-อุ้ม" กันหลายรอบ ประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาถึงกว่า 2 ปีกว่าขั้นตอนเจ็บปวดเหล่านี้จะจบลงได้ โลกเคยชินกับการเห็นฟองสบู่สินทรัพย์อย่างหุ้นและอสังหาริมทรัพย์แตกไปแล้ว ต่อจากนี้ไปจะเป็นเรื่องของ ฟองสบู่สินทรัพย์ประเภทสินค้าโภคภัณฑ์ (โดยเฉพาะน้ำมัน) แตกให้เห็นกันบ้าง
สำหรับไทย ประเทศที่น่ากังวลที่สุดถัดจากรัสเซียที่จะกระทบการท่องเที่ยวได้ถึง 1 ล้านคน ก็อาจเป็นประเทศอินโดนีเซีย เพราะ ในฐานะพี่ใหญ่ของ AEC ที่มีสัดส่วนขนาดเศรษฐกิจสูงถึง 40% หากเกิดปัญหาเงินทุนไหลออก จนต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF หรือประเทศจีนอีก ก็คงเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งต่อการรวมตัวเป็น AEC ในปลายปีนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น