จาก "กับดักสภาพคล่อง" สู่ "กับดักเคนส์"
ประวิทย์ เรืองศิริกูลชัย กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2552
เราหลายคนคงรู้จัก "กับดักสภาพคล่อง" (Liquidity Trap) เป็นอย่างดี โดยทฤษฎีของเคนส์ได้กล่าวในเรื่องนี้ไว้ ว่า สภาพที่แม้จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยจนถึงระดับเกือบศูนย์ แต่ก็ยังผู้คนก็ยังไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ไม่กล้าลงทุนอยู่ดี จึงเกิดสภาพคล่องที่ล้นเกินอย่างมาก ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดได้ในสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างรุนแรง กรณีของ Great Depression ในอดีต
จนเมื่อจอห์น เมนาร์ด เคนส์ ได้เสนอวิธีการให้รัฐบาลกู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายงบประมาณขาดดุล สร้างอุปสงค์รวม เพื่อดึงให้เศรษฐกิจพ้นภาวะตกต่ำ คือ ให้รัฐบาลให้จ่ายเงินแทนภาคเอกชนไปก่อน ประเทศต่างๆ ก็เห็นดีเห็นงามกันไปหมด แม้จะเป็นการสร้างหนี้สาธารณะ เพราะวิธีนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาภาวะว่างงาน ซึ่งอาจเชื่อมโยงต่อเป็นปัญหาสังคมได้
อย่างไรก็ดี การใช้นโยบายการคลังแบบนี้อย่างต่อเนื่อง ประเทศต่างๆ จะเสพติดนโยบายการคลังขาดดุลจนไม่สามารถจะหยุดได้ เพราะเมื่อคิดจะหยุดวิธีนี้ โดยการชะลอการใช้จ่ายของภาครัฐ หรือคิดจะขึ้นภาษี เศรษฐกิจก็จะทรุดตัวลงอีกครั้งทันที ดังนั้น เมื่อเสพติดมากๆ หนี้สาธารณะก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดง่ายๆ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของญี่ปุ่นได้เพิ่มจากระดับ 65% เป็น 200% ภายในเวลา 17 ปี เฉลี่ยแล้ว ญี่ปุ่นสร้างหนี้เฉลี่ยปีละ 8% GDP เพื่อพยุงให้เศรษฐกิจเติบโตได้ปีละ 1-2% เท่านั้น นั่นหมายความว่า อันที่จริงแล้วสำหรับภาคเอกชนนั้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยนานมาแล้ว
การตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถที่จะหาทางออกได้ นอกจากการเพิ่มหนี้สาธารณะและโยนภาระนี้ให้กับคนรุ่นถัดไปเช่นนี้เองที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก เรียกว่า "กับดักเคนส์" (Keynes Trap) ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอเมริกานั้นก็ใช้การขาดดุลการคลังถึง 12% GDP แต่ก็แค่พยุงให้เศรษฐกิจติดลบเล็กน้อยเท่านั้น ประเทศอังกฤษและยุโรปก็ไม่ต่างกันมากนัก ประเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ติด "กับดักเคนส์" มาได้ 2 ปีเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่ติด "กับดักเคนส์" นานถึง 17 ปีแล้ว
หากดำเนินวิธีการตาม "สำนักคลาสสิก" คือ รัฐบาลไม่ต้องเข้าแทรกแซงใดๆ ก็จะติด "กับดักสภาพคล่อง" เศรษฐกิจก็จะตกต่ำต่อไป รัฐบาลทั่วโลกไม่มีใครชอบวิธีนี้ จึงหันมาใช้แนวคิดของ "สำนักเคนส์" ซึ่งก็จะติด "กับดักเคนส์" นั่นเอง แล้วจะมีวิธีซึ่งเป็นทางออกให้ไม่ต้องติดกับดักทั้ง 2 นี้ได้ไหม
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ไทเก๊กได้เสนอให้ใช้หลักการ "ยืมพลัง" ของ "เจ้าหนี้" ซึ่งเป็นผู้ที่แข็งแกร่งทางการเงินมากกว่า "ลูกหนี้" ซึ่งปัจจุบันรับภาระหนักอยู่
