วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

กับดักเงินยูโร

กับดักเงินยูโร

เงินยูโร เริ่มใช้วันที่ 1 มกราคม คศ.1999 คือ สกุลเงินที่ประเทศในเขตยูโรโซนปัจจุบันมี 16 ประเทศจากสมาชิก EU 27 ประเทศ ตัดสินใจนำใช้เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนร่วมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้าขายโดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่างๆ ในเขตยูโรโซน สกุลเงินนี้ครอบคลุมประชากรถึง 327 ล้านคนในยุโรป อีก 175 ล้านคนนอกเขตยุโรป นอกจากนี้ ยูโรโซนมีขนาดของเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา และหากรวมเศรษฐกิจทั้ง EU จะมีขนาดถึง 18 ล้านล้านเหรียญ สรอ. ซึ่งใหญ่กว่า สหรัฐอเมริกาเสียอีก อย่างไรก็ดี เมื่อใช้เงินสกุลนี้มาได้ราว 10 ปีเราเริ่มได้เห็นถึง “ด้านมืด” ของการใช้เงินสกุลเดียวได้เด่นชัดยิ่งขึ้น

เมื่อฟิตซ์ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของ “กรีซ” ลงสู่ระดับ BBB- จากระดับ A- เป็นการลดระดับความน่าเชื่อถือในรอบ 10 ปี และ เป็นครั้งแรกของกรีซที่ถูกลดระดับลงต่ำกว่า A นอกจากนี้ S&P ยังให้มุมมอง “เชิงลบ” จาก “ทรงตัว” ต่อประเทศสเปนอีกด้วย หลังจากปรับลดเครดิตจาก AAA เป็น AA+ มาตั้งแต่ต้นปีเดือน มกราคม 2009

ทำไมประเทศที่ดูเหมือนแข็งแกร่งเหล่านี้จึงได้ประสบปัญหาในเรื่องของเครดิตได้ เมื่อมองย้อนหลังไปดูก็จะพบว่าวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไม่ใหญ่นัก มักจะมีต้นเหตุหลักมาจาก “ระบบอัตราแลกเปลี่ยน” นั่นเอง โดยเฉพาะการปล่อยให้ค่าเงินมีค่าสูงกว่าที่ควรจะเป็นนานเกินไป ทำให้เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงและต่อเนื่องหลายปี และ ในที่สุดความเชื่อมั่นก็ถดถอยจนเกิดการถอนเงินตราต่างประเทศออกอย่างเร็ว ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดกับประเทศเม็กซิโก ในปี คศ.1994 ประเทศไทย (วิกฤติต้มยำกุ้ง) ในปี คศ.1997 และ ประเทศอาร์เจนตินา ในปี 2002

ค่าเงินยูโรได้แข็งขึ้นอย่างเร็วจากระดับ 1 ยูโร ราว 0.8 ดอลลาร์ในปี คศ.2002 เป็น 1.6 ดอลลาร์ ในปี 2008 ได้เพิ่ม GDP ของประเทศในกลุ่มนี้ให้สูงขึ้นอย่างมาก โดยประเทศกรีซ และ สเปน มี GDP ที่สูงขึ้นกว่า 150% คิดตามเหรียญ สรอ. ในระยะเวลา 7 ปี จนถึงปี 2008 ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่สูงมากๆ เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกานั้นเติบโตขึ้นราว 40% เท่านั้นเอง อย่างไรก็ดี ค่าเงินที่แข็งค่าอย่างเร็วนี้ได้ทำให้ความสามารถแข่งขันในการส่งออก และท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็ประชาชนมีกำลังซื้อสูงขึ้นเกิดการนำเข้าสินค้าต่างๆ เข้ามามากมาย จนทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลอย่างหนักเป็นสัดส่วนถึงกว่า 10% GDP สำหรับประเทศกรีซ ตั้งแต่ปี 2006 มาแล้ว และ สำหรับประเทศสเปน ก็ขาดดุลมากกว่า 7% มานาน 4 ปีแล้วเช่นกัน ในขณะที่ประเทศแกนกลางของเขตยูโร อย่าง ออสเตรีย เยอรมัน และ ฝรั่งเศส กลับไม่พบปัญหานี้

