อย่ามัวแต่ “ดู-ไบ” จนเผลอไผลลืม “ดู-ญวน”
การประกาศเลื่อนการชำระหนี้ราว 5.9 หมื่นล้านเหรียญ สรอ.ไป 6 เดือนของดูไบเวิลด์ได้สร้างความสั่นสะเทือนต่อตลาดการเงิน ตลาดหุ้น และ ทองคำไปทั่วโลก แต่อันที่จริงแล้วยังมีอีกเรื่องนี้ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน และ อาจถูกมองข้าไปก็คือ การประกาศลดค่าเงินด่องลง 5.4% และมีแนวโน้มจะลดค่าเงินลงได้อีกในอนาคต รัฐดูไบนั้นประชากรราว 1.2 ล้านคน ขณะที่เวียดนามมีประชากรถึง 87 ล้านคน และ อยู่ในภูมิภาคอาเซียนเพื่อนบ้านของไทยนี่เอง
เศรษฐกิจเวียดนาม ถือได้ว่าเป็น “มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ” ของโลกประเทศหนึ่ง ที่สามารถดึงดูดการลงทุน และสร้างผลผลิตได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 20 ปี เศรษฐกิจของที่นี่เติบโตขึ้นสูงถึง 10 เท่าตัว และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่า 6% อย่างต่อเนื่องนานหลายปี แต่หากนั่นคือ ภาคที่ 1 แล้ว เรามักจะเห็นภาคที่ 2 หรือ “หายนะทางเศรษฐกิจ” ติดตามมาอยู่เสมอ ซึ่งเป็นบทเรียนฟองสบู่แตกใน “ญี่ปุ่น” “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ในประเทศไทย “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” ของอเมริกา และ ล่าสุดก็คือวิกฤติหนี้สินในดูไบ ทำไมเราจึงควรระมัดระวังอย่างยิ่งต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในเวียดนาม ซึ่งอาจเป็นลูกระเบิดเวลาลูกต่อไปที่พร้อมจะดึงเศรษฐกิจเอเชียทั้งภูมิภาคลงมาอีกครั้ง
เวียดนามกำลังเดินอยู่บนถนนที่ “ไร้ความพอเพียง” ทะเยอทะยานเป็นอย่างมาก เศรษฐกิจปีนี้คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ถึงกว่า 5% แม้ประเทศส่วนใหญ่จะเอเชียรวมทั้งไทยจะเติบโตติดลบกันเป็นแถว สภาของเวียดนามได้ผ่านอภิมหาโครงการ 2 อย่าง คือ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงระยะทาง 1550 กม.ซึ่งต้องใช้เงินทุนถึง 5.6 หมื่นล้านเหรียญ สรอ. และ โครงการโรงไฟฟ้าปรมาณู 1.8 หมื่นล้านเหรียญ สรอ. เพียงงบประมาณใน 2 เรื่องนี้ก็มีมูลค่าถึง 7.4 หมื่นล้านเหรียญ สรอ. หรือราวๆ 80% ของจีดีพีเวียดนามเข้าไปแล้ว ถ้าเปรียบเทียบขนาดกับประเทศไทย ก็เหมือนกับมีการประกาศ 2 โครงการใหญ่ ขนาดราวๆ 7 ล้านล้านบาท เมื่อดูแล้วทำให้ “ไทยเข้มแข็ง” 1.5 ล้านล้านบาท กลายเป็นของเด็กเล่นไปเลย
เวียดนามได้เดินอย่างเร็วจนมาถึงขอบหน้าผาแล้ว โดยมีอยู่หลายประการที่มีสภาพคล้ายคลึงกับประเทศไทยก่อนเกิดวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” เป็นอย่างมาก
1. ขาดดุลการค้าอย่างหนักและต่อเนื่อง : เวียดนามได้ขาดดุลการค้าอย่างหนักกว่า 10% GDP มาตั้งแต่ปี 2550 และในปีนี้ก็เข้าปีที่ 3แล้ว แม้ว่าในช่วง 4 เดือนแรก เศรษฐกิจเวียดนามจะชะลอตัวลงบ้างทำให้ได้ดุลการค้าเป็นบวกราว 800 ล้านเหรียญ แต่ในช่วงเดือนล่าสุดคือ เดือนต.ค.นั้น เพียงเดือนเดียวกลับมีการขาดดุลการค้าสูงถึง 1.9 พันล้านเหรียญ สรอ. หากแนวโน้มนี้ดำเนินต่อไป เวียดนามอาจขาดดุลการค้าได้ถึง 2 หมื่นล้านเหรียญต่อปี หรือสูงกว่า 20% ของ GDP (GDP เวียดนามตกราว 9 หมื่นล้านเหรียญสรอ.)