มองในระดับโลก ก็คือ จีนซึ่งเป็น "เจ้าหนี้" ของการค้าโลกที่ได้ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด จำนวนมหาศาลแต่ละปี และยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสะสมถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยจีนได้ปรับค่าเงินลงมา 33% ในปี 2538 จากระดับ 5.8 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์ เป็นอัตราที่ 8.3 หยวน ต่อ 1 ดอลลาร์ ซึ่งเหตุการณ์นั้นเอง ทำให้ไทยสูญเสียการแข่งขันทางการส่งออกโดยสิ้นเชิง ภายใต้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่กับเงินดอลลาร์ ระดับ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ นั้น ไม่สามารถจะแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตจากจีนได้เลย นี่เป็นตัวจุดชนวนสำคัญที่ทำให้ไทยจำเป็นต้อง "ลดค่าเงิน" จนเชื่อมโยงไปถึง "วิกฤติต้มยำกุ้ง" ในที่สุด ในเวลา 2 ปีต่อมา การที่จีนดำเนินนโยบายโดยไม่คำนึงถึงเพื่อนบ้าน ซึ่งขายสินค้าคล้ายกันเช่นนั้น ได้ส่งผลเสียหายต่อวิกฤติค่าเงินของเอเชียในเวลาต่อมานั่นเอง แม้ภายหลังค่าเงินหยวนจะแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่จีนยังคงได้ดุลการค้ามหาศาลต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ควรจะได้มีการถกกันอย่างจริงจัง เพื่อสร้างสมดุลการค้าให้กับโลก
ดังนั้น อเมริกา ซึ่งเป็น "ลูกหนี้" ของโลก ไม่ควรจะรับภาระหนักอีกต่อไป ในการสร้างอุปสงค์ให้กับโลก แต่ควรให้จีนรับบทบาทนี้แทน หากจีนสามารถขึ้นค่าเงินให้แข็งอย่างเร็ว 20-25% ก็จะเหมือนสร้างอุปสงค์ใหม่ราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นขนาดของประเทศไทยราว 4 ประเทศที่เหมือนเกิดขึ้นมาใหม่ คนจีนรวยขึ้นนำเข้าสินค้ามากขึ้นไปเที่ยวมากขึ้น และสินค้าของอาเซียนอย่างไทยจะส่งออกไปแข่งขันในประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ ได้ดีขึ้น เป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจทั้งโลก
เมื่อมองในระดับแต่ละประเทศก็เห็นว่า รัฐบาลซึ่งเป็นลูกหนี้ ไม่ควรแบกรับภาระในการกระตุ้นเศรษฐกิจจนเกินไป เพราะภาระการจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตร รวมกับภาระการประกันสังคม ทั้งประกันสุขภาพ และเบี้ยบำนาญคนชรานั้นหนักหนาสาหัสนัก มีแนวโน้มว่าหนี้สาธารณะต่อ GDP จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนหยุดไม่ได้ อเมริกาและอังกฤษ จะมีค่านี้สูงกว่า 100% ภายใน 2 ปี และภายในเวลา 15 ปี ค่านี้จะยืนสูงกว่า 200% คล้ายๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น หากไม่มีการปฏิรูปการคลังอย่างเป็นรูปธรรม
รัฐบาลควรจะให้ "เจ้าหนี้" รายใหญ่ซึ่งก็คือ กองทุนบำนาญ ผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่นั้นแบกรับภาระในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมมากกว่า อย่างกรณีของกองทุนชราภาพของประกันสังคมนั้น ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ติดหนี้สินดอกเบี้ยโหดทั้งในและนอกระบบอยู่แล้ว การที่มือข้างหนึ่งออมไว้ได้ 5% ต่อปี และกู้ยืมด้วยเงินยอดเดียวกันที่ 28% ต่อปีขึ้นไป มีแต่ทำให้ผู้ประกันตนจนลงๆ ตลอดเวลาด้วยผลต่างของอัตราผลตอบแทนนั่นเอง
Exit Strategy คือ ทางออกที่หลายๆ ประเทศกำลังแสวงหา นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง ทำไปแล้วก็จะติดกับดักสภาพคล่อง และกับดักเคนส์ ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ควรจะแสวงหากรอบแนวคิดใหม่ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้โดยไม่ติดกับดักทั้ง 2 นี้ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก (Taiji Economics) อาจเป็นทางออกนั้นครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น