ประเทศริมขอบของเขตยูโร อย่าง กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปนและอิตาลี ต่างก็ต้องประสบกับปัญหาการที่ต้องพยายามประคองเศรษฐกิจให้ได้ ภายใต้สภาวะที่ค่าเงินยูโรแข็งค่า ประเทศเหล่านี้ได้ติด “กับดักเงินยูโร” เข้าแล้วโดยต้องประสบกับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างสูง บางประเทศอย่างสเปน มีอัตราการว่างงานสูงถึง 20% บางประเทศอย่างอิตาลี ก็มีหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่า 100% ค่าเงินยูโรนี้จะเคลื่อนไหวอิงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ใหญ่กว่าอย่าง เยอรมัน และ ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 และ 5 ของโลกเป็นหลัก นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังถูกซื้อเพื่อนำไปเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อทดแทนเงินดอลลาร์ซึ่งมีความเสี่ยงของการอ่อนค่า

หากเป็นประเทศอย่าง เม็กซิโก ไทย หรืออาร์เจนตินา ก็คือ การปล่อยให้ค่าเงินอ่อนลงอย่างเร็ว และ ดึงสมดุลการค้าให้กลับคืนมา เศรษฐกิจจะตกต่ำไปราว 2-3 ปี จากนั้นก็เริ่มยืนได้และเดินหน้าต่อไป แต่สำหรับประเทศริมขอบยูโรโซนเหล่านี้ ใช้ค่าเงินยูโรอยู่แล้ว จะลดค่าเงินลงมาก็ไม่ได้ จะมีทางออกที่สวยงามสำหรับประเทศเหล่านี้หรือไม่

1. กลับไปใช้เงินตราสกุลดั้งเดิมก่อนใช้ยูโร ก็คือยอมแพ้ไม่สามารถเกาะค่าเงินตาม “ยูโร” ไปได้ ปล่อยให้ค่าเงินอ่อนลง เพื่อดึงสมดุลการค้ากลับมา
2. ทำทุกวิถีทางเพื่อให้เงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว อาจจะลงมากกว่า 15-20% เพื่อให้ภาระหนี้ของประเทศริมขอบยูโรโซนเหล่านี้ลดลง และ เพื่อดึงสมดุลการค้าให้กลับคืนมาได้
3. รวมตัวกันจัดตั้งเงินสกุลใหม่ ผมขอใช้ชื่อ “ยูร่า” (EURA) ก็แล้วกัน เป็นค่าเงินที่จะอ่อนค่ากว่า “ยูโร” เพื่อให้ประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจไม่แข็งแกร่งนัก มีเงินเฟ้อ และ อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าประเทศเยอรมัน ได้มาเลือกใช้กัน ตอนแรกอาจปรับค่าให้ต่ำกว่า ยูโรราว 10% จากนั้นก็อาจใช้ระบบ crawling peg เพื่อเกาะค่ากับ “ยูโร” แต่ยอมให้อ่อนค่าลงทีละน้อย ประเทศที่แข็งแกร่งทีม A ก็ใช้ “ยูโร” กันไป ส่วนประเทศที่พื้นฐานไม่ค่อยไหวอยู่ทีม B ก็อาจเลือกมาใช้ “ยูร่า” แทน โดยประเทศอังกฤษก็อาจสนใจเข้าร่วมในเครือข่ายนี้ด้วยก็เป็นได้

ระบบเงินสกุลเดียวที่เคยดูเหมือนจะสดใสในอดีต เมื่อใช้มาย่างเข้าปีที่ 10 เริ่มพบว่ามี “ด้านมืด” แล้ว สำหรับเอเชียก็เช่นกัน ไม่ควรนำแนวคิดเงินสกุลเดียวมาใช้เลย เพราะ พื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และดุลบัญชีเดินสะพัด

สำหรับประเทศริมขอบยูโรโซนนั้น ก็ต้องคอยติดตามดูว่า พวกเขาจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อให้หลุดพ้นจาก “กับดักเงินยูโร” ไปได้ ซึ่งหากบริหารจัดการแก้ไขปัญหาไม่ดีนัก ค่าเงินยูโรก็อาจดิ่งลงได้ถึง 20% ซึ่งหมายถึงกำลังซื้อหรือ GDP ของโลกจะลดลงถึง 6% คิดเป็นดอลลาร์ สรอ. ซึ่งในที่สุดแล้วอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น