2. ขาดดุลการคลังอย่างหนัก : มีการทำขาดดุลการคลังอย่างหนักเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 9% GDP ทั้งๆที่เวียดนามควรดำเนินนโยบายเพื่อชะลอเศรษฐกิจมากกว่า การทำเช่นนี้จึงเกิดการขาดดุลคู่แฝด ทั้ง ดุลการคลัง และ ดุลการค้า สิ่งนี้กำลังบอกว่าเวียดนาม กำลังตกอยู่ในปัญหาของ การลงทุนเกินตัว (over investment) หรือภาวะฟองสบู่นั่นเอง
3. ปริมาณเงินและสินเชื่อเติบโตสูงมากและต่อเนื่อง : แม้เศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอตัว สินเชื่อของไทยลดลงเล็กน้อย แต่ในเวียดนามสินเชื่อกลับมีการเติบโตสูงถึง 35% ซึ่งก็ไม่แตกต่างนักการเพิ่มของปริมาณเงิน (M2) และสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันมานานหลายปีแล้ว
4. เวียดนามมีการลงทุนคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP สูงถึง 42% ซึ่งนับว่าเป็นอัตราทีสูงทีสุดในโลกประเทศหนึ่งเลยทีเดียว เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดกับไทยเช่นเดียวกันก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง
5. ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ยืดหยุ่น : เวียดนามได้ผูกค่าเงินกับดอลลาร์ โดยมีการปรับให้อ่อนค่าลงเล็กน้อยเป็นระยะ
อย่างไรก็ดี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในเวียดนามบางปีสูงกว่า 20% ขึ้นไป ค่าเงินด่องที่ควรจะอ่อนค่าในระดับเดียวกับอัตราเงินเฟ้อตามทฤษฎีนั้นกลับปรับตัวไม่ทัน ทำให้ค่าเงินของเวียดนามมีแนวโน้มจะยืนค่าสูงกว่าความเป็นจริงอยู่บ่อยๆ ซึ่งสะท้อนจากค่าเงินในตลาดมืดที่ด่องอ่อนค่ากว่าอัตราทางการ และ ทำให้เกิดภาวะความไม่เชื่อมั่นในค่าเงิน รวมไปถึงการขาดดุลการค้าจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ประชาชนได้ซื้อทองคำ และ ดอลลาร์เก็บไว้เพื่อเก็งกำไรอีกด้วย
สิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำก็คือ ส่งสัญญาณการเตือนภัยไปยังเวียดนาม ขอให้ระมัดระวังการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจด้วยความรอบคอบ และ พร้อมจะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจไปให้คำแนะนำแก่เวียดนาม เพื่อช่วยเหลือให้เศรษฐกิจของเวียดนาม และ อาเซียนเดินหน้าต่อไปได้ด้วยดีไม่สะดุดวิกฤติเศรษฐกิจใดๆ อีก โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปี 2553 ไปนั้น เวียดนามจะรับไม้ต่อจากไทย กลายเป็น “ประธานอาเซียน” โดยสลับเปลี่ยนกันเป็นประธานเรียงตามตัวอักษร หากเศรษฐกิจเวียดนามมีปัญหาหนักจะมีผลกระทบใหญ่หลวงต่ออาเซียนทั้งภูมิภาคได้
ทางออกของเวียดนามยังคงมีหรือไม่....ยังอาจพอเป็นไปได้อยู่ แต่เวียดนามต้องยอมรับก่อนว่า เศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินไปตอนนี้คือ “ปัญหา” เมื่อยอมรับปัญหานั้น ก็ต้องยอมกลืนเลือด กดเศรษฐกิจให้เย็นลงอย่างเร็ว ด้วยการหยุดกระตุ้นเศรษฐกิจทุกรูปแบบต้องลดการขาดดุลการคลังลงมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปล่อยให้ค่าเงินด่องสะท้อนความเป็นจริง ซึ่งน่าจะเป็นตามราคาตลาดมืด (อ่อนกว่าอัตราทางการอยู่ราว 10%) และ ปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ก็ต้องดูแลสินเชื่อต่างๆ ไม่ให้เติบโตมากเกินไป พยายามทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่ำระดับ 3-4% ราว 2 ปีก็น่าจะทำให้เวียดนามเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่สะดุด และ สิ่งสุดท้ายก็คือ ขอความร่วมมือจาก จีนให้มีการปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้น เพื่อช่วยเหลือการส่งออกของเวียดนาม และ ลดการนำเข้าจากจีน เพื่อช่วยดุลการค้าที่นับวันจะแย่ลงของเวียดนามให้ปรับสู่สมดุลโดยเร็ว แต่หากไม่ทำเช่นนั้นแล้ว ภายในปีหน้า 2553 ที่จะถึงนี้ เราก็อาจเห็นเวียดนาม เดินซ้ำรอย “ต้มยำกุ้ง” ของไทยไม่ยาก ฟองสบู่แตก ค่าเงินด่องอาจดิ่งเหว ซึ่งจะกระทบกับการส่งออกสินค้าเกษตร และ สิ่งทอของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังไม่นับถึงความเสียหายจากการปล่อยกู้ และ การลงทุนที่เวียดนามของไทยอีกนับแสนล้านบาท
ตอนนี้ก็ได้แต่หวังว่ายังทันเวลาที่เวียดนามจะเลือกทางออกที่สวยงาม และ รอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ไปได้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น